จากรายงานภาวะเศรษฐกิจเดือนมกราคม 2557 ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าเศรษฐกิจโดยภาพรวมหดตัวจากเดือนก่อนตามภาวะการส่งออก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้น ขณะเดียวกันครัวเรือนและธุรกิจยังระมัดระวังในการใช้จ่าย ส่งผลให้การบริโภค การลงทุน การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงอ่อนแอ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปที่มากขึ้น การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการเกินดุลบริการ ขณะที่รายได้และเงินโอนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงินและการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ ทำให้ในภาพรวมดุลการชำระเงินเกินดุล
อย่างไรก็ตามการใช้พลังงานยังคง เพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ โดยพบว่า สาขาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม บ้านอยู่อาศัย สาขาธุรกิจการค้า และขนส่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 3.0 3.3 4.0 และ 2.0 ตามลำดับ โดยสาขาอุตสาหกรรม ยังคงเป็นสาขาที่มี การใช้พลังงานในสัดส่วนที่สูงกว่าสาขาอื่น โดยมีสัดส่วนการใช้ ร้อยละ 37.1 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมดรองลงมาเป็นสาขาขนส่ง บ้านอยู่อาศัย ธุรกิจการค้า และเกษตรกรรมโดยมีการใช้ ร้อยละ 35.4 15.1 7.2 และ 5.2 ตามลำดับในเดือนแรกของปี 2557 ประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงาน คิดเป็นมูลค่ากว่า 122 พันล้านบาท โดยมีการนำเข้าน้ำมันดิบมากที่สุด ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในตลาดโลกอยู่ที่ 104.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
จากการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนในประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยลดสัดส่วนการใช้พลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (Energy Intensity) พบว่า ในเดือนแรกของปี 2557 ประเทศไทยมีการใช้พลังงานทดแทน 719 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนสัดส่วนการใช้พลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง