เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญเดิมกับรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตราที่ 235-238

ข่าวการเมือง Wednesday July 11, 2007 10:38 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดิม)
๒. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
- มาตรา ๒๓๕ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีจำนวนสามคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
ตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการ
บริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริต
เป็นที่ประจักษ์ ให้ผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่ง
เป็นประธานตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับ
สนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
- มาตรา ๒๓๖ การสรรหาและการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ให้นำบทบัญญัติมาตรา
๒๐๒ และมาตรา ๒๐๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลมโดยให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
- มาตรา ๒๓๗ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) พิจารณาและ
สอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี (ก) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัติ
นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(ข) การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วย
ราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน
หรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม (ค) การตรวจสอบการ
ละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรใน
กระบวนการยุติธรรม (ง) กรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ (๒) ดำเนินการ
เกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๒๗๑ (๓) จัดทำ
รายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา ทั้งนี้ ให้ประกาศรายงานดังกล่าวในราชกิจจา
นุเบกษาและเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย การใช้อำนาจหน้าที่ตาม (๑) (ก) (ข) และ (ค)
ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาดำเนินการเมื่อมีการร้องเรียนจากผู้เสียหาย เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ตรวจ
การแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อความเสียหายของประชาชนส่วนรวมหรือ
เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจพิจารณาและสอบสวนโดยไม่มีการร้องเรียนได้
- มาตรา ๒๓๘ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง
ได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังนี้ (๑) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (๒) กฎ คำสั่ง หรือการกระทำ
อื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา ๒๓๗ (๑) (ก) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอ
เรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราช
บัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
ส่วนที่ ๗ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
- มาตรา ๑๙๖ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีจำนวนไม่เกินสามคน ซึ่งพระมหากษัตริย์
ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์
ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์
สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้ตรวจการ
แผ่นดินของรัฐสภา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การสรรหา และการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินของ
รัฐสภา ให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาผู้ตรวจการแผ่นดินของ
รัฐสภามีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
- มาตรา ๑๙๗ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ ๑) พิจารณาและสอบ
สวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี (ก) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอก
เหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ
รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(ข) การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วย
ราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน
หรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม (ค) กรณีอื่นตามที่กฎหมาย
บัญญัติ (๒) จัดทำรายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา
- มาตรา ๑๙๘ ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ
หรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา ๑๙๗ (๑) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการ
แผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ ตาม
หลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครอง แล้วแต่กรณี
ให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แล้วแต่กรณี พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอตาม
วรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า
เหตุผลที่แก้ไข
แก้ไขมาตราที่ 235
กำหนดให้มีประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน
ของรัฐสภาในการดำเนินการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติหน้าที่กรณีจะต้องมีมติของคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน
ของรัฐสภาหรือกรณีใดที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะทำงานเป็นอิสระ จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
แก้ไขมาตราที่ 236
เพื่อให้การสรรหาและการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นไปโดยอิสระและเป็นกลาง
โดยใช้วิธีการเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ
แก้ไขมาตราที่ 237
เพิ่มอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอื่นตาม
รัฐธรรมนูญ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยเพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขในกรณีที่มีบุคคลได้รับผลกระทบ
จากการดำเนินการขององค์กรดังกล่าว และเพิ่มอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินการที่เกี่ยวกับจริยธรรม
ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีบทบาทครบถ้วนใน
การตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ใช้อำนาจรัฐ
แก้ไขมาตราที่ 238
ปรับปรุงถ้อยคำเพื่อให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ