ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ภาค ๒ หมวด ๑

ข่าวทั่วไป Wednesday April 29, 2015 14:31 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

ภาค ๒
ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง
หมวด ๑
ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี

มาตรา ๗๓ ผู้นำการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้อาสามาปฏิบัติหน้าที่สาธารณะ ย่อมต้องเป็นพลเมืองที่ดี มีความเสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ ต่อประเทศชาติและประชาชน ดำรงตนเป็นแบบอย่างอันดีงามของสังคม ยึดมั่นในจริยธรรมและธรรมาภิบาล จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรับใช้ประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยผู้นำการเมืองดังกล่าวได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

(๑) ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกประเภทและทุกระดับ

(๒) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นทุกตำแหน่ง

ผู้นำอื่นในภาครัฐย่อมต้องปฏิบัติตนเช่นเดียวกับผู้นำการเมืองตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๗๔ มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้นำการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติกำหนดขึ้นหรือให้ความเห็นชอบ โดยจะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ

การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย และให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยต่อไป ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติหรือผู้ที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมอบหมายไต่สวนการฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามดังกล่าวโดยเร็ว และให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และแจ้งให้สมัชชาพลเมืองทราบด้วย ในกรณีที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเห็นสมควรเปิดเผยผลการไต่สวนดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อป้องปรามมิให้มีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมต่อไป ก็ให้เปิดเผยผลการไต่สวนดังกล่าวได้

เมื่อได้รับรายงานจากสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้องค์กรตามวรรคสองพิจารณาและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยไม่ต้องสอบสวนหรือไต่สวนอีก แล้วแจ้งผลให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติทราบตามระยะเวลา ที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติกำหนด และให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเปิดเผยผลการดำเนินการดังกล่าวให้ทราบ เป็นการทั่วไป

การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นการกระทำผิดร้ายแรง ย่อมเป็นเหตุแห่งการถอดถอนหรือการตัดสิทธิทางการเมืองตามมาตรา ๒๕๓ โดยให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาดำเนินการโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงดังกล่าวเป็น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติส่งเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาถอดถอนต่อไปตามมาตรา ๒๕๓ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายว่าด้วยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติบัญญัติ

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนตามวรรคสี่ในการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปซึ่งจะจัดขึ้นในคราวต่อไป โดยในกรณีที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีให้ออกเสียงลงคะแนนในทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ แต่ในกรณีที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้ออกเสียงลงคะแนนในภาคที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งหรือที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ แล้วแต่กรณี แล้วให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่มีคะแนนเสียงข้างมากให้ถอดถอนผู้ใด ให้ถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งและให้ตัดสิทธิทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่นของผู้นั้นเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันลงคะแนนเสียง

(๒) ในกรณีที่มีการออกเสียงลงคะแนนเมื่อผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ถ้ามีคะแนนเสียงข้างมากให้ ถอดถอนผู้ใด ให้ตัดสิทธิทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่นของผู้นั้นเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันลงคะแนนเสียง

การลงคะแนนเสียงตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด และจะมีการร้องขอให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอน หรือให้ตัดสิทธิผู้นั้นทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่น โดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

การรับสมัครเลือกตั้ง การเลือก การสรรหา การกลั่นกรอง การพิจารณา หรือการแต่งตั้งบุคคลใด เข้าสู่ตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฐไม่ว่าตำแหน่งใด รวมทั้งการย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน หรือการ ลงโทษบุคคลใด ต้องใช้พฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้นมาเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งในการพิจารณาด้วย

ให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ปลูกฝังและส่งเสริมจริยธรรมของประชาชนและผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะและอำนาจหน้าที่อื่น

องค์ประกอบ การได้มา อำนาจหน้าที่ วิธีไต่สวนและการพิจารณาของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติบัญญัติ

มาตรา ๗๕ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้นำอื่นในภาครัฐอย่างน้อยต้องปฏิบัติตนดังนี้

(๑) แยกเรื่องส่วนตัวออกจากตำแหน่งหน้าที่ และยึดประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนเหนือประโยชน์ส่วนตนและของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ตนสังกัด

(๒) รับฟังความคิดเห็นของประชาชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งทางการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และในการตรวจสอบทุกระดับ และนำความเห็นของประชาชนมาประกอบการตัดสินใจ

(๓) แสดงความคิดเห็น อภิปราย หรือให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และ ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง

(๔) แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองเมื่อตนหรือผู้อยู่ในความรับผิดชอบของตนกระทำผิด หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชน

(๕) เมื่อพบว่ามีการกระทำซึ่งมีลักษณะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือประมวลจริยธรรม ต้องคัดค้านการกระทำดังกล่าว และแจ้งให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้นำอื่นในภาครัฐอย่างน้อยต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ตนสังกัด หรือกระทำการอื่นอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ว่าการนั้นจะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่

(๒) ละเมิดหลักสำคัญทางศีลธรรม ศาสนา และประเพณี

(๓) ใช้วาจาไม่สุภาพ หรือกระทำการที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน

(๔) ยอมให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดครอบงำหรือชี้นำโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อประมวลจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรม

(๕) ใช้อำนาจหน้าที่ที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

(๖) เลี่ยงหรือชี้นำให้บุคคลอื่นเลี่ยงการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งแสดงความเห็นทำนองดังกล่าวต่อสาธารณะ

มาตรา ๗๖ พรรคการเมืองต้องจัดองค์กรภายใน ดำเนินกิจการ และออกข้อบังคับ ให้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ขัดต่อสถานะ และการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และมีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติและประชาชน

คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และข้อบังคับพรรคการเมือง ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน และต้องส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง โดยให้นำความในมาตรา ๗๕ มาใช้บังคับกับการวางตนของกรรมการบริหารพรรคการเมืองด้วยโดยอนุโลม

การพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีการหยั่งเสียงประชาชนหรือสมาชิกพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งหรือในภาค และต้องมีเงื่อนไขว่าในกรณีที่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเพศใดมากกว่าอีกเพศหนึ่งแล้ว อย่างน้อยในบัญชีรายชื่อนั้นต้องมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นเพศตรงข้ามกับเพศนั้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองบัญญัติ

การรับบริจาค การใช้จ่ายเงินในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมือง ย่อมอยู่ในความควบคุมและรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกระทำตามกฎหมาย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

การมีมติของพรรคการเมืองให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติใด ๆ ในสภาผู้แทนราษฎร จะกระทำได้ ก็แต่โดยที่ประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสังกัดพรรคการเมืองมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดผู้หนึ่ง หรือสมาชิกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคน หรือพลเมืองไม่น้อยกว่า ห้าพันคน เห็นว่าการจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ ข้อบังคับพรรคการเมือง หรือมติใดไม่เป็นไปตามมาตรา นี้ มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ปรับปรุงแก้ไขการนั้นให้เป็นไปตามมาตรานี้ได้ ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือดำเนินการไม่เป็นไปตามที่ร้องขอ ให้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ ข้อบังคับพรรคการเมือง หรือมติใดไม่เป็นไปตามมาตรานี้ ให้การนั้นเป็นอันสิ้นผล และให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยพลัน

ให้นำความในมาตรานี้มาใช้บังคับกับกลุ่มการเมืองซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองและมีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งได้แจ้งไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง เท่าที่จะกระทำได้ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยปรึกษาหารือกับกลุ่มการเมืองทั้งหลายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง

มาตรา ๗๗ ให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติประเมินผลการวางตนของผู้นำการเมืองและผู้นำอื่นในภาครัฐ และให้คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติประเมินผลการดำเนินการของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง แล้วให้แจ้งให้ผู้นั้น พรรคการเมือง รวมทั้งกลุ่มการเมืองนั้นทราบ และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

องค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่ และการอื่นที่จำเป็นในการดำเนินการของคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ