ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ภาค ๓ หมวด ๒

ข่าวทั่วไป Wednesday April 29, 2015 14:55 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

หมวด ๒
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป

มาตรา ๒๔๖ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย สุจริต และปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ รวมทั้งต้องกระทำโดยกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้

การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา ๒๔๗ ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน สำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของตน พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือองค์กรตรวจสอบอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

(๑) นายกรัฐมนตรี

(๒) รัฐมนตรี

(๓) กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

(๔) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(๕) สมาชิกวุฒิสภา

(๖) ข้าราชการการเมืองอื่นและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น

(๗) ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

(๘) เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

เอกสารที่ต้องยื่นตามวรรคหนึ่ง ต้องประกอบด้วยบัญชีที่แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน สำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องของคู่สมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งผู้ซึ่งบุคคลตามวรรคหนึ่งได้มอบหมายให้ครอบครองหรือดูแลทรัพย์สินของตน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี กรรมการ ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว บัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นจะเปิดเผยได้ต่อเมื่อการเปิดเผยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาพิพากษาคดีหรือการวินิจฉัยชี้ขาด และได้รับการร้องขอจากศาล ผู้มีส่วนได้เสีย หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ

ส่วนที่ ๒
การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
          มาตรา ๒๔๘  ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่กระทำการที่เป็นการขัดกัน แห่งผลประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม โดยอย่างน้อยต้องไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้
          (๑) ไม่กำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายหรือกฎซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อกิจการที่ตน คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา มีส่วนได้เสียอยู่
          (๒) ไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อบุคคลอื่น มาประกอบการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้น
          (๓) ไม่ใช้เวลาราชการหรือของหน่วยงาน เงิน ทรัพย์สิน บุคลากร บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือข้อมูลภายในของทางราชการหรือหน่วยงาน ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนหรือผู้อื่น  เว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎ
          (๔) ไม่กระทำการใด ดำรงตำแหน่งใด หรือปฏิบัติการใด ในฐานะส่วนตัว ที่ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงว่าจะขัดกับประโยชน์ส่วนรวมที่อยู่ในความรับผิดชอบตามหน้าที่ หรือเป็นที่เสื่อมเสียแก่ตำแหน่งหน้าที่
          มาตรา ๒๔๙  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้อง
          (๑) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้ มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
          (๒) ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่ง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น
          (๓) ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ  หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะ เป็นการผูกขาด หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญา ในลักษณะดังกล่าว  ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
          (๔) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยงานดังกล่าวปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานตามปกติ
          (๕) ไม่กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๔๘ วรรคหก บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีรับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ  เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน  และมิให้ใช้บังคับในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีรับหรือดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา หรือกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
          ให้นำความใน (๓) (๔) และ (๕) มาใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี และบุคคลอื่นซึ่งดำเนินการในลักษณะผู้ถูกใช้ ผู้ร่วมดำเนินการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีให้กระทำการตามมาตรานี้ด้วย
          มาตรา ๒๕๐  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป  ทั้งนี้ ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ  ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสามสิบวันนับแต่ วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามวรรคหนึ่ง มิได้
          บทบัญญัติมาตรานี้ให้นำมาใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมทั้งผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นแทนตน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ด้วย
          มาตรา ๒๕๑  นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งทางการเมืองเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้
          (๑) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ (๒) การบรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ (๓) การให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากตำแหน่ง (๔) การแต่งตั้งและการให้กรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ  พ้นจากตำแหน่ง
          ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลง ต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ  และต้องป้องกันหรือกำกับดูแลไม่ให้คู่สมรสและบุตรของตน รวมทั้งบุคคลใดในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ กระทำการดังกล่าวด้วย
          มาตรา ๒๕๒  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่กระทำการตามมาตรา ๒๔๙ (๒) (๓) (๔) และ (๕) วรรคสอง วรรคสาม และมาตรา ๒๕๑
          บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้รับแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา หรือกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในราชการของฝ่ายนิติบัญญัติ

ส่วนที่ ๓
การถอดถอนจากตำแหน่งและการตัดสิทธิทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่น

มาตรา ๒๕๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๗๔ วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิด ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รัฐสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้

บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ด้วย คือ (๑) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

(๒) ผู้พิพากษา ตุลาการ ข้าราชการอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

มาตรา ๒๕๔ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา ๒๕๓ ออกจากตำแหน่งได้ คำร้องขอดังกล่าวต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวกระทำความผิดเป็นข้อ ๆ ให้ชัดเจน

สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ถอดถอนสมาชิกวุฒิสภาออกจากตำแหน่งได้

พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา ๒๕๓ ออกจากตำแหน่งได้ตามมาตรา ๗๒

เมื่อได้รับคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้ว ให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

เมื่อไต่สวนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทำรายงานเสนอต่อประธานรัฐสภา โดยในรายงานดังกล่าวต้องระบุให้ชัดเจนว่าข้อกล่าวหาตามคำร้องขอข้อใดมีมูลหรือไม่ เพียงใด มีพยานหลักฐานที่ควรเชื่อได้อย่างไร

ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล ให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาข้อนั้นเป็นอันตกไป

เมื่อได้รับรายงานตามวรรคห้าแล้ว ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าวโดยเร็ว ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งรายงานให้นอกสมัยประชุม ให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

สมาชิกรัฐสภามีอิสระในการออกเสียงลงคะแนนซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ มติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่ง ให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา และให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียง คะแนนเสียง และผลของการลงคะแนนเสียงตาม มาตรา ๗๔ วรรคห้าและวรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๕๕ การร้องขอ การพิจารณาและไต่สวนคำร้องขอ ผลของคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าคำร้องขอมีมูล รวมทั้งผลของการออกเสียงลงคะแนนและการมีมติของรัฐสภา ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

(๑) ระยะเวลาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและรัฐสภาต้องใช้ในการพิจารณาและมีมติ

(๒) การให้บุคคลตามมาตรา ๒๕๓ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ไปจนถึงเวลาที่รัฐสภามีมติ

(๓) การให้มีคณะกรรมการสามฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายอื่น ซึ่งมีจำนวนฝ่ายละเท่ากัน เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

การจัดทำและการส่งชื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา ๒๕๓ และมาตรา ๗๔ วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงลงคะแนน รวมทั้งการประสานงานระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และหน่วยงานในการจัดให้มีการลงคะแนน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ส่วนที่ ๔
การดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
          มาตรา ๒๕๖  ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
          บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง
          มาตรา ๒๕๗  ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่รับดำเนินการไต่สวน ดำเนินการดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือดำเนินการไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าว อาจยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกาเพื่อขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระจาก ผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ขึ้นคนหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ไต่สวน หาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของบุคคลดังกล่าว
          ในกรณีที่ผู้ไต่สวนอิสระดำเนินการแล้วเห็นว่าเรื่องที่ไต่สวนนั้นมีมูล ให้ผู้ไต่สวนอิสระส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๒๕๓ และยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
          คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ  รวมทั้งการยื่นคำร้อง การดำเนินการไต่สวน การยื่นฟ้องคดีต่อศาล และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง  ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
          มาตรา ๒๕๘  ในการพิจารณาคดี ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยึดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือของผู้ไต่สวนอิสระ แล้วแต่กรณี เป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

ส่วนที่ ๕
องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ตอนที่ ๑
คณะกรรมการการเลือกตั้ง
          มาตรา ๒๕๙  คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วย กรรมการห้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
          ให้ผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาตามวรรคหนึ่ง ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ
          ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ การเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
          ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น โดยมีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๖๐  การสรรหากรรมการการเลือกตั้ง ให้ดำเนินการดังนี้ (๑) ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งจำนวนสองคน (๒) ให้คณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง สรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งจำนวนสามคน หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
          มติในการสรรหาตาม (๒) ต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
          มาตรา ๒๖๑  คณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๒๖๐ (๒) ประกอบด้วยกรรมการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้
          (๑) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คน ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสองคน และเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดสองคน
          (๒) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคน ซึ่งเลือกโดยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาลหนึ่งคน  และเลือกโดยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายค้านสองคน
          (๓) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่งคน ซึ่งเลือกโดยคณะรัฐมนตรี
          (๔) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งเลือกโดยอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษา
          (๕) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งเลือกโดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ  หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
          กรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่ง จะเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง มิได้ ในกรณีที่ไม่อาจสรรหากรรมการสรรหาให้ครบตามวรรคหนึ่งได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด  หากกรรมการสรรหาที่สรรหามาได้นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมีกรรมการที่มาจากประเภทต่างๆ ไม่น้อยกว่าสี่ประเภท ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
          มาตรา ๒๖๒  ให้ดำเนินการสรรหาผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๒๖๐ ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องมีการสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว  แล้วให้เสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกนั้นพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานวุฒิสภา
          ในกรณีที่ไม่มีกรรมการในตำแหน่งใด หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  ถ้ากรรมการที่เหลืออยู่นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่
          ในกรณีที่มีเหตุที่ทำให้ไม่อาจดำเนินการสรรหาได้ภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่อาจสรรหาได้ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนด ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาแทนจนครบจำนวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ ครบกำหนดดังกล่าว
          ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาตามมาตรา ๒๖๐  ซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ
          ในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสองและวรรคสาม  แต่ถ้าวุฒิสภา ไม่เห็นชอบในชื่อใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ส่งชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งหรือ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แล้วแต่กรณี เพื่อให้ดำเนินการสรรหาใหม่
          มาตรา ๒๖๓  กรรมการการเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
          กรรมการการเลือกตั้งซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการการเลือกตั้งซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่
          คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระของกรรมการการเลือกตั้ง และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง  โดยอย่างน้อยต้องกำหนดให้ สรรหาจากผู้ซึ่งไม่เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ และมีข้อห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาแล้ว เข้ารับการสรรหา
          มาตรา ๒๖๔  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาว่ากรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๕๐  และให้ประธานรัฐสภาส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง เพื่อให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
          เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยไปยังประธานรัฐสภาและประธานกรรมการการเลือกตั้ง
          ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐๑ มาใช้บังคับกับการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการการเลือกตั้งด้วยโดยอนุโลม
          มาตรา ๒๖๕  ในกรณีที่กรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งตามวาระพร้อมกันทั้งคณะ ให้ดำเนินการสรรหาตามมาตรา ๒๖๐ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
          ในกรณีที่กรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาตามมาตรา ๒๖๐ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว  และให้ผู้ได้รับความเห็นชอบ อยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
          มาตรา ๒๖๖  คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และควบคุมการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
          ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง
          มาตรา ๒๖๗  คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) ออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายตามมาตรา ๒๖๖ วรรคสอง รวมทั้งวางระเบียบเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งและการดำเนินการใด ๆ ของพรรคการเมือง  กลุ่มการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  และกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการของรัฐในการสนับสนุนให้การเลือกตั้งมีความเสมอภาค และมีโอกาสทัดเทียมกันในการหาเสียงเลือกตั้ง
          (๒) วางระเบียบเกี่ยวกับข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ซึ่งร่วมกันปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๘๔ โดยคำนึงถึงการรักษาประโยชน์ของรัฐ และคำนึงถึงความสุจริต เที่ยงธรรม ความเสมอภาค และโอกาสทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
          (๓) กำหนดมาตรการและการควบคุมการบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง การสนับสนุนทางการเงินโดยรัฐ การใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง  รวมทั้งการตรวจสอบบัญชีทางการเงินของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองโดยเปิดเผย และการควบคุมการจ่ายเงินหรือรับเงินเพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนเลือกตั้ง
          (๔) มีคำสั่งให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
          (๕) มีคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือกฎที่เกี่ยวข้องหรือระงับการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งย้ายข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกจากพื้นที่ชั่วคราว เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
          (๖) ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามมาตรา ๒๖๖  หรือเมื่อมีกรณีที่มีการคัดค้านหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งหรือการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          (๗) สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง หรือสั่งให้ดำเนินการใหม่เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น หรือการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภานั้น มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
          (๘) ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น  ผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และผลการออกเสียงประชามติ
          (๙) ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี เพื่อขอให้มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กระทำการ ใช้ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือกฎหมายอื่น ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
          (๑๐) ควบคุมการจัดการออกเสียงประชามติ หรือสั่งให้มีการจัดการออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือทุกหน่วย เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการออกเสียงประชามติในหน่วยนั้น ๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
          (๑๑) ส่งเสริมและสนับสนุนหรือประสานงานกับหน่วยงานของรัฐหรือสนับสนุนองค์การเอกชน ในการให้การพลเมืองศึกษา และการศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง
          (๑๒) ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ  ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นประจำทุกปี โดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ และประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบ เป็นการทั่วไป  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๖๘  ให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ประกอบด้วย  ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งจากข้าราชการ ในแต่ละหน่วยงาน หน่วยงานละหนึ่งคน ทำหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นและดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ
          คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง  โดยในเรื่องของอำนาจหน้าที่นั้น อย่างน้อยต้องประกอบด้วยอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับพื้นที่ ซึ่งต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิได้เป็นบุคลากรในภาครัฐรวมอยู่ด้วย
          ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินการจัดการเลือกตั้งหรือดำเนินการเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติโดยไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจจัดให้มีการสอบสวนทางวินัยผู้นั้น  ถ้าผลการสอบสวนปรากฏว่ามีมูลความผิดทางวินัย และคณะกรรมการ การเลือกตั้งได้พิจารณาแล้วมีมติว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดทางวินัย ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งส่งรายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิด ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีก  ในการพิจารณาโทษ ทางวินัย ให้ถือว่ารายงาน เอกสาร และความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานหรือองค์กรที่ผู้นั้นสังกัด แล้วแต่กรณี  ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
          มาตรา ๒๖๙  ในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ประกาศให้มีการเลือกหรือการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา หรือประกาศให้มีการออกเสียงประชามติ มีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวกรรมการการเลือกตั้งไปทำการสอบสวน  เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด
          ในกรณีที่มีการจับกรรมการการเลือกตั้งในขณะกระทำความผิด หรือจับ หรือคุมขังกรรมการ การเลือกตั้งในกรณีอื่น ให้รายงานไปยังประธานกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน และประธานกรรมการการเลือกตั้งอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับได้  แต่ถ้าประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ถูกจับหรือคุมขัง ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่าที่มีอยู่เป็นผู้ดำเนินการ

ตอนที่ ๒
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

มาตรา ๒๗๐ การตรวจเงินแผ่นดินให้กระทำโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระและเป็นกลาง

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบด้วย กรรมการจำนวนเจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีความชำนาญและประสบการณ์ด้าน การตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง หรือด้านอื่น

ให้นำหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสองและวรรคสาม เรื่องหน่วยธุรการตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสี่ คณะกรรมการสรรหารวมทั้งวิธีการสรรหาตามมาตรา ๒๖๐ (๒) วรรคสองและวรรคสาม มาตรา ๒๖๑ และมาตรา ๒๖๒ วาระการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๖๓ วรรคหนึ่งและวรรคสอง และการสรรหา ผู้ดำรงตำแหน่งแทนตามมาตรา ๒๖๕ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ด้วย โดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดจนการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน โดยอย่างน้อยต้องมีข้อห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาแล้ว เข้ารับการสรรหา

ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การตรวจเงินแผ่นดิน

ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นประจำทุกปีโดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทราบ และประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ตอนที่ ๓
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
          มาตรา ๒๗๑  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์   มีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
          ให้นำหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสองและวรรคสาม  เรื่องหน่วยธุรการตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสี่  คณะกรรมการสรรหารวมทั้งวิธีการสรรหาตามมาตรา ๒๖๐ (๒) วรรคสองและวรรคสาม มาตรา ๒๖๑ และมาตรา ๒๖๒  การดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๖๓ วรรคสองและวรรคสาม  และการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งแทนตามมาตรา ๒๖๕   มาใช้บังคับกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ด้วย โดยอนุโลม  แต่ให้ผู้ได้รับการสรรหานั้นดำรงตำแหน่งตามวาระในวรรคหนึ่ง  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
          คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตลอดจนการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  โดยอย่างน้อยต้องมีข้อห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาแล้ว เข้ารับการสรรหา
          ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
          ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นประจำทุกปีโดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทราบ และประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๗๒  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธาน วุฒิสภาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดกระทำการขาดความเที่ยงธรรม จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือมีพฤติการณ์อันเป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรง เพื่อให้วุฒิสภามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
          มติของวุฒิสภาให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง  ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
          มาตรา ๒๗๓  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภา มีจำนวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
          กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ถูกกล่าวหา จะปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งรับคำร้องนั้นไว้พิจารณา มิได้ จนกว่าจะมี คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยกคำร้องดังกล่าว
          ในกรณีที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ตามวรรคสอง  และมีกรรมการเหลืออยู่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน ศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๗๑  ทำหน้าที่เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นการชั่วคราว  โดยให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งได้จนกว่ากรรมการที่ตนดำรงตำแหน่งแทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าผู้นั้นกระทำความผิด
          มาตรา ๒๗๔  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
          (๑) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเกี่ยวกับการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งเสนอต่อรัฐสภาตามมาตรา ๒๕๔
          (๒) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา ๒๕๖
          (๓) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษา ตุลาการ ข้าราชการอัยการ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานของรัฐ ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม  รวมทั้งไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ใดเป็นตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
          (๔) ตรวจสอบความถูกต้อง ความมีอยู่จริง และความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของ ผู้ดำรงตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  ตลอดจนไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวร่ำรวยผิดปกติ
          (๕) ฟ้องคดีต่อศาลปกครองในคดีที่เกี่ยวกับวินัยการคลังและงบประมาณตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการคลังและการงบประมาณ
          (๖) รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา ทุกปี และเผยแพร่รายงานดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไปด้วย
          (๗) ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ


ตอนที่ ๔
ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน

มาตรา ๒๗๕ ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนมีจำนวนสิบเอ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรอบรู้และประสบการณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบริหารราชการแผ่นดิน หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้วย

ให้นำหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสองและวรรคสาม เรื่องหน่วยธุรการตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสี่ วาระการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๖๓ วรรคหนึ่งและวรรคสอง และการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งแทนตามมาตรา ๒๖๕ มาใช้บังคับกับผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนด้วย โดยอนุโลม แต่ให้ผู้ได้รับการสรรหานั้นดำรงตำแหน่งตามวาระในมาตรา ๒๖๓ วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม คณะกรรมการสรรหารวมทั้งวิธีการสรรหา และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ตลอดจนการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยอย่างน้อยต้องมีข้อห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาแล้ว เข้ารับการสรรหา

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน

ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปีโดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนทราบ และประกาศผล การประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๗๖ ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนมีอำนาจและหน้าที่พิทักษ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน และโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการแก้ไข

(๒) พิจารณาและสอบหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณีที่ปรากฏว่า

(ก) เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (ข) เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน หรือประชาชน หรือไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม

(ค) องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือองค์กรในกระบวนการยุติธรรมละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล

(๓) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ

(๔) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด กระทบต่อสิทธิมนุษยชน หรือกฎ คำสั่ง หรือการกระทำของบุคคลตาม (๒) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

(๕) ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายเมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม หรือเมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน

(๖) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชน

(๗) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

(๘) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์การเอกชน และองค์การ อื่นในด้านสิทธิมนุษยชน

(๙) รายงานต่อรัฐสภาเมื่อปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเสนอ และให้เปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นการทั่วไปด้วย ในการนี้ ให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว

(๑๐) เสนอรายงานประจำปีพร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และ เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นการทั่วไป

(๑๑) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนแต่ละคนในการดำเนินการตามมาตรานี้ให้ชัดเจน รวมทั้งกรณีใดที่ต้องเป็นมติร่วมกันของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ