จากรายงานภาวะเศรษฐกิจเดือน พฤษภาคม ปี 2557 ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณขยายตัวรวมถึงการส่งออกไปประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกในภาพรวมฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าจากผลของราคาสินค้าเกษตรและอุปสงค์จากภูมิภาคเอเชียที่ยังอ่อนแอ ส่วนภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากสถานการณ์การชุมนุมและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาพลังงานและอาหารสำเร็จรูป การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลการค้าเกินดุล ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศของบริษัทต่างชาติและรายรับจากการท่องเที่ยวที่ลดลงขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติและการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทยโดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล
อย่างไรก็ตามการใช้พลังงานยังคงเพิ่มขึ้นทุกสาขาเศรษฐกิจโดยพบว่าสาขาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม บ้านอยู่อาศัย สาขาธุรกิจการค้า และขนส่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ0.8 1.2 1.0 1.4 และ 0.9 ตามลำดับโดยสาขาอุตสาหกรรมยังคงเป็นสาขาที่มีการใช้พลังงานในสัดส่วนที่สูงกว่าสาขาอื่นโดยมีสัดส่วนการใช้ร้อยละ 37.1 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมด รองลงมาเป็นสาขาขนส่ง บ้านอยู่อาศัย ธุรกิจการค้า และเกษตรกรรม โดยมีการใช้ร้อยละ35.4 15.1 7.2 และ5.2 ตามลำดับ
ในช่วง5เดือนแรกของปี2557 ประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานคิดเป็นมูลค่ากว่า598พันล้านบาทโดยมีการนำเข้าน้ำมันดิบมากที่สุดทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในตลาดโลกอยู่ที่ 104.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
จากการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนในประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยลดสัดส่วนการใช้พลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (Energy Intensity) พบว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 ประเทศไทยมีการใช้พลังงานทดแทน 3,637 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนสัดส่วนการใช้พลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง