หมวด ๗
การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น
มาตรา ๒๑๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๑ รัฐต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรบริหารท้องถิ่นตาม หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นโดยให้มีรูปแบบองค์กรบริหารท้องถิ่น ที่หลากหลาย เหมาะสมกับการบริหารจัดการตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ รวมทั้งต้องกระจายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ และต้องส่งเสริมให้องค์กรบริหารท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ ตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ การจัดทำบริการสาธารณะใดที่ชุมชนหรือบุคคลสามารถดำเนินการได้โดยมีมาตรฐาน คุณภาพ และประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าองค์กรบริหารท้องถิ่น รัฐหรือองค์กรบริหารท้องถิ่น ต้องกระจายภารกิจดังกล่าวให้ชุมชนหรือบุคคลดังกล่าว ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา ๒๑๒ องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องมีคณะผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในกรณีที่เป็นองค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะมาจากความเห็นชอบของประชาชนโดยวิธีอื่นก็ได้ และคณะผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ องค์กรบริหารท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะและสร้างความมั่นคง และเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ย่อมมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ โดยอย่างน้อยต้องมีอำนาจหน้าที่ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐาน การศึกษาอบรม และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องบริหารงานให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล และการคลัง โดยต้องคำนึงถึง ดุลยภาพระหว่างความเป็นอิสระและการมีมาตรฐาน รวมทั้งความสอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัด ภาค และประเทศเป็นส่วนรวม องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องมีขนาดและศักยภาพที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อตอบสนอง ต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยสามารถจัดทำบริการสาธารณะได้ในรูปแบบที่หลากหลาย สามารถสร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และองค์การเอกชน ได้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เป็นประโยชน์ และให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รัฐ ราชการส่วนภูมิภาค และองค์กรบริหารท้องถิ่น ต้องร่วมมือกันดำเนินการตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรให้พัฒนาพื้นที่ร่วมกันและในภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา ๒๑๓ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามหมวดนี้ ให้มีกฎหมายท้องถิ่น โดยต้องให้มีการกระจายอำนาจที่เพิ่มขึ้น มีหน่วยงานรับผิดชอบการกระจายอำนาจที่เป็นเอกภาพและสามารถดำเนินการให้การกระจายอำนาจเป็นผลสำเร็จ มีการจัดสรรภาษีและรายได้ระหว่างรัฐกับองค์กรบริหารท้องถิ่นที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรบริหารท้องถิ่นแต่ละประเภท และมีระบบตรวจสอบและประเมินผลการกระจายอำนาจ มาตรา ๒๑๔ การกำกับดูแลองค์กรบริหารท้องถิ่นต้องกระทำตามกฎหมาย เท่าที่จำเป็น และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม และเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนจากการใช้อำนาจขององค์กรบริหารท้องถิ่น เหมาะสมกับรูปแบบขององค์กรบริหารท้องถิ่น และจะกระทบกับหลักความเป็นอิสระขององค์กรบริหารท้องถิ่นมิได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ในการกำกับดูแลตามวรรคหนึ่ง รัฐอาจดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดมาตรฐานกลางให้องค์กรบริหารท้องถิ่นปฏิบัติและติดตามตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น (๒) ทำสัญญาแผนระหว่างรัฐ ราชการส่วนภูมิภาค และองค์กรบริหารท้องถิ่น (๓) ส่งเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎ คำสั่ง มติ หรือการกระทำใด ของผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย (๔) การอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา ๒๑๕ ประชาชนหรือชุมชนย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กรบริหารท้องถิ่น ในการกำหนดรูปแบบขององค์กรบริหารท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองท้องถิ่น การบริหารงานท้องถิ่น การออกเสียงประชามติระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการดำเนินงาน การถอดถอน คณะผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ องค์กรบริหารท้องถิ่นมีหน้าที่ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยอย่างน้อยต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายงานผลการดำเนินงาน และรายงานงบการเงินและสถานการณ์การคลังท้องถิ่นให้ประชาชนทราบ ส่งเสริมสมัชชาพลเมือง รวมทั้งต้องจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อ ประชาชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรานี้ พลเมืองอาจรวมกันเป็นสมัชชาพลเมืองซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากองค์ประกอบที่หลากหลายจากพลเมืองในท้องถิ่น และมีความเหมาะสมกับภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ มีภารกิจในการร่วมกับองค์กรบริหารท้องถิ่นในการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ที่มา วาระการดำรงตำแหน่ง ภารกิจของสมัชชาพลเมือง และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา ๒๑๖ การบริหารงานบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่นต้องเป็นไปตามความเหมาะสม และความจำเป็นขององค์กรบริหารท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ โดยต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) ให้บุคลากรขององค์กรบริหารท้องถิ่นมีสถานะเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นหรือลูกจ้างส่วนท้องถิ่น และสามารถย้ายหรือสับเปลี่ยนสังกัดระหว่างองค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบต่างกันได้ (๒) ให้มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่นทุกรูปแบบ ในระดับชาติและระดับจังหวัด ร่วมกันเป็นองค์กรเดียว โดยมีองค์ประกอบสี่ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์การบริหารท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนองค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอาจมีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลเป็นการเฉพาะได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ (๓) ให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นโดยระบบคุณธรรมในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ