สถาบันจัดการเพื่อการพัฒนา (International Institution of Management Development: IMD) ได้จัดลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประทศต่างๆ จำนวน 57 ประเทศ โดยมุ่งเน้นการวัดความสามารถในการสร้างสภาพแวดล้อมต่อการแข่งขันใน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ได้แก่
(1) ศักยภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประกอบด้วย เศรษฐกิจในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ การจ้างงาน และระดับราคา
(2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประกอบด้วย การคลังภาครัฐ นโยบายการคลังกรอบการบริหารด้านสถาบัน กฎหมายด้านธุรกิจ และกรอบการบริหารด้านสังคม
(3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ประกอบด้วย ผลิตภาพการผลิต ตลาดแรงงาน ตลาดเงิน การบริหารจัดการ ทัศนคติและค่านิยม
(4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ประกอบด้วยสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา
ทั้งนี้ IMD ได้รายงานปัจจัยสำคัญ 9 ปัจจัยองค์ประกอบย่อยที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้น พบว่า เป็นผลมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ 2 ปัจจัย ได้แก่ การค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนระหว่างประเทศ ประสิทธิภาพภาครัฐ 3 ปัจจัย ได้แก่ ฐานะการคลัง กรอบการบริหารด้านสถาบัน และกรอบการบริหารด้านสังคม) ด้านประสิทธิภาพของภาคเอกชน 3 ปัจจัย ได้แก่ การเงิน การบริหารจัดการ และทัศนคติและค่านิยม และด้านโครงสร้างพื้นฐาน 1 ปัจจัย ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี
ส่วนปัจจัยสำคัญ 7 ปัจจัยที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง พบว่า เป็นผลมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ (1 ปัจจัย ได้แก่ ระดับราคา) ประสิทธิภาพภาครัฐ (1 ปัจจัยได้แก่ นโยบายการคลัง) ประสิทธิภาพของภาคเอกชน (2 ปัจจัย ได้แก่ ผลิตภาพ/ประสิทธิภาพ และตลาดแรงงาน) และ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (3 ปัจจัย ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพและสิ่งแวดล้อม และการศึกษา)
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากปัจจัยด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ ในปี 2009 พบว่า ไม่ส่งผลเชิงบวกและเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากอันดับความสามารถในการแข่งขันยังคงเดิมคืออยู่ในอันดับที่ 25 ดังนั้น หากภาคเอกชนของไทยสามารถเสริมสร้างศักยภาพด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินกิจการ ก็จะช่วยให้ความสามารถของภาคเอกชน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมปรับเพิ่มสูงขึ้น
ความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งหลายประเทศ
แม้ว่าความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจะปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น แต่การเพิ่มดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคู่แข่งหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ที่ความสามารถในหลายๆ ด้านอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ด้านประสิทธิภาพของภาคเอกชน และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาขีดความสามารถของไทยในแต่ละด้านในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีจุดด้อยด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยอันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทยอยู่ในระดับต่ำมาตลอด ดังนั้นประเทศไทยจึงควรเร่งพัฒนาความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ สาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สุขภาพและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือการศึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และเศรษฐกิจโดยรวม
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2552 ได้ผ่านพ้นไปก็ด้วยมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลทั่วโลก อย่างไรก็ตามแม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 จะมีความชัดเจนแต่ยังมีความเปราะบางและเป็นการเติบโตอย่างช้า ๆ เนื่องจากระบบการเงินยังอ่อนแอ ปัญหาการว่างงาน และตลาดเงินโลกที่มีความผันผวนเนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกิน ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศเอเชีย และอาเซียนจะมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามยังมีอีกปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไปก็อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวและเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ เศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะปรับตัวดีขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นจากวิกฤติเมื่อปีที่ผ่านมา ประกอบกับการส่งออกที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โครงการไทยเข้มแข็งที่มีวงเงินงบประมาณถึง 3.5 แสนล้านบาท ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้น จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ ความเปราะบางและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ปัญหามาบตาพุด ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจได้เต็มที่ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุนและนักท่องเที่ยว ในปี 2553 อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อการส่งออกและความสามารถในการแข่งขัน ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ต่อน้ำมันจะเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ที่กล่าวมาล้วนมีผลกระทบต่ออันดับขีดความสามารถในการแข่งขันในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจในระยะต่อไป
--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--