สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 6, 2010 15:04 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย

(ระหว่างวันที่ 10 กันยายน — 4 ตุลาคม 2553)

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย (ระหว่างวันที่ 10 กันยายน — 4 ตุลาคม 2553) ของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย (ระหว่างวันที่ 10 กันยายน — 4 ตุลาคม 2553) ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย (ระหว่างวันที่ 10 กันยายน-4 ตุลาคม 2553)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 13 จังหวัด 28 อำเภอ 130 ตำบล 504 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน สุโขทัย ลำพูน พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดราชบุรี ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 19,490 ครัวเรือน 48,575 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 28,528 ไร่

1.2 สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิจิตร สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดราชบุรี ดังนี้

1) จังหวัดพิจิตร ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมมีระดับสูงขึ้น ประกอบมีฝนตก ในพื้นที่ทำให้น้ำในแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่ง 4 อำเภอ 14 ตำบล ได้แก่ อำเภอสามง่าม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลสามง่าม กำแพงดิน รังนก และตำบลเนินปอ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลโพธิ์ประทับช้าง วังจิก ไผ่ท่าโพ และตำบลไผ่รอบ อำเภอบึงนาราง ที่ตำบลบางลาย และอำเภอโพทะเล 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลโพทะเล ท่าเสา ทะนง ท้ายน้ำ และตำบลท่าขมิ้น

2) จังหวัดสิงห์บุรี ยังคงมีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำ ในพื้นที่อำเภออินทร์บุรี 6 ตำบล 1 เทศบาล ได้แก่ ตำบลท่างาม ตำบลน้ำตาล ตำบลประศุก ตำบลทับยา ตำบลอินทร์บุรี ตำบลชีน้ำร้าย และเทศบาลตำบลอินทร์บุรี ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 434 คน 124 ครัวเรือน

3) จังหวัดอ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอป่าโมก 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลโผงเผง และตำบลบางเสด็จ เนื่องจากปริมาณน้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 1,800 ลบ.ม./วินาที

4) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำน้อย มีระดับสูงขึ้น ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มการเกษตรใน 5 อำเภอ 54 ตำบล 297 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา 4 ตำบล อำเภอบางไทร 23 ตำบล อำเภอมหาราช 12 ตำบล อำเภอผักไห่ 7 ตำบล และอำเภอบางบาล 8 ตำบล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 13,977 คน 4,494 ครัวเรือน

5) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงวันที่ 1-2 ตุลาคม 2553 ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องและ น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่เทศบาลเมืองหัวหิน ในเขตชุมชนหนองแก หมู่บ้านพงศ์นเรศร์ และโครงการบ้านจัดสรร ใกล้เคียง ซึ่งตั้งอยู่ในซอยหัวหิน 102 ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณ 100 ครัวเรือน

สถานการณ์ปัจจุบัน เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

การให้ความช่วยเหลือ

  • ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มอบหมายให้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (นายพิสิษฐ์ สุนทรีรัตน์) เหล่ากาชาดจังหวัด เทศบาลเมืองหัวหิน อำเภอหัวหิน และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธรณภัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แจกจ่ายถุงยังชีพ จำนวน 200 ชุด และอุปกรณ์แสงสว่าง จำนวน 200 ชุด
  • เทศบาลเมืองหัวหิน ได้ตั้งเต๊นท์กองอำนวยการให้ความช่วยเหลือ ณ บริเวณศูนย์ซ่อมเครื่องจักรกลเทศบาลเมืองหัวหิน จัดข้าวกล่อง น้ำดื่ม ให้กับราษฎรหมู่บ้านพงศ์นเรศร์ และโครงการหมู่บ้านจัดสรรใกล้เคียง จำนวน 200 ชุด จัดเรือยางอำนวยความสะดวก จำนวน 1 ลำ
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ จัดชุด ERT จำนวน 1 ชุด สนับสนุนถุงยังชีพ จำนวน 200 ชุด เรือท้องแบน จำนวน 2 ลำ เต๊นท์ยกพื้น จำนวน 5 หลัง รถแบ็คโฮขุดลอกสิ่งกีดขวางทางน้ำ จำนวน 1 คัน รถไฟฟ้าส่องสว่าง จำนวน 1 คัน
  • แขวงการทางประจวบคีรีขันธ์ สนับสนุนเจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำ และ รถแบ็คโฮขุดลอกสิ่งกีดขวางทางน้ำ จำนวน 1 คัน
  • มูลนิธิสว่างเมธีธรรมสถานสามร้อยยอด สนับสนุนเรือยาง จำนวน 1 ลำ เรือท้องแบน จำนวน 1 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ 10 นาย

6) จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2553 เวลาประมาณ 05.30 น. ได้เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรใน 4 อำเภอ 17 ตำบล 59 หมู่บ้าน ดังนี้

(1) อำเภอเมืองราชบุรี 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลอ่างทอง เขาแร้ง หนองกลางนา ห้วยไผ่ หินกอง และตำบลเกาะพลับพลา

(2) อำเภอสวนผึ้ง ที่ตำบลสวนผึ้ง (หมู่ที่ 3,5,6,8) มีน้ำท่วมทำให้ถนนขาดบริเวณ กม.ที่ 8 ระหว่างหมู่ที่ 5 กับหมู่ที่ 8 บ้านห้วยคลุม หน้าคันทรีฮิลล์รีสอร์ท ประชาชนไม่สามารถสัญจรไป-มาได้

(3) อำเภอปากท่อ 6 ตำบล 29 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลทุ่งหลวง อ่างหิน ห้วยยางโทน หนองกระทุ่ม บ่อกระดาน และตำบลป่าไก่

(4) อำเภอจอมบึง 4 ตำบล 26 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลรางบัว ปากช่อง แก้มอ้น และตำบลด่านทับตะโก

การให้ความช่วยเหลือ ในพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง ซึ่งถนนทางเข้าคันทรีฮิลล์รีสอร์ทขาด 2 สาย มีนักท่องเที่ยวจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 30 คน ติดค้างอยู่ในรีสอร์ท รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี(นายณรงค์ พลละเอียด) พร้อมศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดราชบุรี นายอำเภอสวนผึ้ง อบต.สวนผึ้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความช่วยเหลือ โดยสร้างสะพานไม้ชั่วคราว และเรือท้องแบน เพื่อนำผู้ติดค้างออกจากรีสอร์ท พร้อมส่งกลับภูมิลำเนาต่อไป

1.3 การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว พร้อมเร่งออกสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ต่อไป

1.4 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ

1) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง จัดส่งรถผลิตน้ำดื่ม จำนวน 1 คัน รถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 1 คัน สนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ตำบลนางแล
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย สนับสนุนรถแบ็กโฮ จำนวน 1 คัน แก่สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดเชียงรายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตำบลวาวี และรถบรรทุกน้ำ จำนวน 2 คัน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ตำบลนางแล

2) กรมชลประทาน

ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,200 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้ให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 872 เครื่อง ในพื้นที่ 59 จังหวัด

3) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก

  • จทบ.น.น. จัดกำลังพล 24 นาย รยบ. 1 คัน และเรือพระราชทาน 1 ลำ เข้าให้การช่วยเหลือในการขนย้ายสิ่งของ และรับ-ส่งประชาชน ที่หมู่บ้านแสงดาว หมู่บ้านท่าล้อ ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง และหมู่บ้านภูมินทร์-ท่าลี่ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
  • กองทัพภาคที่ 2 จัดกำลังพล และรถแบ็กโฮ จำนวน 10 คัน ให้การช่วยเหลือราษฎรสร้างแนวคันกั้นน้ำ ในพื้นที่ตำบลหนองบัวศาลา (หมู่ที่ 2,8,10) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

1.5 สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้พระราชทานถุงยังชีพ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แพร่ พะเยา น่าน สุโขทัย ชัยนาท อ่างทอง มหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ รวมจำนวน 11,350 ครอบครัว

2) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้นำชุด ธารน้ำใจพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง แพร่ นครสวรรค์ เชียงราย อุตรดิตถ์ พิจิตร นครนายก เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดนครสวรรค์ รวมจำนวน 13,532 ชุด น้ำดื่ม 24,900 ขวด และสนับสนุนเรือท้องแบน 2 ลำ รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

3) กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง แพร่ แม่ฮ่องสอน น่าน สกลนคร และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมจำนวน 5,550 ชุด

4) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากสภากาชาดไทย ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แพร่ ลำพูน อุตรดิตถ์ ปทุมธานี และจังหวัดชัยภูมิ รวมจำนวน 10,090 ถุง และอาหารกล่อง จำนวน 3,500 กล่อง

2. สถานการณ์วาตภัย (ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม 2553)

ในช่วงระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม 2553 ได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในหลายพื้นที่ทำให้ได้รับความเสียหายในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดสมุทรปราการ รวม 4 อำเภอ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (สมุทรปราการ) ได้แก่ นางจินดา สุขสิริ อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 6 ตำบลในคลองปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เนื่องจากถูกไฟฟ้าดูด บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 563 หลัง

3. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 4 — 9 ตุลาคม 2553

3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในวันที่ 4 ตุลาคม 2553 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5 — 8 ตุลาคม 2553 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้ ขอให้ประชาชนบริเวณภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากจากฝนตกหนักไว้ด้วย

3.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศ ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต ทรัพย์สิน และผลิตผลทางการเกษตรของประชาชนแล้ว และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์ เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

อนึ่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รับรายงานข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว (ระหว่างวันที่ 28 กันยายน-4 ตุลาคม 2553) จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าได้เกิดแผ่นดินไหว แต่ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2553 เวลา 18.33 น. แผ่นดินไหวบริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ขนาด 5.0 ริกเตอร์ วันที่ 30 กันยายน 2553 เวลา 00.10 น. แผ่นดินไหวบริเวณ Irian Jaya ประเทศอินโดนีเซีย ขนาด 7.2 ริกเตอร์ เวลา 16.00 น. แผ่นดินไหวในทะเลบริเวณหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ขนาด 6.0 ริกเตอร์ และเวลา 16.54 น. แผ่นดินไหวบริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ขนาด 5.3 ริกเตอร์ วันที่ 3 ตุลาคม 2553 เวลา 09.58 น. แผ่นดินไหวในทะเล บริเวณ Andaman Islands, India Region ขนาด 5.0 ริกเตอร์ และวันที่ 4 ตุลาคม 2553 เวลา 06.22 น. แผ่นดินไหวบนบก ขนาด 4.0 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 152 กิโลเมตร จากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และเวลา 08.38 น. แผ่นดินไหวในทะเล บริเวณ Philippine Islands Region ขนาด 5.7 ริกเตอร์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ