ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ภาค ๑ หมวด ๒

ข่าวทั่วไป Wednesday April 29, 2015 14:29 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

หมวด ๒
ประชาชน
ส่วนที่ ๑
ความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของพลเมือง

มาตรา ๒๖ ประชาชนชาวไทยย่อมมีฐานะเป็นพลเมือง พลเมืองต้องเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เคารพหลักความเสมอภาค ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม มีค่านิยมที่ดี มีวินัย ตระหนักในหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม รู้รักสามัคคี มีความเพียร และพึ่งตนเอง

พลเมืองต้องไม่กระทำการที่ทำให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือไม่ยั่วยุ ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน

รัฐมีหน้าที่ต้องปลูกฝังให้พลเมืองยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีค่านิยมประชาธิปไตย ตลอดจนจัดให้มีการศึกษาอบรมในทุกระดับ ทุกประเภท และทุกกลุ่มอายุ เพื่อสร้าง ความเป็นพลเมืองตามมาตรานี้

มาตรา ๒๗ พลเมืองมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้

(๒)ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด

(๓) เสียภาษีอากรโดยสุจริต

(๔)ใช้สิทธิทางการเมืองโดยสุจริตและมุ่งถึงประโยชน์ส่วนรวม

(๕)ช่วยเหลือราชการ ช่วยเหลือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ รับการศึกษาอบรม ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพโดยสุจริต ปกป้อง พิทักษ์ อนุรักษ์ และสืบสานขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้ง สงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มาตรา ๒๘ พลเมืองซึ่งเข้าไปทำหน้าที่ในสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง องค์กรตรวจสอบภาคประชาชน และองค์กรอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้เพื่อให้บุคคลทำหน้าที่พลเมือง ย่อมปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีเกียรติอย่างเข้มแข็ง โดยปราศจากอคติและด้วยความเสียสละ และให้ได้รับค่าใช้จ่ายบางประการที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ส่วนที่ ๒
สิทธิและเสรีภาพของบุคคล
ตอนที่ ๑
บททั่วไป

มาตรา ๒๙ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ โดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และ การตีความกฎหมายทั้งปวง

การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนสิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๓๐ สิทธิของบุคคลที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐและหน่วยงานของรัฐ ในการดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผล แต่การดำเนินการดังกล่าว ให้รัฐดำเนินการเพิ่มขึ้นตามความสามารถ ทางการคลังของรัฐ

มาตรา ๓๑ บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

ในกรณีที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิ ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดได้ ในการนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวและ สั่งการอื่นได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของ ศาลรัฐธรรมนูญ แต่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

มาตรา ๓๒ บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย่อมมีเสรีภาพที่จะกระทำการใด และย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง ในกรณีที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่หากเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองสิทธิหรือเสรีภาพให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายดังกล่าว บุคคลก็ย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง

การตรากฎหมายเพื่อกำหนดการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลตามวรรคสาม จะกระทบต่อขอบเขต แห่งสิทธิหรือเสรีภาพ หรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเกินสมควรตามหลักความได้สัดส่วน มิได้

รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครอง ส่งเสริม และช่วยเหลือให้การใช้สิทธิและเสรีภาพเป็นไปอย่างเหมาะสม

มาตรา ๓๓ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และ จะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้น มิได้

กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ ในการตรากฎหมายนั้นด้วย

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายด้วย โดยอนุโลม

ตอนที่ ๒
สิทธิมนุษยชน
          มาตรา ๓๔ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน  การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
          มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
          มาตรา ๓๕ บุคคลซึ่งเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายหรือกฎ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม
          มาตรา ๓๖ บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
          การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ แต่การลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม
          การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้  เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
          การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๓๗ บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้  และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้
          ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด มิได้
          บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้ถูกบังคับให้ให้ถ้อยคำซึ่งอาจทำให้ตนเองต้องรับผิดทางอาญา
          มาตรา ๓๘ สิทธิของบุคคลในการสมรสและในครอบครัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง สิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง  การจำกัดสิทธิดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะหรือในกรณีที่เป็นบุคคลสาธารณะ
          บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนตามที่กฎหมายบัญญัติ การแสวงประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลส่วนบุคคลโดยผ่านระบบต่างๆ จะกระทำได้เฉพาะเพียงเท่าที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๓๙ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน และย่อมได้รับความคุ้มครองในการอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข
          การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือการตรวจค้นเคหสถาน หรือในที่รโหฐาน จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๔๐ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
           มาตรา ๔๑ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
          ในการใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการ รอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น
          มาตรา ๔๒ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนโดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
          การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
          มาตรา ๔๓ สิทธิในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วย ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
          การสืบมรดกย่อมได้รับความคุ้มครอง สิทธิในการสืบมรดกย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
          การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกิจการของรัฐเพื่อประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น  โดยในกฎหมายนั้นต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง  รวมทั้งต้องมีการชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนนั้น และในการกำหนดค่าทดแทนต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด การได้มา สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ ความเสียหายของผู้ถูกเวนคืน และประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนได้รับจากการ ใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนและส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืน ในกรณีที่มิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๔๔ บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้
          (๑) สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง เท่าเทียมกัน และเสียค่าใช้จ่ายน้อย
          (๒) สิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวดเร็ว เป็นธรรม และมีมาตรฐานที่ชัดเจน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม
          (๓) สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับ การพิจารณาโดยเปิดเผย โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับ การพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งนั่งพิจารณาครบองค์คณะ และการคัดหรือทำสำเนาคำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่งอันเป็นการชี้ขาดคดี
          (๔) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย และพยานในคดี ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ หรือสถานะใด ย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม
          (๕) ในคดีอาญา ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยาน มีสิทธิได้รับความคุ้มครองและความช่วยเหลือ ที่จำเป็นและเหมาะสมจากรัฐ ได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และมีมาตรฐานที่ชัดเจน ผู้ต้องหาและจำเลยมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากทนายความซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ  การได้รับ การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลักเว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ และรับทราบเหตุผลประกอบการสั่งฟ้องหรือ ไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ
          (๖) ได้รับการเยียวยาในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
          มาตรา ๔๕ บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจะมีสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเพียงใด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่รัฐจัดให้

ตอนที่ ๓
สิทธิพลเมือง

มาตรา ๔๖ ครอบครัวย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นปึกแผ่นและเป็นสุข และมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มารดาย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษและได้รับสวัสดิการตามควรจากรัฐและนายจ้าง ก่อนและหลังการให้กำเนิดบุตร ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

เด็กและเยาวชนย่อมมีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมทั้งได้รับความคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์ใดๆ ที่เป็นภัย ต่อจิตใจหรือสุขภาพหรือขัดขวางพัฒนาการตามปกติของเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ โดยให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

เด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐให้ปราศจาก การใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม รวมทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว

การจำกัดสิทธิของเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อสงวนและรักษาไว้ซึ่งสถานะและความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน หรือเพื่อประโยชน์สูงสุดของบุคคลนั้น

เด็ก เยาวชน สตรี บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคล ซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือ ที่เหมาะสมจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๔๗ พลเมืองย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์

การถอนสัญชาติไทยจากบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด จะกระทำมิได้ สัญชาติไทยจะสิ้นสุดลงได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ และจะขัดต่อเจตจำนงของพลเมืองนั้นได้ต่อเมื่อไม่ทำให้พลเมืองนั้นเป็นบุคคลไร้สัญชาติ

การเนรเทศผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้

มาตรา ๔๘ เสรีภาพของสื่อมวลชนในการประกอบวิชาชีพตามจริยธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม ย่อม ได้รับความคุ้มครอง

การสั่งปิดกิจการสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้

การห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในสื่อมวลชน จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม และจะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสาม

เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นพลเมือง และพลเมืองไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนหรือ ผู้ถือหุ้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายกิจการ ในลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคม หรือมีผลเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือปิดกั้น การได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน มิได้ ไม่ว่าในนาม ของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่น ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม ที่จะทำให้สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้น ในกิจการดังกล่าว

รัฐจะให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเพื่ออุดหนุนกิจการสื่อมวลชนของเอกชน มิได้ การซื้อโฆษณาหรือบริการอื่นจากสื่อมวลชนโดยรัฐ จะกระทำได้ก็แต่เฉพาะโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อการนั้น

มาตรา ๔๙ พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐหรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน ย่อม มีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง

การกระทำใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการ อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่มีผลใช้บังคับ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนตามมาตรา ๔๘ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพตามมาตรา ๔๘ และคุ้มครองสวัสดิการของบุคคลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง

มาตรา ๕๐ คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ให้มีองค์การของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งและกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมและกิจการสารสนเทศ โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น คำนึงถึงบุคคลด้อยโอกาส ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาของชาติและตามที่กฎหมายบัญญัติ

การดำเนินการตามวรรคสองต้องให้ความสำคัญกับการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการดังกล่าว ต้องให้ความสำคัญกับการให้บริการที่ทั่วถึง ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ สามารถตรวจสอบได้ และให้ประชาชนโดยทั่วไปเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด มากกว่าการมุ่งหารายได้เข้ารัฐหรือเข้าองค์กรดังกล่าว

เจ้าของกิจการตามมาตรานี้ต้องเป็นพลเมือง และต้องไม่ดำเนินการในลักษณะที่อาจมีผลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๘ ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๕๑ เสรีภาพในทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

การวิเคราะห์หรือวิจารณ์คำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่งของศาล และการเผยแพร่การวิเคราะห์หรือวิจารณ์ดังกล่าวที่ได้กระทำโดยสุจริตตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา ๕๒ พลเมืองย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับการศึกษาที่มีคุณภาพและหลากหลายอย่างทั่วถึง เพื่อการพัฒนาตนเองที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ความถนัด และศักยภาพของแต่ละบุคคล ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้ยากไร้ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง และการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น

รัฐมีหน้าที่ต้องจัดการศึกษาอบรมและส่งเสริมการจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชนเพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง การศึกษาทางเลือก และการศึกษาประเภทอื่น ที่หลากหลาย ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีศีลธรรม มีการพัฒนาจิตใจ และปัญญา

มาตรา ๕๓ พลเมืองย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมในที่สาธารณะและเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความปลอดภัยด้านการสาธารณสุข หรือการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

มาตรา ๕๔ พลเมืองย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การภาคเอกชน องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น

ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มกัน แต่ต้องไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดในทางเศรษฐกิจ

มาตรา ๕๕ พลเมืองย่อมมีสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญนี้ และมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้ง พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของพลเมือง และเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๕๖ พลเมืองย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการ อาชีพ หรือวิชาชีพ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพซึ่งต้องไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดเกินความจำเป็น การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือขจัดความ ไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

การเกณฑ์แรงงานจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน หรือโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งให้กระทำได้ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลเพื่อประโยชน์ในการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิด

มาตรา ๕๗ พลเมืองย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีหลักประกันความปลอดภัย อาชีวอนามัย สวัสดิภาพ และสวัสดิการในการทำงาน ที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งมีหลักประกันในการดำรงชีวิตทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๕๘ พลเมืองย่อมมีสิทธิในด้านสาธารณสุขตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังต่อไปนี้

(๑) ดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี

(๒) รับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และได้รับสิทธิประโยชน์ ด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานอันจำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน

(๓) ได้รับข้อมูลด้านสุขภาพที่ถูกต้องและทันสมัยจากรัฐ

พลเมืองซึ่งได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขและผู้ให้บริการสาธารณสุขซึ่งได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ ย่อมได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๕๙ พลเมืองย่อมมีสิทธิเข้าถึงและได้รับบริการสาธารณะของรัฐที่จัดให้อย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน โดยต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ

มาตรา ๖๐ สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง

ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยไม่กระทำการอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และเสนอทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้และทักษะที่จำเป็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การดังกล่าวด้วย

มาตรา ๖๑ พลเมืองย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในความครอบครองของรัฐ เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๖๒ พลเมืองย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของตน รวมทั้งได้รับแจ้งผลการพิจารณาในเวลาอันรวดเร็ว

พลเมืองย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชน และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และแผนอื่น การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการตรากฎหมายหรือการออกกฎ ที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการเพื่อนำความคิดเห็นนั้นไปประกอบการพิจารณา โดยให้คำนึงถึงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และพื้นที่ทางวัฒนธรรมด้วย

มาตรา ๖๓ ชุมชนย่อมมีสิทธิปกป้อง ฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาอันดีงามของชุมชน ท้องถิ่น และของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรมและทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

พลเมืองย่อมมีสิทธิร่วมกับชุมชนหรือร่วมกับรัฐในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ตลอดจนพัฒนา ด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

ส่วนที่ ๓
การมีส่วนร่วมทางการเมือง
          มาตรา ๖๕ พลเมืองย่อมมีสิทธิรับรู้และแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำและตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น รวมทั้งการพิจารณาร่างกฎหมาย กฎ และโครงการหรือกิจกรรมบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่โดยปกติสุข คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ หรือการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายสาธารณะในแต่ละเรื่อง มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นตามวรรคหนึ่ง
          วิธีดำเนินการเพื่อให้พลเมืองได้ใช้สิทธิตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา ๖๖ พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนย่อมมีสิทธิร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายตามภาค ๑ หมวด ๒ ส่วนที่ ๒ สิทธิและเสรีภาพของบุคคล  และภาค ๒ หมวด ๒ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญนี้ ต่อรัฐสภา ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและตรวจพิจารณาร่างกฎหมายมีหน้าที่สนับสนุนการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายของพลเมืองตามที่กฎหมายบัญญัติ
          ในการพิจารณาร่างกฎหมายตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้นชี้แจงหลักการของร่างกฎหมาย และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย
          มาตรา ๖๗ พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีส่วนร่วมตัดสินใจโดยการออกเสียงประชามติในการ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีที่มีประกาศพระบรมราชโองการให้มีการออกเสียงประชามติเนื่องจาก เป็นเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของชาติหรือประชาชน หรือในกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติ ให้มีการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การออกเสียงประชามติ
          การออกเสียงประชามติตามวรรคหนึ่งอาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของ ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ หรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษา แก่คณะรัฐมนตรีก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
          การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงในกิจการตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
          มาตรา ๖๘ พลเมืองย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

ส่วนที่ ๔
การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

มาตรา ๖๙ หน่วยงานของรัฐ องค์การภาคเอกชน องค์การเอกชน หรือองค์กรใดที่ดำเนินกิจกรรมโดย ใช้เงินแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อให้พลเมืองได้ติดตามและตรวจสอบ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ เว้นแต่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นข้อมูลที่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้เปิดเผย

มาตรา ๗๐ เพื่อประโยชน์แห่งการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ พลเมืองย่อม มีสิทธิร้องขอข้อมูลรวมทั้งติดตามและตรวจสอบ ในเรื่องดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

(๑) การดำเนินงานหรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

(๒) การใช้จ่ายเงินแผ่นดินหรือการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ

(๓) การรับบริจาคและการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในทุกระดับ

(๔) การใช้จ่ายเงินของบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีธุรกรรมกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจะมีส่วนร่วมในการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ โดยร้องขอให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ควบคุม กำกับ หรือรับจดแจ้งหรือจดทะเบียน นิติบุคคลดังกล่าว เป็นผู้ดำเนินการ

การเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ ถ้าข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

พลเมืองและสื่อมวลชนซึ่งให้ข้อมูลโดยสุจริตแก่องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการ ใช้อำนาจรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือต่อสาธารณะ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง

ผู้ซึ่งใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งโดยไม่สุจริต ย่อมต้องมีความรับผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๗๑ เพื่อส่งเสริมให้พลเมืองในแต่ละจังหวัดมีส่วนร่วมโดยตรงในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายในเขตจังหวัดของตน รวมทั้งส่งเสริมให้พลเมืองยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ให้มีสภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัดประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินห้าสิบคนซึ่งต้องมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น และมีที่มา จากผู้แทนสมัชชาพลเมืองจำนวนไม่เกินหนึ่งในสี่ ผู้แทนองค์การเอกชนจำนวนไม่เกินหนึ่งในสี่ และสมาชิกส่วนที่เหลือมาจากพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วิธีการได้มาซึ่งสมาชิก การตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และจริยธรรม วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิก วิธีดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หน่วยธุรการของสภาตรวจสอบภาคพลเมือง และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

สภาตรวจสอบภาคพลเมืองมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตจังหวัดของตนในการตรวจสอบการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ ในเขตจังหวัดนั้น โดยเฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

(๒) การกระทำของผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดนั้นที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย

(๓) การใช้จ่ายเงินแผ่นดินหรือการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ

(๔) การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชน

(๕) การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือการละเมิดจริยธรรม

มาตรา ๗๒ พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่น หรือตัดสิทธิทางการเมืองหรือสิทธิ ในการดำรงตำแหน่งอื่นตามมาตรา ๒๕๓ โดยอย่างน้อยต้องกำหนดให้คำร้องขอต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำความผิดเป็นข้อๆ ให้ชัดเจนด้วย

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าชื่อร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ