ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดิม)
ส่วนที่ ๓ วุฒิสภา
มาตรา ๑๐๖ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหนึ่งร้อยหกสิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
จากบุคคลที่ได้รับการสรรหา ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิก
วุฒิสภาว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ และยังมิได้มีการสรรหาขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก
วุฒิสภาเท่าที่มีอยู่ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทำให้มีสมาชิกวุฒิสภาไม่ครบจำนวนหนึ่งร้อยหกสิบคนภายในกำหนด
เวลาตามมาตรา ๑๐๗ แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด ให้ถือว่าวุฒิสภา
ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนดังกล่าว แต่ต้องมีการสรรหาให้ได้สมาชิกวุฒิสภาครบจำนวนหนึ่งร้อยหกสิบคนภายใน
หนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๗ ในกรณีนี้ ให้สมาชิก
วุฒิสภาผู้ได้รับการสรรหาเข้ามานั้น อยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่
มาตรา ๑๐๗ ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ประธานกรรมการป้องกันและปราบปราม
การทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษา
ศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการ
ในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคนเป็นกรรมการ ทำหน้าที่สรรหาบุคคลตามมาตรา ๑๐๘ ให้แล้วเสร็จ
ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๙ แล้วจัดส่งให้ประธาน
สภาผู้แทนราษฎรนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
ในกรณีที่ไม่มีกรรมการในตำแหน่งใด หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ากรรมการที่เหลืออยู่นั้น
มีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่ให้ประธานสภา
ผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๐๘ ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาดำเนินการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา โดยวิธีการ
ดังต่อไปนี้ (๑) ให้สรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมจากผู้สมัครเข้ารับการสรรหาในแต่ละจังหวัด
เพื่อให้ได้บุคคลที่สมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดละหนึ่งคน (๒) ให้สรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมจากผู้ได้รับ
การเสนอชื่อจากองค์กรต่าง ๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ใน
การปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา เพื่อให้ได้บุคคลที่สมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามจำนวนที่เหลืออยู่จนครบ
จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่จะพึงมี ในการสรรหาบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ
หรือประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของวุฒิสภาเป็นสำคัญ และให้คำนึงถึงองค์ประกอบจาก
บุคคลที่มีความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ความเท่าเทียมกันทางเพศ รวมทั้งการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาส
ทางสังคมด้วย
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
ส่วนที่ ๓วุฒิสภา
มาตรา ๑๒๑ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวนสองร้อยคน
ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ และยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิ
สภาขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๑๒๒ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งการคำนวณเกณฑ์
จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้คำนวณตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๒ วรรคสอง วรรคสาม
และวรรคสี่ โดยอนุโลม
มาตรา ๑๒๓ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ในเขตเลือกตั้งนั้นได้หนึ่งคน การเลือกตั้งให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
ในกรณีที่จังหวัดใดมีสมาชิกวุฒิสภาได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดเรียง
ตามลำดับจนครบจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่จะพึงมีได้ในจังหวัดนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๒๔ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐๕ และมาตรา ๑๐๖ มาใช้บังคับกับคุณสมบัติและลักษณะ
ต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาด้วย โดยอนุโลม
เหตุผลที่แก้ไข
แก้ไขมาตราที่ 106
๑. แก้ไขจำนวนสมาชิกวุฒิสภาจากเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ตามหลักเกณฑ์จำนวนสมาชิกวุฒิสภาให้มีจำนวนสองในห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
๒. เปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งโดยตรงเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทน
ราษฎรเป็นวิธีการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา โดยเห็นว่าวิธีการสรรหานี้จะได้บุคคลที่เหมาะ
สมมาทำหน้าที่ ซึ่งวิธีการเลือกตั้งโดยตรงนั้น สมาชิกวุฒิสภาจะต้องอิงกับฐานเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และโดยข้อเท็จจริงทำให้ได้ทั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันมาทำหน้าที่ ซึ่ง
ทำให้การปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเกิดความไม่โปร่งใสหรืออยู่ภายใต้การครอบงำของ
พรรคการเมือง โดยที่ภาระหน้าที่ของวุฒิสภาเป็นองค์กรกลั่นกรองร่างกฎหมาย ตรวจสอบการกระทำของฝ่าย
การเมือง และคัดเลือกผู้ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาจึงต้องเป็นผู้เป็นกลางทางการ
เมืองมีอิสระในการตัดสินใจ และจะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการกลั่นกรองคุณสมบัติว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญเพียงพอที่
จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องประกอบด้วยบุคคลที่มีความหลากหลายอาชีพและมาจากกลุ่ม
บุคคลต่าง ๆ เพื่อให้การกลั่นกรองเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีความ
สมดุลในเหตุผลในการดำเนินการที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นส่วนใหญ่
๓. ได้นำหลักการเดียวกันกับกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดทำให้การสรรหา
สมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกมีจำนวนไม่ถึงร้อยหกสิบคน ยังสามารถเรียกประชุม เพื่อปฏิบัติการใด ๆ ตามบทบัญญัติ
แห่งรัฐธรรมนูญนี้ได้ ถ้ามีจำนวนสมาชิกฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกฯ ทั้งหมด แต่ต้องมี
การเลือกตั้งให้ครบจำนวนสมาชิกฯต่อไปภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และให้สมาชิกฯ ที่เข้ามานั้นมีอยู่ในตำแหน่ง
เท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความลักลั่นกันระหว่างผู้มีอยู่เดิมกับผู้เข้ามาใหม่
ร่างมาตรา ๑๐๗ และร่างมาตรา ๑๐๘ ได้เพิ่มขึ้นใหม่เพื่อกำหนดวิธีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ดังนี้
๑. กำหนดให้มีองค์กรในการทำหน้าที่สรรหาสมาชิกวุฒิสภา ประกอบด้วย ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนี้
และผู้แทนศาลทั้งสามศาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งมีความอิสระและมีความยุติธรรม น่าเชื่อถือ และไว้วางใจใน
การที่จะทำการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราช
โองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากเป็นองค์กรทางนิติบัญญัติเช่นเดียวกัน
๒. กำหนดกระบวนการในการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่
(๑) การสรรหาจากผู้สมัครรับการสรรหาในแต่ละจังหวัด ๆ ละหนึ่งคน รวมกรุงเทพมหานครด้วยจำนวนเจ็ดสิบ
หกคน เพื่อให้มีการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมในการ
ปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา จากบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งจะทราบสภาพการดำรงชีวิตและความต้องการพื้นฐานของ
ชุมชนในพื้นที่และมีความรู้เพียงพอไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ ผู้มีประสบการณ์ในพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้าน
หรือผู้ที่ประชาชนนับถือ ซึ่งจะได้นำความรู้หรือประสบการณ์นั้นมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับการดำเนิน
การที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมของทั้งประเทศและยอมรับได้ในพื้นที่ของจังหวัด
นอกจากนี้ โดยหลักการแล้วการสรรหาจะมีการกลั่นกรองบุคคลที่มีประวัติดี ได้รับการยกย่องว่า
เป็นผู้มีความรู้ของชุมชนในพื้นที่แต่ละจังหวัด ฉะนั้น แนวทางการสรรหาจะต้องมีการรับฟังความเห็นทั่วไปของ
ประชาชนในจังหวัดอยู่ด้วย ซึ่งจะทำให้การสรรหาบุคคลที่เป็นกลางในทางการเมืองได้ดียิ่งขึ้น
(๒) การสรรหาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่าง ๆ เพื่อจะได้มีผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ และหลากหลาย
ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาจำนวนแปดสิบสี่คน ซึ่งจะทำให้สมาชิกวุฒิสภามีความครบถ้วนในองค์
ประกอบที่มาจากบุคคลในพื้นที่จังหวัดและบุคคลที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ
ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่น ๆ ในสังคม และสามารถใช้ความรู้ที่มีความหลากหลายนั้นดำเนินการ
ตามอำนาจหน้าที่ได้โดยคำนึงถึงบุคคลทุกกลุ่มที่มีอยู่ในสังคม
องค์ประกอบที่มีความครบถ้วนเช่นนี้จะกระทำมิได้ ถ้าใช้ระบบเลือกตั้งแบบเดิม และหน้าที่ของ
วุฒิสภาได้กำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาจึงแตกต่างจากสมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎร โดยต้องการผู้ที่เป็นกลางและมีความรู้เป็นหลัก มิใช่ผู้ที่เสนอนโยบายการบริหารประเทศและรับผิด
ชอบในทางการเมือง
(ยังมีต่อ)