กรุงเทพ--3 มิ.ย.--ศูนย์ข่าว ส.ส.ร.
นายธงชาติ รัตนวิชา โฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าในการประชุมวันนี้ (3 มิ.ย. 2540) ว่า คณะกรรมาธิการได้ร่วมกันพิจารณาในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นก้ำกึ่งกันระหว่างผู้สมัคร ส.ส. ควรสังกัดพรรคการเมืองกับควรเปิดโอกาสให้ผู้สมัคร ส.ส.เป็นอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่ต้องการให้มีการพัฒนาพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง รวมทั้งในบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเปิดกว้าง ให้มีการรวมตัวกันทางการเมืองได้โดยง่าย จึงมีแนวโน้มที่จะกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ประเด็นดังกล่าวยังไม่ถือเป็นข้อยุติ โดยจะต้องรอผลการทำประชาพิจารณ์ก่อนรวมถึงผลการสัมมนาของคณะกรรมาธิการกิจการสภา ซึ่งจะมีการเชิญ ส.ส. และ ส.ว.เข้าร่วมสัมมนาด้วย
ส่วนประเด็นที่มา ส.ส. นั้นที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าควรมี ส.ส. 2 แบบ คือ ส.ส.แบบเขตเดียวเบอร์เดียวกับ ส.ส.แบบสัดส่วนรายชื่อพรรคการเมือง (Party List) ซึ่งในส่วนของ ส.ส. แบบสัดส่วนมีแนวโน้มจะลดลงเหลือเพียง 100 คน ขณะที่มีการเสนอจำนวน ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียวหลากหลาย ซึ่งมีทั้ง 400, 350, 393 หรือ 399 คน เพื่อหลีกเลี่ยงตัวเลข ส.ส. 500 คน เพราะบางคนเห็นเป็นตัวเลขที่ไม่เป็นมงคล แต่ประเด็นดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือถึงการกำหนดคุณวุฒิของส.ส.และรัฐมนตรี ซึ่งจากเดิมร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ เพราะเห็นว่าน่าจะมีคุณวุฒิเดียวกัน และจากการทำประชาพิจารณ์ปรากฎว่าน่าจะกำหนดคุณวุฒิไว้ ซึ่งจากการพิจารณาเห็นว่าตามหลักการไม่ควรกำหนดคุณวุฒิของ ส.ส. เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ประชาชนที่จะมีสิทธิ์เลือกตัวแทนของตนเอง แต่ในส่วนคุณวุฒิของรัฐมนตรี ประชาชนเห็นว่าหากไม่กำหนดคุณวุฒิของ ส.ส. ก็ควรกำหนดคุณวุฒิของรัฐมนตรีไว้ที่ระดับปริญญาตรี แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ
ด้านนางยุพา อุดมศักดิ์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานกลุ่มย่อย เพื่อรวบรวมคำแปรญัตติหมวดรัฐสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างกว้างขวาง โดยที่ประชุมเห็นว่าจำนวน ส.ส.ที่มาจากบัญชีรายชื่อพรรคหรือระบบปาร์ตี้ลิสต์ควรลดเหลือประมาณ 10 คนหรือ 50 คนจากเดิมที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 150 คน--จบ--
นายธงชาติ รัตนวิชา โฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าในการประชุมวันนี้ (3 มิ.ย. 2540) ว่า คณะกรรมาธิการได้ร่วมกันพิจารณาในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นก้ำกึ่งกันระหว่างผู้สมัคร ส.ส. ควรสังกัดพรรคการเมืองกับควรเปิดโอกาสให้ผู้สมัคร ส.ส.เป็นอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่ต้องการให้มีการพัฒนาพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง รวมทั้งในบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเปิดกว้าง ให้มีการรวมตัวกันทางการเมืองได้โดยง่าย จึงมีแนวโน้มที่จะกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ประเด็นดังกล่าวยังไม่ถือเป็นข้อยุติ โดยจะต้องรอผลการทำประชาพิจารณ์ก่อนรวมถึงผลการสัมมนาของคณะกรรมาธิการกิจการสภา ซึ่งจะมีการเชิญ ส.ส. และ ส.ว.เข้าร่วมสัมมนาด้วย
ส่วนประเด็นที่มา ส.ส. นั้นที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าควรมี ส.ส. 2 แบบ คือ ส.ส.แบบเขตเดียวเบอร์เดียวกับ ส.ส.แบบสัดส่วนรายชื่อพรรคการเมือง (Party List) ซึ่งในส่วนของ ส.ส. แบบสัดส่วนมีแนวโน้มจะลดลงเหลือเพียง 100 คน ขณะที่มีการเสนอจำนวน ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียวหลากหลาย ซึ่งมีทั้ง 400, 350, 393 หรือ 399 คน เพื่อหลีกเลี่ยงตัวเลข ส.ส. 500 คน เพราะบางคนเห็นเป็นตัวเลขที่ไม่เป็นมงคล แต่ประเด็นดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือถึงการกำหนดคุณวุฒิของส.ส.และรัฐมนตรี ซึ่งจากเดิมร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ เพราะเห็นว่าน่าจะมีคุณวุฒิเดียวกัน และจากการทำประชาพิจารณ์ปรากฎว่าน่าจะกำหนดคุณวุฒิไว้ ซึ่งจากการพิจารณาเห็นว่าตามหลักการไม่ควรกำหนดคุณวุฒิของ ส.ส. เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ประชาชนที่จะมีสิทธิ์เลือกตัวแทนของตนเอง แต่ในส่วนคุณวุฒิของรัฐมนตรี ประชาชนเห็นว่าหากไม่กำหนดคุณวุฒิของ ส.ส. ก็ควรกำหนดคุณวุฒิของรัฐมนตรีไว้ที่ระดับปริญญาตรี แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ
ด้านนางยุพา อุดมศักดิ์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานกลุ่มย่อย เพื่อรวบรวมคำแปรญัตติหมวดรัฐสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างกว้างขวาง โดยที่ประชุมเห็นว่าจำนวน ส.ส.ที่มาจากบัญชีรายชื่อพรรคหรือระบบปาร์ตี้ลิสต์ควรลดเหลือประมาณ 10 คนหรือ 50 คนจากเดิมที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 150 คน--จบ--