หมวด ๓
การสร้างความปรองดอง
มาตรา ๒๙๗ เพื่อประโยชน์ในการสร้างความสมานฉันท์ ความรักสามัคคี และความปรองดองระหว่างคนในชาติให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลาย และสร้างแนวทางที่จะนำพาประเทศไปสู่ความมีเสถียรภาพและสันติสุขอย่างยั่งยืน ให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ประกอบด้วย กรรมการจำนวนไม่เกินสิบห้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมืองหรือความขัดแย้ง และผู้ซึ่งเป็นผู้นำในความขัดแย้ง ที่มา วาระการดำรงตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยธุรการ และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ มาตรา ๒๙๘ คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุแห่งความขัดแย้งในประเทศ ความเสียหายที่เกิดขึ้น และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขต่อคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา ทั้งนี้ โดยพิจารณารายงานหรือผลการศึกษาที่องค์กรต่างๆ จัดทำขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (๒) เสริมสร้าง ดำเนินการ และประสานงานให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และปรองดองในหมู่ประชาชนทั้งประเทศ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และใช้กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน และสร้างเครือข่ายในการสร้างความปรองดองในภาคส่วนต่างๆ ให้มีกระบวนการสร้างความปรองดองเกิดขึ้น (๓) เป็นคนกลางในการประสานระหว่างผู้นำในความขัดแย้งทุกกลุ่มเพื่อลดหรือยุติความขัดแย้งระหว่างกัน (๔) รวบรวมข้อเท็จจริงและทำรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้ง การละเมิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้กระทำ ทั้งนี้ โดยจะเปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลอื่นใดที่ทำให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ใด ไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติ (๕) ให้การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายและครอบครัว รวมทั้งฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ (๖) เสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคลซึ่งให้ความจริงอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แก่การดำเนินงาน และผู้กระทำซึ่งได้แสดงความสำนึกผิดต่อคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติแล้ว (๗) ให้การศึกษาและเรียนรู้แก่สาธารณชนเพื่อให้ตระหนักถึงผลของความรุนแรง ความเกลียดชัง รวมทั้งความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาความรุนแรง ตลอดจนสร้างเครื่องเตือนใจให้สังคมรำลึกถึงผลร้ายและความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อจะร่วมกันป้องกันมิให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก (๘) ส่งเสริมและเสนอแนะการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม โดยเคารพความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม และเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อการดังกล่าวต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเพื่อเสนอต่อรัฐสภา (๙) ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานของรัฐ ต้องให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ รวมทั้งต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่การดำเนินการของคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ