บทวิเคราะห์: ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 29, 2010 14:58 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

สถาบันพัฒนาการบริหารจัดการระหว่างประเทศ (International Institution of Management Development: IMD) ได้จัดลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประทศต่างๆ ในปี 2010 จำนวน 58 ประเทศ โดยมุ่งเน้นการวัดความสามารถในการสร้างสภาพแวดล้อมต่อการแข่งขันใน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ได้แก่

(1) ศักยภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประกอบด้วย เศรษฐกิจในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ การจ้างงาน และระดับราคา

(2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประกอบด้วย การคลังภาครัฐ นโยบายการคลังกรอบการบริหารด้านสถาบัน กฎหมายด้านธุรกิจ และกรอบการบริหารด้านสังคม

(3) ประสิทธิภาพของภาคเอกชน (Business Efficiency) ประกอบด้วย ผลิตภาพการผลิต ตลาดแรงงานตลาดเงิน การบริหารจัดการ ทัศนคติและค่านิยม

(4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ประกอบด้วยสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา

ทั้งนี้ IMD ได้รายงานปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศ การจ้างงาน และระดับราคา
  • ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ ได้แก่ ฐานะการคลัง นโยบายการคลัง และกฎหมายด้านธุรกิจ
  • ด้านประสิทธิภาพของภาคเอกชน ได้แก่ ผลิตภาพและประสิทธิภาพ ตลาดแรงงาน การเงิน และการบริหารจัดการ
  • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ สาธารณูปโภคพื้นฐาน

ส่วนปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ความสามารในการแข่งขันลดลง ได้แก่

  • ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ ได้แก่ กรอบการบริหารด้านสถาบัน และกรอบการบริหารด้านสังคม
  • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ปัจจัยที่ไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่
  • ด้านประสิทธิภาพภาคเอกชน ได้แก่ ทัศนคติและค่านิยม
  • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และการศึกษา

ดังนั้น หากมีการดูแลรื่องกรอบการบริหารด้านสถาบัน กรอบการบริหารด้านสังคม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่อันดับตกลงมาก และการศึกษา น่าจะช่วยทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น

ความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งหลายประเทศ

แม้ว่าความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น แต่การทรงตัวนี้ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคู่แข่งหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง จีน และมาเลเซีย ที่ความสามารถในหลายๆ ด้านอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ด้านประสิทธิภาพของภาคเอกชน และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาขีดความสามารถของไทยในแต่ละด้านในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีจุดด้อยด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยอันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทยอยู่ในระดับต่ำมาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้นประเทศไทยจึงควรเร่งพัฒนาความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้แก่สาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สุขภาพและสิ่งแวดล้อม การศึกษา และที่สำคัญ คือ การให้ความสำคัญต่อปัญหาความแตกแยกของสังคม เสถียรภาพทางการเมือง ความโปร่งใส และการแทรกแซงของการเมือง น่าจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในอนาคต

ความสามารถในการแข่งขันของไทยเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน

พิจารณาจากอันดับปัจจัยหลักของไทยเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนพบว่า อันดับของไทย ดีกว่าอันดับของอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ในทุกๆด้าน ในขณะที่อันดับของสิงคโปร์ ดีกว่าไทยในทุกๆ ด้านเช่นกัน

สำหรับประเทศคู่แข่งของไทย เช่น มาเลเซีย ในปี 2010 พบว่า อันดับของมาเลเซียด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจ เท่านั้นที่ไทยดีกว่า แต่อันดับก็ใกล้เคียงกันมาก แต่ปัจจัยที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ด้านประสิทธิภาพของภาคเอกชน และด้านโครงสร้างพื้นฐาน มาเลเซียทิ้งห่างไทยไปมาก ดังนั้นการให้ความสำคัญกับเกณฑ์ตัวชี้วัดทั้ง 3 ด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน น่าจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยขยับขึ้นได้ในอนาคต

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ