(ต่อ1) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday August 28, 2007 15:40 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อได้รับแจ้งตามวรรคสองแล้ว ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดที่ตน
มีภูมิลำเนาอยู่หรือต่อศาลแพ่งสำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครก่อนวันเลือกตั้ง
ไม่น้อยกว่าห้าวัน โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา เพื่อให้ศาล
วินิจฉัยว่าจะให้เติมชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่ยื่นคำร้องหรือไม่
เมื่อศาลได้รับคำร้องตามวรรคสามแล้ว ให้ศาลดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว คำสั่ง
ของศาลให้เป็นที่สุด และให้ศาลแจ้งคำสั่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือ
ผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย เพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งโดยเร็วที่สุด และในกรณีที่มี
การประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปก่อนได้รับคำสั่งศาลให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายดำเนินการแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ
เลือกตั้งทุกฉบับให้ถูกต้องด้วย
การใดที่ได้ปฏิบัติไปตามคำสั่งเดิมของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต
เลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายก่อนได้รับคำสั่งศาลเป็นอย่างอื่นนั้น ให้เป็น
อันสมบูรณ์ตามกฎหมาย
มาตรา ๓๑ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเห็นว่า ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ประกาศ
ตามมาตรา ๒๙ มีชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ
การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายได้ก่อนวันเลือกตั้ง
ไม่น้อยกว่าสิบวัน เพื่อให้ถอนชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้งนั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการ
การเลือกตั้งมอบหมายพิจารณาแล้วเห็นว่า สมควรสั่งถอนชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้งออกจากบัญชี
รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือสมควรยกคำร้อง ก็ให้มีคำสั่งถอนชื่อผู้นั้นหรือยกคำร้อง แล้วแต่กรณี
และให้แจ้งคำสั่งให้ผู้นั้นและเจ้าบ้านทราบ และให้นำความในมาตรา ๓๐ วรรคสาม วรรคสี่ และ
วรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าเจ้าบ้านผู้ใดเห็นว่าในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งปรากฏชื่อบุคคลอื่นอยู่ใน
ทะเบียนบ้านของตนโดยที่บุคคลนั้นมิได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่าวจริง เมื่อเจ้าบ้านนำ
หลักฐานทะเบียนบ้านมาแสดงว่าไม่มีชื่อบุคคลนั้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง
หรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย หรือคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี
มีคำสั่งถอนชื่อบุคคลนั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
มาตรา ๓๒ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งบุคคลใด
บุคคลหนึ่ง และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้น เมื่อคณะกรรมการ
การเลือกตั้งได้รับแจ้งคำพิพากษาของศาลแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีบันทึกลงไว้
ในทะเบียนที่จัดทำไว้และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศการเพิกถอน
สิทธิเลือกตั้งตามคำพิพากษาของศาลปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาล หรือที่ว่าการอำเภอโดยเร็ว
ในกรณีที่ได้มีการประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการ
การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศถอนชื่อผู้ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ออกจาก
บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกฉบับให้ถูกต้องด้วย และให้นำความในมาตรา ๓๐ วรรคห้า
มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓๓ ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการหรือยินยอมให้มีการย้ายบุคคลใดเข้ามา
ในทะเบียนบ้านของตน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ
หากปรากฏว่ามีกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการย้ายบุคคล
เข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ
(๑) การย้ายบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปซึ่งไม่มีชื่อสกุลเดียวกับเจ้าบ้านเข้ามา
ในทะเบียนบ้านเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายในสองปีนับแต่วันที่ย้ายเข้ามา
ในทะเบียนบ้าน
(๒) การย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยบุคคลนั้นมิได้อยู่อาศัยจริง
(๓) การย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยมิได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้าน
ส่วนที่ ๕
ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง
๑. ผู้สมัครรับเลือกตั้ง
มาตรา ๓๔ บุคคลซึ่งจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบ
แบ่งเขตเลือกตั้งหรือจะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัคร
รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๓๕ บุคคลใดประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ให้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
ในนามของพรรคการเมืองใดได้เพียงพรรคการเมืองเดียว และจะสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
เลือกตั้งหรือแบบสัดส่วนแบบใดแบบหนึ่งได้เพียงแบบเดียว และสมัครรับเลือกตั้งได้เพียงเขต
เลือกตั้งเดียว
ในกรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการ
การเลือกตั้งพบว่ามีการสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้อำนวยการ
การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศบุคคลนั้นเป็นผู้สมัคร
ตามมาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๔๓ แล้วแต่กรณี และให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อ
ศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศการรับสมัครเลือกตั้งและให้นำความในมาตรา ๓๙
หรือมาตรา ๔๔ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่มีการตรวจพบการฝ่าฝืนตาม
วรรคหนึ่ง ภายหลังการประกาศการรับสมัครเลือกตั้ง ให้นำความในมาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๕
แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
๒. การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
มาตรา ๓๖ ในการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครของแต่ละ
พรรคการเมืองที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด ยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้ง
ประจำเขตเลือกตั้งนั้น ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนดภายใน
ระยะเวลาการรับสมัคร ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมืองทุกคน
ตามจำนวนที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น ต้องยื่นใบสมัครในคราวเดียวกัน
การยื่นใบสมัครตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้สมัครยื่นหนังสือรับรองของหัวหน้า
พรรคการเมืองว่าส่งสมาชิกผู้นั้นเข้าสมัครรับเลือกตั้ง และชำระเงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ
หนึ่งหมื่นบาท และมีหลักฐานการสมัครครบถ้วนตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
ในกรณีมีผู้สมัครของพรรคการเมืองหลายพรรคการเมืองยื่นใบสมัครพร้อมกัน
และไม่อาจตกลงกันได้ว่าจะให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองใดยื่นก่อนหลัง ให้ใช้วิธีการจับสลาก
ระหว่างผู้สมัครซึ่งเป็นผู้แทนของผู้สมัครของพรรคการเมืองที่มาพร้อมกัน เพื่อกำหนดลำดับ
การยื่นใบสมัครของผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมือง
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดรายละเอียด
เกี่ยวกับหลักฐานการสมัครและวิธีการสมัครรับเลือกตั้ง
มาตรา ๓๗ เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้รับใบสมัครของ
ผู้สมัครของพรรคการเมืองใดแล้ว ให้ลงบันทึกการรับสมัครไว้เป็นหลักฐานและออกใบรับให้แก่
ผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นเรียงตามลำดับการยื่นใบสมัครตามมาตรา ๓๖ และให้ผู้อำนวยการ
การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบหลักฐานการสมัคร คุณสมบัติของผู้สมัคร และสอบสวน
ว่าผู้สมัครมีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ให้เสร็จสิ้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันปิดการรับสมัคร
ถ้าผู้สมัครมีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งได้ก็ให้ประกาศการรับสมัครไว้โดยเปิดเผย ณ ศาลากลาง
จังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน
และที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ผู้นั้นสมัคร
ประกาศตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยให้มีชื่อ และชื่อสกุลผู้สมัคร รูปถ่ายผู้สมัคร
พรรคการเมืองที่สังกัด และหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่จะใช้ในการลงคะแนน ทั้งนี้
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
มาตรา ๓๘ เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ออกใบรับให้แก่
ผู้สมัครตามมาตรา ๓๗ แล้ว ห้ามมิให้ผู้สมัครถอนการสมัครรับเลือกตั้ง และให้ค่าธรรมเนียม
การสมัครรับเลือกตั้งตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ห้ามมิให้ผู้สมัครตามวรรคหนึ่งยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือ
เขตเลือกตั้งอื่นอีก
มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ผู้สมัครผู้ใดไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของผู้อำนวยการ
การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตามมาตรา ๓๗ ให้ผู้สมัครผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายใน
เจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล
ในการดำเนินกระบวนพิจารณา เมื่อศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเช่นใดแล้วให้ศาลแจ้งคำสั่งไปยัง
ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ในการนี้ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง
ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเร็ว ถ้าศาลมีคำสั่งให้รับสมัครให้ประกาศชื่อผู้นั้นตามมาตรา ๓๗
แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติก่อนทราบคำสั่งศาล
ในการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานศาลฎีกาโดยความ
เห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรมและให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า
สามวัน ในการนี้อาจกำหนดให้ศาลชั้นต้นในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้รับคำร้องแทนเพื่อจัดส่งให้ศาล
ฎีกาวินิจฉัย หรืออาจให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้สืบพยานหลักฐานหรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นแทนศาลฎีกา
ก็ได้
มาตรา ๔๐ ก่อนวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏหลักฐานว่าผู้สมัครผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือ
มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง
ดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยเร็ว ถ้าเห็นว่าผู้สมัครผู้นั้นขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้เพิกถอนการสมัคร
รับเลือกตั้งของผู้นั้น
ในการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานศาลฎีกาโดยความ
เห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ในการนี้อาจกำหนดให้ศาลชั้นต้นในเขต
เลือกตั้งนั้นเปน็ ผู้รับคำร้องแทนเพื่อจัดส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัยหรืออาจใหศ้ ลชั้นต้นเปน็
ผู้สืบพยานหลักฐานหรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นแทนศาลฎีกาก็ได้
เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏว่าไม่มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง
หรือมีการยื่นคำร้องแล้วแต่ศาลฎีกายังไม่มีคำวินิจฉัย ให้การพิจารณาเป็นอันยุติและให้ดำเนินการ
เลือกตั้งไปตามประกาศการรับสมัครที่มีผลอยู่ในวันเลือกตั้ง
๓. การสมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วน
มาตรา ๔๑ ในกรณีที่พรรคการเมืองใดจะเสนอบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนในเขตเลือกตั้งใด พรรคการเมืองนั้นจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อ
โดยมีหลักเกณฑ์ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(๑) พรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อบุคคลใดต้องได้รับความยินยอมเป็นหลักฐาน
โดยชัดแจ้งจากบุคคลนั้น และบุคคลดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อ
เพียงพรรคเดียว
(๒) การจัดทำบัญชีรายชื่อให้จัดเรียงลำดับรายชื่อผู้สมัครตามลำดับหมายเลข
จำนวนสิบคน
มาตรา ๔๒ การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน ให้
หัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรคการเมือง ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร
ที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นตามมาตรา ๔๑ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามวันเวลาที่กำหนด
พร้อมทั้งหนังสือยินยอมของผู้สมัคร เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละหนึ่งหมื่นบาท หลักฐาน
การพิจารณารายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๗ (๒) ของรัฐธรรมนูญ
และหลักฐานการสมัครอื่นครบถ้วนตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดรายละเอียด
เกี่ยวกับหลักฐานการสมัครและวิธีการยื่นบัญชีรายชื่อ
มาตรา ๔๓ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับบัญชีรายชื่อผู้สมัครตาม
มาตรา ๔๒ แล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบหลักฐานประกอบการสมัคร คุณสมบัติ
และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ถ้าเห็นว่าถูกต้องให้ประกาศรายชื่อพรรคการเมืองและรายชื่อ
ผู้สมัครแบบสัดส่วนของพรรคการเมืองเป็นรายเขตเลือกตั้งแบบสัดส่วนนั้นไว้โดยเปิดเผย
ณ สถานที่ตามมาตรา ๓๗ และให้นำความในมาตรา ๓๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๔๔ ในกรณีที่ผู้ใดไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของคณะกรรมการ
การเลือกตั้งตามมาตรา ๔๓ ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่
วันประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และให้นำความในมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๔๕ ก่อนวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน
ราษฎรแบบสัดส่วนผู้ใดขาดคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้งหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัคร
รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยเร็ว และให้นำความ
ในมาตรา ๔๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
๔. หมายเลขที่จะใช้ลงคะแนนเลือกตั้งแบบสัดส่วนและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
มาตรา ๔๖ ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป
ให้พรรคการเมืองที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนได้รับหมายเลขที่จะใช้
ลงคะแนนเลือกตั้งแบบสัดส่วนของพรรคการเมืองนั้นเรียงตามลำดับก่อนหลังในการยื่นบัญชี
รายชื่อ และให้มีหมายเลขเดียวกันทุกเขตเลือกตั้งแบบสัดส่วน
ในกรณีที่มีการยื่นสมัครในวันเดียวกันให้พรรคการเมืองที่ส่งบัญชีรายชื่อครบ
ทุกเขตเลือกตั้งแบบสัดส่วนยื่นบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นลำดับแรก ในกรณี
ที่มีพรรคการเมืองมายื่นสมัครพร้อมกันและไม่อาจตกลงกันได้ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างพรรค
การเมืองที่มาพร้อมกัน ทั้งนี้ ให้พรรคการเมืองหนึ่งได้รับหนึ่งหมายเลข สำหรับพรรคการเมือง
ที่ยื่นบัญชีรายชื่อไม่ครบทุกเขตเลือกตั้งแบบสัดส่วนให้ยื่นบัญชีรายชื่อต่อจากพรรคการเมือง
ที่ยื่นบัญชีรายชื่อครบทุกเขตเลือกตั้งแบบสัดส่วน ถ้ามายื่นพร้อมกันและไม่สามารถตกลงกันได้
ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างพรรคการเมืองที่มายื่นพร้อมกัน
มาตรา ๔๗ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเรียงตามลำดับก่อนหลัง
การยื่นใบสมัครตามลำดับเลขที่ใบรับใบสมัครตามมาตรา ๓๗ โดยให้ผู้สมัครพรรคเดียวกัน
ได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครเรียงตามลำดับต่อเนื่องกัน
มาตรา ๔๘ ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต
เลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้นำความในมาตรา ๔๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ส่วนที่ ๖
ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง
มาตรา ๔๙ การใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้งสำหรับการ
เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งใดให้เป็นไปตามบทบัญญัติในส่วนนี้ โดยให้
มีผลใช้บังคับในระยะเวลา ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร
ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่เก้าสิบวันก่อนวันครบอายุจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง
(๒) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากเหตุอื่นนอกจาก (๑) ให้มีผลใช้บังคับ
ตั้งแต่วันที่ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันประกาศ
ผลการเลือกตั้ง
มาตรา ๕๐ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง ให้คณะกรรมการ
การเลือกตั้งประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
(๑) จำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแต่ละคนที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบ
แบ่งเขตเลือกตั้ง
(๒) จำนวนเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบสัดส่วนใน
เขตเลือกตั้งแบบสัดส่วน ในกรณีที่ผู้สมัครแบบสัดส่วนในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด
ได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใดให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย
เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการ
เลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยหารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง
ทุกพรรค วิธีการหารือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่
กำหนดตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้รวมถึงบรรดาเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่บุคคลใด ๆ
จ่ายหรือรับว่าจะจ่ายแทนหรือนำมาให้ใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์ในการหาเสียง
เลือกตั้ง โดยความยินยอมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นด้วย ในกรณีที่นำทรัพย์สินมาให้ใช้
ให้คำนวณตามอัตราค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามปกติในท้องที่นั้น ๆ
มาตรา ๕๑ ให้ผู้สมัครแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควร และให้พรรคการเมืองแต่งตั้ง
บุคคลที่มีความรู้ทางบัญชีเพื่อเป็นสมุห์บัญชีเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง โดยให้มีหน้าที่
รับผิดชอบในการจัดทำและรับรองความถูกต้องของบัญชีรายรับและรายจ่ายของผู้สมัคร หรือ
ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งนั้น
การจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๕๒ ภายในกำหนดเก้าสิบวันหลังจากวันเลือกตั้ง ผู้สมัครแต่ละคนและ
พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบสัดส่วนต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้น
โดยผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี ได้รับรองความถูกต้อง บัญชีรายรับและ
รายจ่าย อย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้วและที่ยังค้างชำระ รวมทั้ง
หลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่าย
ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ประกาศผลการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายนั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
ในกรณีที่มีการคัดค้านการเลือกตั้งว่าผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดใช้จ่าย
เกี่ยวกับการเลือกตั้งเกินจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ให้เก็บรักษา
รายการค่าใช้จ่ายและหลักฐานดังกล่าวไว้จนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้พิจารณาเสร็จสิ้น
มาตรา ๕๓ ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจ
ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด
หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือ
ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
(๒) ให้ เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะ
โดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบัน
อื่นใด
(๓) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ
(๔) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
(๕) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจ
ให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
การโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งเพื่อประกาศนโยบายของพรรคการเมืองหรือ
การดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยวิธีการ
จ่ายเงินจากงบประมาณของแผ่นดิน มิให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดตาม (๑) หรือ (๒)
แต่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่โฆษณาหาเสียงนั้นต้องแสดงให้เห็นที่มาของงบประมาณ
ที่จะใช้ดำเนินการตามนโยบายหรือการดำเนินการนั้นในการโฆษณาหาเสียงด้วย
ความผิดตาม (๑) หรือ (๒) ให้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมาย
ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจ
ส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้
มาตรา ๕๔ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการโฆษณาหาเสียงของพรรค
การเมืองใดไม่เป็นไปตามมาตรา ๕๓ วรรคสอง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการสอบสวน
และวินิจฉัยโดยพลัน
ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่า ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งไม่เป็นไปตามมาตรา ๕๓ วรรคสอง ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
นั้นยุติการโฆษณาหาเสียงในลักษณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้วินิจฉัย
ในกรณีที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองตามวรรคสองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย
ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา และให้ศาลฎีกาดำเนินการพิจารณา
โดยเร็ว
มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดเรียกหรือรับทรัพย์สินหรือ
ผลประโยชน์อื่นใด เพื่อกระทำหรืองดเว้นการกระทำในกิจกรรมพึงงดเว้นกระทำหรือพึงกระทำ
ในฐานะของผู้สมัครอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง
และทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
มาตรา ๕๖ ห้ามมิให้ผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้ง
เพื่อการเลือกตั้งหรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้ง หรือ
กลับจากที่เลือกตั้งโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ เพื่อจูงใจ
หรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
ที่เลือกตั้งตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงที่เลือกตั้งซึ่งจัดไว้สำหรับ
การลงคะแนนตามมาตรา ๙๔ มาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๖ ด้วย
บทบัญญัติในมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับแก่การที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะ
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
มาตรา ๕๗ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียง
เลือกตั้งหรือกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์แห่งการเลือกตั้งโดยประการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่
ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ทั้งนี้ เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการช่วยราชการหรือเป็นการประกอบ
อาชีพตามปกติโดยสุจริตของผู้นั้น
มาตรา ๕๘ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
กระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง
การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามวรรคหนึ่งมิให้หมายความ
รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หรือการ
แนะนำหรือช่วยเหลือในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
โดยมิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่แม้ว่าการกระทำจะเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครหรือ
พรรคการเมืองใด
ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้
คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติหรือระงับการกระทำใดที่เห็นว่า
อาจเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ในการนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งให้
ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มี
พฤติการณ์อันอาจเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดพ้นจากหน้าที่เป็นการชั่วคราว
หรือสั่งให้ประจำกระทรวง ทบวง กรม ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าทำการอำเภอ ในเขตเลือกตั้ง
หรือนอกเขตเลือกตั้ง หรือห้ามเข้าเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งได้
มาตรา ๕๙ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใด ๆ หรือ
กระทำการโดยวิธีอื่นใดไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดนับตั้งแต่
เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
มาตรา ๖๐ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวิธีการในการให้รัฐสนับสนุน
การเลือกตั้งในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การกำหนดให้มีการจัดสถานที่ปิดประกาศและที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการ
เลือกตั้งในบริเวณสาธารณสถานซึ่งเป็นของรัฐให้พอเพียงและเท่าเทียมกัน ในการโฆษณาหาเสียง
เลือกตั้งของผู้สมัครทุกคน และพรรคการเมืองทุกพรรค
(๒) การพิมพ์และจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งและผู้สมัครไปให้ ผู้มีสิทธิ
ออกเสียงเลือกตั้ง
(๓) การกำหนดให้มีสถานที่สำหรับให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองใช้ในการ
โฆษณาหาเสียงได้อย่างเท่าเทียมกัน ในการนี้รัฐอาจจัดให้มีการแสดงหรือการดำเนินการอื่นใด
เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาฟังการโฆษณาหาเสียงด้วยก็ได้ แต่ต้องมิใช่เป็นการจัดให้มีเพื่อการ
สนับสนุนผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ
(๔) การกำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาให้พรรคการเมืองโฆษณาหาเสียง
เลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หรือการไปออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงและ
วิทยุโทรทัศน์ของรัฐซึ่งจะต้องจัดให้ทุกพรรคการเมืองมีโอกาสเท่าเทียมกัน
(๕) การสนับสนุนของรัฐในกิจการอื่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
มาตรา ๖๑ ห้ามมิให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด นอกจากรัฐจัดที่ปิดประกาศ
และที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสาธารณสถานซึ่งเป็นของรัฐ จัดสรรเวลาออกอากาศ
ทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้แก่พรรคการเมือง หรือกระทำกิจการอื่น ที่คณะกรรมการ
การเลือกตั้งกำหนดให้รัฐสนับสนุน
ส่วนที่ ๗
การลงคะแนนเลือกตั้ง
มาตรา ๖๒ หีบบัตรเลือกตั้งต้องมีลักษณะที่สามารถมองเห็นภายในได้ง่าย และ
มีวิธีการปิดผนึกเพื่อป้องกันการเปิดหีบบัตรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการนำบัตรใส่ในหีบบัตร
หลังจากปิดการลงคะแนนแล้วได้ รวมทั้งต้องมีลักษณะพิเศษเพื่อป้องกันการเปลี่ยนหีบบัตรด้วย
บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจะต้องมีหมายเลข
ไม่น้อยกว่าจำนวนผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น และมีช่องทำเครื่องหมายว่าไม่ประสงค์จะลงคะแนนด้วย
บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนจะต้องมีหมายเลขของ
พรรคการเมืองและชื่อพรรคการเมืองครบทุกพรรคที่ส่งสมัครเลือกตั้งแบบสัดส่วนในเขตเลือกตั้ง
นั้น และมีช่องทำเครื่องหมายว่าไม่ประสงค์จะลงคะแนนด้วย ทั้งนี้ อาจจัดให้มีภาพเครื่องหมาย
พรรคการเมืองไว้ด้วยก็ได้
บัตรเลือกตั้งสำหรับการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต
เลือกตั้งและบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน ต้องมีลักษณะแตกต่างที่สามารถ
จำแนกออกจากกันได้อย่างชัดเจน
หีบบัตรเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้งให้เป็นไปตามลักษณะและขนาดที่คณะกรรมการ
การเลือกตั้งกำหนด
มาตรา ๖๓ ในวันเลือกตั้งให้เปิดการลงคะแนนตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา
ถึงเวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา
มาตรา ๖๔ ก่อนเริ่มเปิดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำ
หน่วยเลือกตั้งนับจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยเลือกตั้งนั้น และปิดประกาศจำนวน
บัตรเลือกตั้งที่มีอยู่ทั้งหมดในที่เลือกตั้งนั้นไว้ในที่เปิดเผย และเมื่อถึงเวลาเปิดการลงคะแนน
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ