ส่วนที่ ๕
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา
มาตรา ๑๕๖ ในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน (๑) การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๑๗ (๒) การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา ๑๙ (๓) การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ตามมาตรา ๒๐ (๔) การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามมาตรา ๒๑ (๕) การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมตามมาตรา ๑๒๑ (๖) การเปิดประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๒๒ (๗) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๓๒ (๘) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามมาตรา ๑๔๖ (๙) การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๔๗ (๑๐) การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา ๑๕๕ และมาตรา ๑๖๕ (๑๑) การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๕๗ (๑๒) การแถลงนโยบายตามมาตรา ๑๖๒ (๑๓) การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามตามมาตรา ๑๗๗ (๑๔) การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามมาตรา ๑๗๘ (๑๕) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๕๖ (๑๖) กรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๗ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยอนุโลมไปพลางก่อน ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้บังคับ โดยอนุโลม เว้นแต่ในเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการ กรรมาธิการซึ่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิก ของแต่ละสภาจะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา