หลักการและเหตุผล
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ได้เปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำบุญของพุทธศาสนิกชน จากกลุ่มตัวอย่างชาวพุทธทั่วประเทศจำนวน 310 ราย พบว่าชาวพุทธเคยสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำ ร้อยละ 30.66 เป็นบางครั้ง ร้อยละ 54.26 ไม่เคยปฏิบัติร้อยละ 15.09ที่น่าสนใจ คือ หัวข้อการทำบุญตักบาตร พบว่า มีชาวพุทธไม่เคยทำบุญตักบาตรถึงร้อยละ 25.79ปฏิบัติประจำ ร้อยละ 10.22 เมื่อมีโอกาส ร้อยละ 18.73 ปฏิบัติเฉพาะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาร้อยละ 45.26 สำหรับศีลข้อที่รักษายากที่สุด คือ ศีลข้อ 1 ร้อยละ 31.39 รองลงมาข้อ 5 ร้อยละ 28.47 *จากผลวิจัยดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีความเร่งรีบ ปัญหาสังคมที่มีความรุนแรงมากขึ้น ดังเห็นได้จากข่าวสารทางสื่อมวลชนต่างๆ เช่น ปัญหาทะเลาะวิวาทปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติด ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้นหากปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อไป จะส่งผลให้เกิดความเสื่อมถอยทางคุณธรรมจริยธรรม และอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้สังคมไทยก้าวไปสู่จุดวิกฤตได้ ดังนั้นคุณธรรมจริยธรรมจึงเป็นสิ่งทิ่สำคัญสำหรับทุกคนในสังคมที่จำเป็นต้องรับการปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย เพราะเป็นช่วงเวลาที่สามารถเรียนรู้และได้รับการปลูกฝังความคิดที่ถูกต้องได้ง่าย โดยเฉพาะระดับประถมศึกษา หากได้รับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีตั้งแต่เด็ก จะส่งผลให้เติบโตเป็นคนดีในสังคม เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต
บทวิเคราะห์/แนวคิด
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจการดำเนินงานด้านศาสนา โดยมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่หลักคำสอนทางศาสนา ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการ นำหลักธรรมทางศาสนามาพัฒนาศีลธรรม คุณธรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญ การส่งเสริมให้มีการอบรมคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาทั่วประเทศจึงเป็นอีกแนวทาง ที่ช่วยเสริมสร้างเด็กและเยาวชนให้มีจิตสำนึกที่ดีงาม มีคุณธรรมนำความรู้ สามารถนำหลักธรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
การส่งเสริมการอบรมคุณธรรมจริยธรรมนั้น กรมการศาสนาจะเน้นนโยบายเชิงสนับสนุนเป็นหลัก โดยเปิดโอกาสให้ทางโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมเองโดยใช้งบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษา ชุมชนในท้องถิ่น ทั้งนี้กรมการศาสนาจะสนับสนุนในด้านสื่อและองค์ความรู้เป็นหลัก พร้อมเผยแพร่กิจกรรมของทางโรงเรียนผ่านช่องทางสื่อของกรมการศาสนาพร้อมกับเน้นสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับสถานศึกษา โดยเชิญผู้บริหารสถานศึกษาและนักเรียน เข้าร่วมงานสำคัญๆ ของกรมการศาสนา เช่น โครงการวันมาฆบูชา โครงการวันวิสาขบูชา โครงการวันอาสาฬบูชาและวันเข้าพรรษา โครงการวันธรรมสวนะ โครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และ ฯลฯ ขณะเดียวกัน ทางกรมจะทำหนังสือขอความร่วมมือเครือข่ายของกรมการศาสนา อาทิ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เชิญชวนสถานศึกษาระดับประถมศึกษาร่วมงานกิจกรรมต่างๆ ที่ทางหน่วยงานจัดขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคย สัมพันธภาพที่ดีระหว่างโรงเรียนกับหน่วยงาน
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การจัดอบรมคุณธรรมจริยธรรมแพร่หลายในสถานศึกษา คือการทำให้สถานศึกษาตระหนักว่าการอบรมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก มีวิธีที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องยึดรูปแบบตายตัว สามารถจัดอบรมครั้งละ 1 ชั่วโมง, ครึ่งวัน หรือทั้งวันก็ได้เนื่องจากเด็กระดับชั้นประถมศึกษา ยังเป็นเด็กเล็ก จึงอาจอนุโลมการจัดอบรมคุณธรรมจริยธรรมแบบไม่ต้องค้างคืนได้ ซึ่งบางครั้งการจัดกิจกรรมอาจไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเลย ภายใต้แนวคิดธรรมะอยู่รอบตัว สามารถสอดแทรกเรื่องคุณธรรมจริยธรรมได้ทุกชั่วโมงการสอน โดยครูสามารถมีส่วนร่วมและสนุกสนานเพลิดเพลินกับการจัดกิจกรรมพร้อมกับเด็กได้
ข้อเสนอแนะ
แนวทางการส่งเสริมให้จัดกิจกรรมอบรมคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนที่กรมการศาสนาสามารถดำเนินการได้ดังนี้ คือ
1. ส่งเสริมให้สถานศึกษาใช้วันพระ เป็นวันอบรมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยให้สถานศึกษานิมนต์พระสงฆ์จากวัดใกล้โรงเรียน มาบรรยายธรรมหน้าเสาธงพร้อมฝึกปฏิบัติธรรมจากพระสงฆ์ตามเวลาที่เหมาะสม โดยใช้วันพระเป็นช่องทางการจัดกิจกรรมอบรมคุณธรรม เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนได้เห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาและนำแนวทางที่ดีงามไปปฏิบัติ เพื่อซึมซับแบบอย่างวิถีชาวพุทธไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันปัจจุบันโรงเรียนแจ้งวิทยา จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ส่งเสริมการจัดกิจกรรมดังกล่าว ทุกวันพระ นักเรียน 3,000 คน และครูทุกคนจะพร้อมใจแต่งกายด้วยเครื่องแบบสีขาวพร้อมเตรียมดอกไม้และอาหารจากบ้านเพื่อนำมาถวายพระ ทั้งนี้ทางโรงเรียนจะนิมนต์พระสงฆ์มาที่โรงเรียน 5 รูปเพื่อประกอบพิธีส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา มีการรับศีลและฟังธรรมเทศนาถวายสังฆทานตามแบบชาวพุทธ โดยทางโรงเรียนได้รับความร่วมมือในการจัดกิจกรรมอย่างดีทั้งจาก นักเรียนครู และผู้ปกครอง* ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับโครงการเข้าวัดวันธรรมสวนะของกรมการศาสนา ที่ส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด พร้อมองค์กรเครือข่ายและชุมชน ร่วมกิจกรรมทุกวันธรรมสวนะ โดยกรมการศาสนามีการหมุนเวียนไปจัดกิจกรรมตามวัดต่างๆหากส่งเสริมให้สถานศึกษายึดวันพระ เป็นวันจัดกิจกรรมอบรมคุณธรรมจริยธรรมแล้ว นอกจากจะมีส่วนช่วยปลุกจิตสำนึกให้ตระหนักและเห็นคุณค่าของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว การได้เห็นแบบอย่างที่ดี จริยวัตรที่งดงามของพระสงฆ์แล้ว จะเป็นกระตุ้นให้เยาวชนเกิดแรงศรัทธาที่จะรักษาและสืบทอดกิจกรรมชาวพุทธที่ดีงามให้คงอยู่สืบไป
2. ส่งเสริมให้สถานศึกษานิมนต์พระมาบรรยายธรรมทุกวันศุกร์ ตามเวลาที่เหมาะสมโดยสามารถนิมนต์พระจากวัดใกล้โรงเรียน, พระจากศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์,พระธรรมวิทยากร เป็นต้น
3. ส่งเสริมให้สถานศึกษานำเด็กและเยาวชน ฝึกนั่งสมาธิ ยืนสมาธิ วันละ 1 นาที ก่อนเรียนชั่วโมงแรกทุกวัน เพื่อเป็นการปลูกฝังเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้การปฏิบัติธรรม กระตุ้นเด็กให้ความร่วมมือในกิจกรรม โดยเน้นแค่ 1 นาทีจิตใจสงบ บุญก็เกิดขึ้นแล้ว
4. ส่งเสริมให้ครูในสถานศึกษาจัดกิจกรรมร้องเพลงธรรมะทุกวัน โดยอาจเลือกช่วงบ่ายหลังจากพักรับประทานอาหารเที่ยงแล้ว เด็กมักรู้สึกง่วง โดยครูอาจใช้วิธีเปิดเพลงประกอบ เพื่อให้เด็กร่วมร้องตามวันละไม่เกิน 5 นาที โดยเน้นเพลงที่ไม่ช้าเกินไปนัก หลังจากร่วมร้องเพลงจบแล้ว ให้ครูตั้งคำถามกับเด็กและเยาวชนทุกครั้งว่า เพลงนี้มีเนื้อหาสื่อถึงอะไร ได้หลักธรรมอะไรจากการฟังบ้าง เราควรนำมาปฏิบัติในชีวิตอย่างไรเพื่อเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักคิด กล้าแสดงออก และเป็นช่องทางปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนโดยใช้เพลงเป็นสื่อกลาง
5. จัดทำหนังสือแนวทางการจัดกิจกรรมอบรมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนเผยแพร่ไปยังสถานศึกษาต่างๆ
6. จัดทำทะเบียนรายชื่อศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์, และทำเนียบพระวิทยากรจัดส่งให้กับสถานศึกษา เพื่อเป็นทางเลือกให้สถานศึกษาได้ติดต่อพระวิทยากรในการจัดกิจกรรมอบรมคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชน
7. จัดส่งหนังสือแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม ให้กับสถานศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้สถานศึกษา จัดกิจกรรมสอดคล้องกับโครงการของกรมการศาสนา
8. จัดส่งสื่อส่งเสริมคุณธรรม เช่น สมุดประจำตัวพุทธมามกะ, คู่มือสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ(ฉบับนักเรียน)ฯลฯ ให้กับสถานศึกษา โดยเปิดโอกาสให้ดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลสื่อดังกล่าวได้จากเวบไซด์กรมการศาสนา เพื่อให้ทางโรงเรียนนำไปต่อยอดผลิตสื่อเพื่อใช้ในโรงเรียน
9. เผยแพร่ภาพกิจกรรมอบรมคุณธรรมจริยธรรมของทางโรงเรียน ผ่านช่องทางสื่อของกรมการศาสนาเช่น รายการเมืองไทยเมืองคนดี, วารสารสายตรงศาสนา, รายการสารธรรมเพื่อเป็นการกระตุ้นให้สถานศึกษาเห็นความสำคัญของการอบรมคุณธรรมจริยธรรม
10. จัดส่งเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา ศึกษาดูงานโรงเรียนแจ้งวิทยา จังหวัดสงขลาพร้อมประชุมร่วมกับผู้บริหารโรงเรียน เพื่อศึกษาแนวคิดวิธีการดำเนินงานการจัดกิจกรรมในวันพระของทางโรงเรียนปัจจัยความสำเร็จของโครงการ ปัญหาและอุปสรรค รวบรวบเป็นข้อมูลเป็นกรณีศึกษา เพื่อจัดทำ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. สถานศึกษาระดับประถมศึกษามีความสนใจในการอบรมคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชน
2. กระตุ้นให้สถานศึกษาจัดอบรมคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนอย่างแพร่หลาย
3. เป็นแนวทางศึกษาให้แก่ผู้สนใจด้านการอบรมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน
ต้วชี้วัดความสำเร็จ
1. สถานศึกษาระดับประถมศึกษา สามารถจัดกิจกรรมอบรมเยาวชนเด็กและเยาวชนภายใต้บริบทความพร้อมขององค์กร
2. สถานศึกษานำแนวทางไปประยุกต์ใช้จัดกิจกรรมอบรมเด็กและเยาวชนตามความเหมาะสม