ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ภาค ๔ หมวด ๒

ข่าวทั่วไป Wednesday April 29, 2015 14:57 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

หมวด ๒
การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม
ส่วนที่ ๑
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ

มาตรา ๒๗๙ เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ต่อเนื่องจนบรรลุผล ให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบและที่มา ดังต่อไปนี้

(๑) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้

(ก) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จำนวนหกสิบคน

(ข) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จำนวนสามสิบคน

(ค) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ จำนวนสามสิบคน (๒) คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ประกอบด้วย กรรมการซึ่งปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาและมาจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ ไม่เกินสิบห้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกตาม วรรคหนึ่ง (๑) และกรรมการ ตาม (๒) อำนาจหน้าที่อื่น การดำเนินงาน รวมทั้งการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูปต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ตามที่กำหนดในหมวดนี้ ส่วนการปฏิรูปในด้านอื่นซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในหมวดนี้ให้กระทำได้ตามข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติโดยความเห็นชอบของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

(๒) นำแผนและขั้นตอนการออกกฎหมายและการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมทั้งแผนงานและยุทธศาสตร์การปฏิรูปของทุกภาคส่วนมาบูรณาการเพื่อให้สามารถลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริงและต่อเนื่อง

(๓) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูป

(๔) เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของประชาชนเพื่อความเป็นพลเมืองที่ดี รวมทั้งสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยกระบวนการสมัชชาเพื่อการปฏิรูป

(๕) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปฏิรูปที่สอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอตามวรรคสี่ (๑) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอและให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการอย่างเพียงพอ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอใดได้ให้ชี้แจงเหตุผลต่อรัฐสภาและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเพื่อทราบ ในกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ว่าการปฏิรูปเรื่องใดที่คณะรัฐมนตรีไม่ดำเนินการนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ว่าจะต้องดำเนินการเรื่องนั้นหรือไม่ ผลการออกเสียงประชามติดังกล่าวให้มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้ต้องปฏิบัติตาม

ให้มีหน่วยธุรการของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่มีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติเป็นประจำทุกปีโดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติทราบ และประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

มาตรา ๒๘๐ ในการดำเนินการตามมาตรา ๒๗๙ วรรคสี่ (๑) หากเห็นว่ากรณีใดจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติขึ้นใช้บังคับ ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติจัดทำร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับกรณีนั้นเสนอต่อรัฐสภาโดยให้เสนอต่อวุฒิสภาก่อน เมื่อวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอแล้ว หากวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป แต่หากวุฒิสภาลงมติเห็นชอบ ให้วุฒิสภาเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อสภาผู้แทนราษฎร และให้นำความในส่วนที่ ๖ การตราพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ ๗ การควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ดังกล่าวโดยต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งเสร็จแล้ว

(๑) ถ้าเห็นชอบด้วยกับวุฒิสภา ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๖ ต่อไป

(๒) ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับวุฒิสภา ให้ส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังวุฒิสภา หากวุฒิสภาลงมติยืนยันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเกินกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาแล้ว ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๖ ต่อไป

ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอตามวรรคหนึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอวุฒิสภาได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาให้คำรับรองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่าง ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่แจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่านายกรัฐมนตรีให้คำรับรอง

ส่วนที่ ๒
การปฏิรูปด้านต่างๆ
          มาตรา ๒๘๑  ให้ดำเนินการตามแผนและขั้นตอนการปฏิรูป การตรากฎหมาย และการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบไว้ และโดยเฉพาะให้ดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้
          มาตรา ๒๘๒  ให้มีการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามแนวทางดังต่อไปนี้
          (๑) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายและกฎโดยง่าย ให้ตรากฎหมายว่าด้วยการจัดทำประมวลกฎหมายเพื่อรวบรวมและปรับปรุงกฎหมายและกฎในเรื่องต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนและทันสมัยขึ้นเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
          (๒) เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี ให้ตรากฎหมายว่าด้วย การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี โดยมีหน่วยงานที่ให้คำแนะนำทางกฎหมายที่จำเป็นแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง  จัดทนายความที่มีความสามารถทางคดีอย่างแท้จริงเพื่อดำเนินคดีทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย  รวมทั้งจัดตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีขึ้นเพื่อการดังกล่าว โดยสนับสนุนให้ประชาชนและองค์กรวิชาชีพมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
          (๓) ให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีหน้าที่และอำนาจเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎ แล้วแต่กรณี ที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระหรือขั้นตอนโดยไม่จำเป็น
          (๔) ปรับปรุงกฎหมายที่กำหนดเรื่องการออกใบอนุญาตที่มีลักษณะเป็นการผูกขาด ให้สัมปทาน หรือให้สิทธิในการประกอบกิจการ โดยให้ใช้วิธีประมูลโดยเปิดเผยเป็นหลัก เว้นแต่มีความจำเป็น คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้ดำเนินการด้วยวิธีอื่นได้โดยต้องประกาศเหตุผลให้ทราบเป็นการทั่วไป  ใบอนุญาตใดที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตไว้แล้วโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่าใบอนุญาตนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง และให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจออกใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ความจำเป็นของการมีใบอนุญาตนั้นต่อรัฐสภาทุกห้าปี
          (๕) ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางเลือก กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ รวมทั้งการระงับข้อพิพาทระหว่างประชาชนโดยกระบวนการยุติธรรมชุมชนหรือการประนีประนอมข้อพิพาทระดับชุมชน เพื่อให้มีการบูรณาการเกี่ยวกับกลไกและกระบวนการในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
          (๖) ให้มีกลไกในการบังคับคดีทางแพ่งที่มีประสิทธิภาพในสังกัดศาลยุติธรรม ทำหน้าที่บังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาและคำสั่งของศาลยุติธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ  รวมทั้งให้มีมาตรการและกลไกในการบังคับคดีปกครองที่มีประสิทธิภาพตามคำพิพากษาและคำสั่งของศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองด้วย
          (๗) ให้จัดการศึกษาอบรมเพื่อปลูกฝังให้ประชาชนเคารพกฎหมาย ยกย่องผู้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตรงไปตรงมา และลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งละเลยไม่บังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิผลอย่างจริงจัง
          (๘) ปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยโอนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มิใช่ภารกิจหลักของตำรวจไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในกระบวนการยุติธรรม กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการแต่งตั้งหรือย้ายข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามหลักคุณธรรม กระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจไปสู่ระดับจังหวัดและสร้างกระบวนการ มีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการตำรวจ ปรับระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ ให้พนักงานอัยการ  ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอมีอำนาจสอบสวนร่วมกับหน่วยงานด้านการสอบสวนในกรณีที่ประชาชนร้องขอความเป็นธรรม ปรับปรุงระบบงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีความเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีระบบบริหารงานบุคคลที่ยึดหลักความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง รวมทั้งจัดสรรและกระจายอำนาจการบริหารงบประมาณให้แก่หน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ให้เพียงพอและสามารถปฏิบัติงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          มาตรา ๒๘๓  ให้มีการปฏิรูปด้านการเงิน การคลัง และภาษีอากร ตามแนวทางดังต่อไปนี้
          (๑) จัดระบบภาษีเป็นสองระดับ คือ  ระดับชาติและระดับท้องถิ่น และดำเนินการให้องค์กรบริหาร ท้องถิ่นมีรายได้ที่จำเป็นแก่การใช้จ่ายของท้องถิ่น และมีระบบการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          (๒) ให้มีกฎหมายกำหนดให้บุคคลต้องแสดงรายได้ของตนต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้มีรายได้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รัฐจะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอ และให้ผู้ซึ่งได้เสียภาษี มีสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย
          (๓) ปรับปรุงระบบภาษีให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นกลาง เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยการพิจารณายกเลิกมาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด
          (๔) จัดให้มีระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบบำนาญให้ดำรงชีพได้อย่างเพียงพอและยั่งยืน
          ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปการเงิน การคลัง และภาษีอากรที่เป็นอิสระภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ในสัดส่วนที่เหมาะสม มีอำนาจ หน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนะการปรับปรุงกฎหมายการเงิน การคลัง และภาษีอากร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความเป็นกลาง ความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มฐานภาษีประเภทต่าง ๆ และอำนาจหน้าที่อื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๘๔  ให้มีการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวทางดังต่อไปนี้
          (๑) การบริหารราชการแผ่นดินและการจัดสรรงบประมาณต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาวและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
          (๒)กำหนดขอบเขตภารกิจอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในการบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะกลุ่มภารกิจ การบริหารราชการภาคและพื้นที่อื่น ให้ชัดเจนและสัมพันธ์กันแบบบูรณาการ โดยยึดการมีส่วนร่วมและประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก
          (๓)สร้างระบบและกลไกในการบริหารราชการแผ่นดินโดยเน้นการให้บริการผ่านระบบสารสนเทศ
          (๔)ทบทวนภารกิจและบริการสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐจัดทำอยู่เพื่อลดและขจัดความซ้ำซ้อนระหว่างกัน  ภารกิจและบริการสาธารณะใดที่อาจให้องค์การภาคเอกชน องค์การเอกชน หรือองค์กรบริหารท้องถิ่นจัดทำได้โดยมีคุณภาพและมาตรฐานที่ไม่ต่ำกว่าที่จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐ และมีราคาที่ไม่สูงเกินสมควร หน่วยงานของรัฐต้องยุติการดำเนินการและถ่ายโอนภารกิจและบริการนั้นให้องค์การภาคเอกชน องค์การเอกชน หรือองค์กรบริหารท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินการ
          (๕) ให้มีองค์กรบริหารการพัฒนาภาคทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในภาคและกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ จัดทำแผนและบริหารงบประมาณแบบพื้นที่เพื่อดำเนินการพัฒนาภาคที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับงานของจังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่น ประสานการพัฒนาพื้นที่บริหารงานระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการและยั่งยืนของการพัฒนาในระดับพื้นที่ของหลายจังหวัด  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          (๖) ให้มีคณะกรรมการอิสระว่าด้วยค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ เทียบเคียง ค่าตอบแทน ซึ่งรวมทั้งเงินเดือน สวัสดิการ และประโยชน์ตอบแทนอื่นทุกประเภทของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุก ประเภทและทุกระดับ กับค่าตอบแทนในภาคเอกชน และแจ้งให้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทราบ แล้วประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไปทุกระยะ  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๘๕  ให้มีการปฏิรูปด้านการบริหารท้องถิ่นตามแนวทางดังต่อไปนี้
          (๑) ตรากฎหมายและจัดให้มีกลไกที่จำเป็นสำหรับการจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัดให้เสร็จสมบูรณ์ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินการจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นดังกล่าวขึ้นในพื้นที่ที่มีความพร้อมและเหมาะสมโดยเร็ว
          (๒) ให้มีคณะกรรมการการกระจายอำนาจแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากสมัชชาพลเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เพื่อกำหนดนโยบาย กำหนดมาตรฐานกลาง และขับเคลื่อนการกระจายอำนาจอย่างมีเอกภาพและสามารถดำเนินการให้การกระจายอำนาจเป็นผลสำเร็จ โดยให้มีสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจแห่งชาติ รับผิดชอบงานธุรการและปฏิบัติหน้าที่อื่นที่จำเป็น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๘๖  ให้มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองดี มีความรู้ความสามารถ โดยยึดหลักดังต่อไปนี้
          (๑) กระจายอำนาจการจัดการศึกษาโดยลดบทบาทของรัฐจากการเป็นผู้จัดการศึกษาให้เป็นผู้จัดให้มีการศึกษา  ส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งกำกับนโยบาย แผน มาตรฐาน และติดตามประเมินผลการจัดการศึกษา  และส่งเสริมให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างมีอิสระ มีประสิทธิภาพ และรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษา  ทั้งนี้ โดยให้เอกชน ชุมชน และองค์กรบริหารท้องถิ่น มีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมด้วย
          (๒) จัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวโดยตรงแก่ผู้เรียนทุกคนอย่างพอเพียงตามความจำเป็นและเหมาะสมของผู้เรียน สำหรับการศึกษาระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยม ทั้งการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ
          (๓) ปรับปรุงระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยยกระดับความรู้ให้กับผู้เลี้ยงดูให้มีสมรรถนะและสัมพันธภาพที่เหมาะสมในการเลี้ยงดูเด็กเล็กก่อนวัยเรียนให้เกิดพัฒนาการที่สมบูรณ์ มีความพร้อมเพื่อการเรียนรู้ทุกมิติทั้งด้านกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคม
          (๔) ปรับปรุงการอาชีวศึกษาไปสู่ระบบการผลิตและพัฒนาบุคลากรภาคการผลิตที่มีทักษะ มีสมรรถนะในการประกอบอาชีพตรงตามความต้องการและสาขาที่ขาดแคลน
          (๕) ปรับปรุงระบบอุดมศึกษาให้การจัดการเรียนรู้และการสร้างองค์ความรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศและเสริมสร้างสมรรถนะด้านวิชาการเพื่อรับใช้สังคม
          (๖) พัฒนาระบบการเรียนรู้โดยเน้นกระบวนการคิด การใช้เหตุผล และการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้และสื่อสาธารณะด้านการศึกษา ส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่กับการศึกษาด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และพลเมืองศึกษา เพื่อบ่มเพาะจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลของคนไทยทุกระดับ รวมทั้งเพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และสามารถสร้างสังคมแห่งปัญญา
          (๗) ปรับปรุงระบบการผลิต การพัฒนา และการประเมินครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยอาศัยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน  ทั้งนี้ การผลิตต้องเน้นคุณลักษณะและสมรรถนะที่มีความเหมาะสมกับแต่ละระดับการศึกษา
          (๘) พัฒนาระบบธรรมาภิบาลในวงการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยจัดให้มีระบบตรวจสอบความโปร่งใสของการบริหารและการจัดการศึกษาทุกระดับ
          (๙) ปรับระบบการทดสอบและประเมินผลการศึกษา ให้เป็นการทดสอบการเรียนรู้ ความถนัด และคุณลักษณะผู้เรียนที่ครบทุกมิติเพื่อพัฒนาผู้เรียน  ส่วนการประเมินคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาและรับรองคุณภาพ
          (๑๐) ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารการศึกษาทั้งระดับชาติ ระดับพื้นที่ และระดับท้องถิ่น เพื่อยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษาและพัฒนามนุษย์ และเอื้ออำนวยให้การปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์บรรลุผล
          (๑๑) ปรับปรุงให้สภาวิชาชีพมีอำนาจเฉพาะในการรับรองหลักสูตรที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยไม่กระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา
          (๑๒) ให้มีการจัดทำประมวลกฎหมายการศึกษา โดยมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา และการให้ประชาชน ชุมชน องค์การภาคเอกชน และองค์การเอกชน มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการบริหารการศึกษา  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรานี้
          เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาตามมาตรานี้สามารถดำเนินการได้โดยรวดเร็วและต่อเนื่อง ให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติซึ่งอยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ โดยให้ทำหน้าที่ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์อย่างรอบด้านตลอดชีวิต กำหนดนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ กลั่นกรองการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ ตลอดจนจัดทำและปรับปรุงบรรดากฎหมายที่จำเป็นเพื่อขจัดปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการศึกษาของทุก หน่วยงานที่จัดการศึกษา
          องค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๘๗  ให้มีการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการผังเมือง   โดยคำนึงถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม หลักการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน และหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังต่อไปนี้
          (๑) ปฏิรูประบบและโครงสร้าง องค์กร และกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจัดทำประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม ประมวลกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติด้านต่างๆ ตรากฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล การจัดการขยะและของเสียอันตราย และกฎหมายด้านสิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจ รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและการพัฒนาเมือง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
          (๒) ปรับปรุงกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาระบบและโครงสร้างการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การจัดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบการจัดเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ในทะเล รวมทั้งการนำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์มาใช้ในการกำหนดนโยบาย แผน และการพัฒนาพื้นที่  การจัดทำระบบบัญชีรายได้ประชาชาติที่คิดรวมต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดระบบภาษีสิ่งแวดล้อม การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ และการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จำเป็น
          (๓) พัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงระบบการคำนวณต้นทุนความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีและการเยียวยาความเสียหาย องค์กรและสถาบันเกี่ยวกับความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบังคับคดีด้านสิ่งแวดล้อม
          (๔) ปรับปรุงกลไกและกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
          มาตรา ๒๘๘  ให้มีการปฏิรูปด้านพลังงานตามแนวทางดังต่อไปนี้
          (๑) บริหารจัดการพลังงานอย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน ให้ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่นเป็นทรัพยากรของชาติและมีไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน และดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานให้สอดคล้องกับหลักการข้างต้น
          (๒) ปรับปรุงให้การสำรวจ การผลิต และการใช้ปิโตรเลียมหรือพลังงานอื่นใด ต้องคำนึงถึงผลกระทบ ต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนและชุมชน
          (๓)ดำเนินการให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าถึง และเข้าใจในข้อมูลด้านพลังงาน และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพลังงาน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้งการติดตามและตรวจสอบการดำเนินนโยบายและแผนนั้น
          มาตรา ๒๘๙  ให้มีการปฏิรูปด้านแรงงานตามแนวทางดังต่อไปนี้ (๑)ตรากฎหมายและกำหนดกลไกเพื่อรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานในการสมาคม การรวมตัวกัน  และการร่วมเจรจาต่อรองให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
          (๒) สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงานในการส่งเสริมการออมและพัฒนาตนเองอันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
          มาตรา ๒๙๐  ให้มีการปฏิรูปด้านวัฒนธรรมภายใต้หลักการการมีส่วนร่วมในการวางแผนแม่บทและบริหารจัดการของประชาชน และหลักการรักษาดุลยภาพระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ตามแนวทางดังต่อไปนี้
          (๑) สนับสนุนให้มีสมัชชาศิลปวัฒนธรรมระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งมาจากภาคประชาสังคมตามความพร้อมในแต่ละพื้นที่ เพื่อปกป้อง ฟื้นฟู สืบสาน ส่งเสริม และพัฒนา งานด้านศิลปวัฒนธรรมตามความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ โดยให้มีความเป็นอิสระและประสานงานกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ
          (๒) จัดตั้งกองทุนทุนทางวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นกองทุนภาคประชาสังคมเพื่อสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรม  (๓)องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องสนับสนุนงบประมาณและการจัดการที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
          มาตรา ๒๙๑  ให้มีการปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามแนวทางดังต่อไปนี้ (๑) จัดให้มีมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ปรับปรุงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อให้ผู้เรียนมีตรรกะและมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีมาตรการจูงใจให้นักวิทยาศาสตร์ไทยที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
          (๒) ลงทุนด้านการศึกษา วิจัย การสร้างนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างเพียงพอ และมีมาตรการจูงใจทางภาษีและทางอื่นเพื่อให้เอกชนดำเนินการดังกล่าวเองหรือร่วมกับภาครัฐ ตลอดจนมีมาตรการช่วยเหลือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพื่อนำมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและทันต่อสภาพโลกาภิวัตน์
          (๓) สร้างฐานข้อมูลการประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวอย่างทั่วถึง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำผลการศึกษาวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นไปใช้ในกระบวนการผลิตและการให้บริการ
          (๔) จัดให้มีและพัฒนากลไกในการคุ้มครอง แบ่งปัน และการนำผลงานการประดิษฐ์ คิดค้น และการสร้างสรรค์ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
          (๕) สนับสนุนหรือลงทุนให้องค์กรบริหารท้องถิ่น ชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยในภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการโดยให้องค์กรบริหารท้องถิ่น ชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างสมรรถนะและความสามารถของท้องถิ่นและชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้
          เพื่อให้การปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามมาตรานี้เป็นไปอย่างมีระบบและรวดเร็ว ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่ปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนเพื่อการปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนจัดทำ ปรับปรุง และแก้ไขบรรดากฎหมายที่จำเป็นเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
          องค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๙๒  ให้มีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจมหภาคตามแนวทางดังต่อไปนี้
          (๑) ปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกัน ลด จำกัดหรือขจัดการผูกขาด และการกีดกันการแข่งขัน อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ธุรกิจมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเอง และระหว่างรัฐวิสาหกิจกับเอกชน รวมทั้งป้องกันมิให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาด  ในกรณีที่รัฐจำเป็นต้องทำการผูกขาดในกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ รัฐต้องกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
          (๒) บริหารจัดการรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส ทบทวนความจำเป็นในการดำรงอยู่ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง และความมีประสิทธิภาพ โดยต้องกำหนดเป้าหมายการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งอย่างชัดเจน และยกระดับธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้ได้ระดับสากล
          กำหนดบทบาทและภารกิจของหน่วยงานของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน  โดยแยกให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจรายสาขาเศรษฐกิจ กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจแทนรัฐ โดยใช้หลักธรรมาภิบาลและป้องกันมิให้มีการแทรกแซงทางการเมือง และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนหรือขาดประสิทธิภาพ  โดยจัดให้มีองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อรับผิดชอบในการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจดังกล่าว
          (๓) ดำเนินการให้ประชาชนและองค์กรชุมชนมีความเท่าเทียมในเชิงโอกาส มีความรู้พื้นฐานทางการเงิน เข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานในรูปแบบของกองทุนการออมชุมชน สหกรณ์ชุมชน ระบบธนาคาร ตลาดทุน หรือรูปแบบอื่น รวมทั้งเข้าถึงสาธารณูปโภคสำคัญด้านต่าง ๆ
          (๔) จัดสรรงบประมาณพัฒนาพิเศษเพิ่มเติมตามความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาพื้นที่ยากจนและกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
          (๕) สนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการใช้มาตรการทางภาษีอากรและมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสม
          (๖) ปรับโครงสร้างการกำกับดูแลและการส่งเสริมการสหกรณ์ โดยยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของสหกรณ์เพื่อการออมทรัพย์ให้เป็นสถาบันการเงินที่มั่นคงและมีธรรมาภิบาล และยกระดับมาตรฐานสหกรณ์ประเภทอื่นเพื่อส่งเสริมการรวมตัวและความเข้มแข็งของสมาชิกโดยยึดหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
          เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และโอกาสทางสังคม ให้จัดตั้งหน่วยงานกลางมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ กรอบนโยบาย เป้าหมายในการขจัดความยากจน ลดระดับความเหลื่อมล้ำของประชาชนที่ชัดเจน รับผิดชอบในการประสานงานและประเมินผลการดำเนินงาน และอำนาจหน้าที่อื่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๙๓  รัฐต้องดำเนินการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจรายภาคตามแนวทางดังต่อไปนี้
          (๑) จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาภาคการเกษตรและเกษตรกร กำหนดเขตการใช้พื้นที่ทางการเกษตร รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร ระบบการแปรรูปสินค้าและนวัตกรรมทางการเกษตร โดยผสานองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและการวิจัยและการพัฒนา เพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้มีความรู้และมีความมั่นคงทางรายได้ และให้ประเทศไทยเป็นฐานความมั่นคงทางอาหารและเป็นศูนย์ซื้อขายสินค้าเกษตรและอาหารล่วงหน้าในภูมิภาคเอเชีย
          (๒) กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม จัดหา จัดรูป และบริหารจัดการที่ดินของรัฐและของเอกชนที่ไม่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อเอื้อให้เกษตรกรและชุมชนสามารถเข้าถึงที่ดินเพื่อทำกิน รวมทั้งรักษาที่ดินทำกินไว้ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยใช้มาตรการในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน การให้สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือมาตรการอื่นที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการประสานกันอย่างเป็นระบบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์สูงสุดจากที่ดิน
          (๓) คุ้มครองเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมจากการผูกขาดทางการเกษตร ระบบเกษตรพันธสัญญา และการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และตรากฎหมายเพื่อ จัดระเบียบเกษตรพันธสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร
          (๔) สร้างระบบประกันความเสี่ยงแก่เกษตรกรกรณีเกิดความเสี่ยงทางการผลิตหรือการตลาด
          (๕) ส่งเสริมการพัฒนาและขยายพื้นที่การทำระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้มีสัดส่วนพื้นที่อย่างน้อยหนึ่งในสี่ของพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมไทย  โดยให้มีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และให้องค์กรเกษตรกรและชุมชนมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงาน  ส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนควบคู่และเสริมหนุนกับภาครัฐ  ควบคุมการโฆษณาการใช้สารเคมีการเกษตรและส่งเสริมการใช้อย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการ เพื่อลดการใช้สารเคมีการเกษตรที่เกินความจำเป็น ลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค
          (๖) ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มรายได้แก่ประเทศและกระจายรายได้สู่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน และบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งด้านแผนงานและงบประมาณ
          (๗) ปฏิรูปเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ปฏิรูประบบการขนส่ง รวมทั้งเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบและทุกระดับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการจัดการห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มคุณภาพชีวิต รวมทั้งสร้างกลไกในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการปฏิรูปดังกล่าว
          (๘) สร้างและพัฒนาสังคมผู้ประกอบการ โดยสนับสนุนให้เกิดวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการลงทุน สร้างความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน ใช้นวัตกรรมในการสร้างผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
          (๙) สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านการ สร้างโอกาส การให้ข้อมูล จัดให้มีมาตรการทางภาษีและมาตรการคุ้มครองอื่น ธนาคารเพื่อการลงทุน และการอื่นที่เกี่ยวข้อง
          มาตรา ๒๙๔  ให้มีการปฏิรูปด้านสาธารณสุขตามแนวทางดังต่อไปนี้
          (๑) เร่งพัฒนาระบบสุขภาพที่ให้ความสำคัญต่อการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เน้นพื้นที่เป็นฐานและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคและภัยคุกคามต่อสุขภาพ เพื่อนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของสังคมไทย ทั้งนี้ โดยให้ชุมชนและองค์กรบริหารท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
          (๒) ปฏิรูปการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพรวมถึงการเงินการคลังของกองทุนสุขภาพให้มีลักษณะและมาตรฐานใกล้เคียงกัน มีความเสมอภาคและเป็นธรรม เพียงพอและยั่งยืน โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในการอภิบาลระบบ โดยคำนึงถึงความทั่วถึง ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เพื่อดูแลภาพรวมและความยั่งยืนทางการคลังให้เกิดนโยบายการดำเนินการที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในการให้บริการสาธารณสุข
          (๓)ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถมีข้อมูลพื้นฐานในการดูแลสุขภาพตนเอง
          (๔) ให้มีการพัฒนากลไกการกำกับดูแลระบบสุขภาพและการให้บริการสุขภาพในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่เป็นธรรม กำกับควบคุมราคายาและค่าบริการทางการแพทย์ให้มีราคาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ
          (๕) ปฏิรูประบบการผลิตและการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ไปสู่ชนบท โดยส่งเสริมการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ผ่านสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน
          มาตรา ๒๙๕  ให้มีการปฏิรูปด้านสังคมตามแนวทางดังต่อไปนี้
          (๑) ปฏิรูปกฎหมาย กฎ และกติกาต่างๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีสิทธิที่จะดูแลและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและทุนชุมชนต่าง ๆ จัดทำบริการสาธารณะและจัดสวัสดิการให้แก่คนในชุมชน โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรบริหารท้องถิ่น องค์การภาคเอกชน และองค์การเอกชน
          (๒) ปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม ทั้งด้านการให้บริการสังคม การประกันสังคมทุกกลุ่มวัย การช่วยเหลือทางสังคม และการสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม ที่มีความครอบคลุม เพียงพอ ยั่งยืน มีคุณภาพ เข้าถึงได้ และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเน้นครอบครัวและชุมชนเป็นฐาน  สร้างระบบส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาสังคมและผู้มีจิตอาสาในการดำเนินการดังกล่าว พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องให้กับผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชายขอบ รวมทั้งอารยสถาปัตย์และระบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
          (๓) รัฐ หน่วยงานของรัฐ องค์กรบริหารท้องถิ่น และศาสนสถาน ต้องจัดให้มีพื้นที่สาธารณะเพื่อให้คนในชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในการทำกิจกรรมเพื่อสร้างสัมพันธ์ทางสังคม กิจกรรมนันทนาการ และกีฬา
          (๔) จัดทำแผนระยะยาวและดำเนินการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยเฉพาะการจัดให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชรา และการเตรียมความพร้อมสู่วัยสูงอายุที่เหมาะสมของประชาชน การปรับปรุงระบบการเกษียณอายุที่เหมาะสม การปฏิรูประบบสวัสดิการผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพเพื่อให้ดำรงชีพได้อย่างเหมาะสม ระบบการดูแลระยะยาว และการใช้ทุนทางปัญญาของผู้สูงอายุ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มและเครือข่ายที่เข้มแข็ง และจัดให้มีระบบ กลไก และกระบวนการในการบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว
          (๕)ให้หลักประกันด้านความปลอดภัยของสินค้าและบริการ โดยเฉพาะความปลอดภัยของอาหาร และจัดให้มีระบบหรือกลไกคุ้มครองผู้บริโภคตามหลักการป้องกันล่วงหน้า เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายหรือลดผลกระทบจากกรณีที่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า และต้องจัดให้มีกองทุนเพื่อชดเชยหรือเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัย
          ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปสังคมและชุมชนขึ้นคณะหนึ่งภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้  มีหน้าที่ศึกษาและจัดทำแนวทาง ข้อเสนอแนะ และกฎหมายต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปด้านสังคมและชุมชน รวมทั้งมีหน้าที่ติดตาม กำกับ และสนับสนุนการปฏิรูปด้านสังคมให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง  ทั้งนี้ โดยมีองค์ประกอบ ที่มา และอำนาจหน้าที่ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๒๙๖  ให้มีการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน มีมาตรฐาน มีคุณภาพสูงสุด และเป็นที่เชื่อถือทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ตามแนวทางดังต่อไปนี้
          (๑) มีกลไกส่งเสริมผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพสื่อมวลชนให้มีเสรีภาพควบคู่กับความรับผิดชอบ เร่งพัฒนากลไกที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระจากการถูกครอบงำและแทรกแซงโดยอำนาจรัฐและทุน เพื่อให้การแสวงหาข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้าน รวมทั้งส่งเสริมสวัสดิภาพและสวัสดิการในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชน
          (๒) เร่งพัฒนามาตรการและกลไกการกำกับดูแลสื่อสารมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งการกำกับดูแลตนเองด้านจริยธรรม การกำกับดูแลโดยภาคประชาชน และการกำกับดูแลโดยหน่วยงานที่มีอำนาจทางกฎหมาย  มีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชน ผู้ใช้ และผู้บริโภคให้รู้เท่าทันสื่อ มีความตระหนักรู้ถึงสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบ และตระหนักถึงหน้าที่ในฐานะที่เป็นพลเมือง
          (๓) มีกลไกการจัดสรรและแบ่งปันทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งส่งเสริมให้มีสื่อทางเลือก สื่อชุมชน สื่อสันติภาพ ตลอดจนส่งเสริมและอุดหนุนการสร้างสรรค์รวมทั้งการผลิตและเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ