หมวด ๖
ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน
มาตรา ๒๐๖ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง จะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น มิได้ มาตรา ๒๐๗ การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนต้องใช้ระบบคุณธรรม ให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม ประกอบด้วย กรรมการจำนวน เจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตและ เป็นกลางทางการเมือง ดังต่อไปนี้ (๑) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับเลือกจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จำนวนสองคน (๒) ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง และ ได้พ้นจากราชการแล้ว จำนวนสามคน ซึ่งได้รับเลือกโดยผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ (๓) ประธานกรรมการจริยธรรมของทุกกระทรวงซึ่งเลือกกันเอง จำนวนสองคน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ให้วุฒิสภาพิจารณาประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลตามวรรคสอง ในกรณีที่วุฒิสภาเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการตามวรรคสอง ให้ประธานวุฒิสภา ส่งรายชื่อนั้นกลับไปให้ดำเนินการเลือกใหม่ ให้กรรมการตามวรรคสามประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตามวรรคสองและวรรคสาม ประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรานี้มีวาระการดำรงตำแหน่งสองปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว คณะกรรมการตามวรรคสองมีอำนาจหน้าที่พิจารณาการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการโดยเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง และให้มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา ๒๐๘ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายและนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล อำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องวางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้มีการประเมินความพึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา ๒๐๙ การสั่งการในการบริหารราชการแผ่นดินให้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนอาจสั่งการด้วยวาจาได้ แต่ให้ผู้รับคำสั่งบันทึกคำสั่งดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรและเสนอให้ผู้สั่งลงนามในภายหลัง ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใดดำเนินการไปโดยปราศจากการสั่งการดังกล่าวข้างต้น ย่อมต้องรับผิดตามกฎหมายด้วยตนเอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่ดำเนินการใดซึ่งเป็นการสั่งการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ย่อมได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา ๒๑๐ พลเมืองย่อมมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินดังต่อไปนี้ (๑) ให้ข้อมูลและความคิดเห็นในการบริหารราชการต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ (๒) มีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินตามที่กฎหมายบัญญัติ (๓) ตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๐๘ ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่พบว่ามีการละเลยหรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา ๒๐๘ ย่อมมีสิทธิขอให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้บังคับบัญชาของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ชี้แจง แสดงเหตุผล และขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีต่อศาล ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย