เกษตรอินทรีย์คือ ระบบการเกษตรที่ผลิตอาหารและเส้นใย ด้วยความยั่งยืนทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นหลักที่การปรับปรุงบำรุงดิน การเคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และนิเวศการเกษตร เกษตรอินทรีย์ลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรอินทรีย์พยายามประยุกต์กลไกและวัฏจักรธรรมชาติในการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาความต้านทานต่อโรคของพืชและสัตว์เลี้ยง หลักการเกษตรอินทรีย์นี้เป็นหลักการสากลที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย
แนวคิด
แนวคิดพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์ คือ การบริหารจัดการการผลิตทางการเกษตรแบบองค์รวม ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนจากการเกษตรแผนใหม่ที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งสูงสุดโดยการพัฒนาเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการให้ธาตุอาหารพืชและป้องกันกำจัดสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาจมีผลในการทำให้พืชที่ปลูกมีผลผลิตลดลงแนวคิดเช่นนี้เป็นแนวคิดแบบแยกส่วน เพราะแนวคิดนี้ตั้งอยู่บนฐานการมองว่าการเพาะปลูกไม่ได้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศดังนั้นการเลือกชนิดและวิธีการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ มุ่งเฉพาะแต่การประเมินประสิทธิผลต่อพืชหลักที่ปลูก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรการเกษตรหรือนิเวศการเกษตร สำหรับเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นการเกษตรแบบองค์รวมจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน การรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของฟาร์ม ทั้งนี้เพราะแนวทางเกษตรอินทรีย์อาศัยกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศในการทำการผลิต ดังนั้นเกษตรอินทรีย์จะประสบความสำเร็จได้เกษตรกรจำเป็นต้องเรียนรู้กลไกและกระบวนการของระบบนิเวศ
จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เกษตรอินทรีย์จึงปฏิเสธการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี เนื่องจากสารเคมีการเกษตรเหล่านี้มีผลกระทบต่อกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศ นอกเหนือจากการปฏิเสธการใช้สารเคมีการเกษตรแล้ว เกษตรอินทรีย์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของวงจรของธาตุอาหาร การประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์ระบบนิเวศการเกษตร และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือได้ว่าเกษตรอินทรีย์เป็นการบริหารจัดการฟาร์มเชิงบวก(Positive Management) และการจัดการเชิงบวกนี้เองที่ทำให้เกษตรอินทรีย์แตกต่างอย่างสำคัญจากการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีแบบปล่อยปะละเลย (ที่มักอ้างว่า เป็นการเกษตรตามแบบธรรมชาติ) หรือเกษตรปลอดสารเคมีและเกษตรไร้สารพิษที่เฟื่องฟูในบ้านเรามานานหลายปี
เนื่องจากเกษตรอินทรีย์เป็นการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับการทำฟาร์มเชิงสร้างสรรค์ (เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตรในไร่นา)ดังนั้น เกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นต้องพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและการบริหารจัดการฟาร์มของตนเพิ่มขึ้นด้วย ผลที่ตามมาก็คือเกษตรอินทรีย์จึงเป็นแนวทางการเกษตรที่ตั้งอยู่บนกระบวนการแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญา เพราะเกษตรกรต้องสังเกต ศึกษาวิเคราะห์-สังเคราะห์ และสรุปบทเรียนเกี่ยวกับการทำการเกษตรของฟาร์มตนเอง ซึ่งจะมีเงื่อนไขทั้งทางกายภาพ เช่น ลักษณะของดินภูมิอากาศ และภูมินิเวศ รวมถึงเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น เพื่อคัดสรรและพัฒนาแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่เฉพาะและเหมาะสมกับฟาร์มของตัวเองอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ เกษตรอินทรีย์ยังให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ผลิตและชุมชนท้องถิ่นเกษตรอินทรีย์มุ่งหวังที่จะสร้างความมั่นคงในการทำการเกษตรสำหรับเกษตรกร ตลอดจนอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรรม วิถีการผลิตของเกษตรอินทรีย์เป็นวิถีการผลิตที่เกษตรกรต้องอ่อนน้อมและเรียนรู้ในการดัดแปลงการผลิตของตนให้เข้ากับวิถีธรรมชาติ อาศัยกลไกธรรมชาติเพื่อทำการเกษตร ดังนั้น วิถีการผลิตเกษตรอินทรีย์จึงเป็นวิถีแห่งการเคารพและพึ่งพิงธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกลมกลืนกับวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรพื้นบ้านของสังคมไทย
แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรอินทรีย์ก็ไม่ได้ปฏิเสธการผลิตเพื่อการค้าเพราะตระหนักว่าครอบครัวเกษตรกรส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพาการจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นรายได้ในการดำรงชีพ ขบวนการเกษตรอินทรีย์พยายามส่งเสริมการทำการตลาดผลผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และระหว่างประเทศ โดยการตลาดท้องถิ่นอาจมีรูปแบบที่หลากหลายตามแต่เงื่อนไขทางสภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้น เช่น ระบบชุมชนสนับสนุนการเกษตร (Community Support Super Mai Agriculture -CSSMA) หรือระบบอื่นๆ ซึ่งมาจากประเทศใดในโลก ที่มีหลักการในลักษณะเดียวกันส่วนตลาดที่ห่างไกลออกไปจากผู้ผลิต ขบวนการเกษตรอินทรีย์ได้พยายามพัฒนามาตรฐานการผลิตและระบบการตรวจสอบรับรองที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่าทุกขั้นตอนของการผลิต แปรรูป และการจัดการนั้นเป็นการทำงานที่พยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรักษาคุณภาพของผลผลิตให้เป็นธรรมชาติเดิมมากที่สุด
โดยสรุปจะเห็นว่า เกษตรอินทรีย์เป็นระบบเกษตรที่มีลักษณะเป็นองค์รวม ที่ให้ความสำคัญในเบื้องต้นกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจเพราะความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่อาจดำรงอยู่ได้ โดยแยกออกจากความยั่งยืนทางสังคมและเศรษฐกิจของเกษตรกร
หลักการเกษตรอินทรีย์
หลักการสำคัญ 4 ข้อของเกษตรอินทรีย์ คือ สุขภาพนิเวศวิทยา ความเป็นธรรม และการดูแลเอาใจใส่ (Health,Ecology, Fairness and Care)
(1) มิติด้านสุขภาพ เกษตรอินทรีย์ควรจะต้องส่งเสริมและสร้างความยั่งยืนให้กับสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมของดิน พืช สัตว์ มนุษย์ และโลก
สุขภาวะของสิ่งมีชีวิตแต่ละปัจเจกและของชุมชน เป็นหนึ่งเดียวกันกับสุขภาวะของระบบนิเวศ การที่ผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์จะทำให้พืชพรรณต่างๆ แข็งแรง มีสุขภาวะที่ดี ส่งผลต่อสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ที่อาศัยพืชพรรณเหล่านั้นเป็นอาหาร
สุขภาวะเป็นองค์รวมและเป็นปัจจัยที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตการมีสุขภาวะที่ดีไม่ใช่การปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่รวมถึงภาวะแห่งความเป็นอยู่ที่ดีของกายภาพ จิตใจ สังคม และสภาพแวดล้อมโดยรวม ความแข็งแรง ภูมิต้านทาน และความสามารถในการฟื้นตัวเองจากความเสื่อมถอยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสุขภาวะที่ดี
บทบาทของเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในไร่นาการแปรรูป การกระจายผลผลิต หรือการบริโภค ต่างก็มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กสุดในดินจนถึงตัวมนุษย์เราเอง เกษตรอินทรีย์จึงมุ่งที่จะผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อสนับสนุนให้มนุษย์ได้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้เกษตรอินทรีย์จึงเลือกที่จะปฏิเสธการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เวชภัณฑ์สัตว์ และสารปรุงแต่งอาหาร ที่อาจมีอันตรายต่อสุขภาพ
(2) มิติด้านนิเวศวิทยา เกษตรอินทรีย์ควรจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของระบบนิเวศวิทยาและวัฏจักรแห่งธรรมชาติ การผลิตการเกษตรจะต้องสอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ และช่วยทำให้ระบบและวัฏจักรธรรมชาติเพิ่มพูนและยั่งยืนมากขึ้น
หลักการเกษตรอินทรีย์ในเรื่องนี้ตั้งอยู่บนกระบวนทัศน์ที่มองเกษตรอินทรีย์ในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของระบบนิเวศที่มีชีวิต ดังนั้น การผลิตการเกษตรจึงต้องพึ่งพาอาศัยกระบวนการทางนิเวศวิทยาและวงจรของธรรมชาติ โดยการเรียนรู้และสร้างระบบนิเวศสำหรับให้เหมาะสมกับการผลิตแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของการปลูกพืช เกษตรกรจะต้องปรับปรุงดินให้มีชีวิต หรือในการเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรจะต้องใส่ใจกับระบบนิเวศโดยรวมของฟาร์ม หรือในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรกรต้องใส่ใจกับระบบนิเวศน์ของบ่อเลี้ยง การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า จะต้องสอดคล้องกับวัฎจักรและสมดุลทางธรรมชาติแม้ว่าวัฎจักรธรรมชาติจะเป็นสากล แต่อาจจะมีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นนิเวศได้ ดังนัน การจัดการเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขท้องถิ่น ภูมินิเวศ วัฒนธรรม และเหมาะสมกับขนาดของฟาร์ม เกษตรกรควรใช้ปัจจัยการผลิตและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการใช้ซ้ำ การหมุนเวียน เพื่อที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนฟาร์มเกษตรอินทรีย์ควรสร้างสมดุลของนิเวศน์การเกษตรโดยการออกแบบระบบการทำฟาร์มที่เหมาะสม การฟื้นฟูระบบนิเวศท้องถิ่น และการสร้างความหลากหลายทั้งทางพันธุกรรมและกิจกรรมทางการเกษตร ผู้คนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การแปรรูป การค้า และการบริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์ควรช่วยกันในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของภูมินิเวศ สภาพบรรยากาศนิเวศท้องถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพ อากาศ และน้ำ
(3) มิติด้านความเป็นธรรม เกษตรอินทรีย์ควรจะตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่มีความเป็นธรรมระหว่างสิ่งแวดล้อมโดยรวมและสิ่งมีชีวิต
ความเป็นธรรมนี้รวมถึงความเท่าเทียม การเคารพ ความยุติธรรม และการมีส่วนในการปกปักษ์พิทักษ์โลกที่เราอาศัยอยู่ ทั้งในระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ในหลักการด้านนี้ ความสัมพันธ์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและการจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในทุกระดับควรมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นธรรม ทั้งเกษตรกร คนงาน ผู้แปรรูป ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้า และผู้บริโภค ทุกผู้คนควรได้รับโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนช่วยในการรักษาอธิปไตยทางอาหาร และช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน เกษตรอินทรีย์ควรมีเป้าหมายในการผลิตอาหารและผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ที่เพียงพอ และมีคุณภาพที่ดี
ในหลักการข้อนี้หมายรวมถึงการปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสภาพการเลี้ยงให้สอดคล้องกับลักษณะและความต้องการทางธรรมชาติของสัตว์ รวมทั้งดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของสัตว์อย่างเหมาะสม
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่นำมาใช้ในการผลิตและการบริโภคควรจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรม ทั้งทางสังคมและทางนิเวศวิทยา รวมทั้งต้องมีการอนุรักษ์ปกป้องให้กับอนุชนรุ่นหลัง ความเป็นธรรมนี้จะรวมถึงว่า ระบบการผลิต การจำหน่าย และการค้าผลผลิตเกษตรอินทรีย์จะต้องโปร่งใส มีความเป็นธรรม และมีการนำต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาเป็นต้นทุนการผลิตด้วย
(4) มิติด้านการดูแลเอาใจใส่ การบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ควรจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบ เพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งในปัจจุบันและอนาคตรวมทั้งพิทักษ์ปกป้องสภาพแวดล้อมโดยรวมด้วย
เกษตรอินทรีย์เป็นระบบที่มีพลวัตรและมีชีวิตในตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ควรดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตในการผลิต แต่ในขณะเดียวกันจะต้องระมัดระวังอย่าให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ จะต้องมีการประเมินผลกระทบอย่างจริงจังและแม้แต่เทคโนโลยีที่มีการใช้อยู่แล้ว ก็ควรจะต้องมีการทบทวนและประเมินผลกันอยู่เนืองๆ ทั้งนี้เพราะมนุษย์เรายังไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างดีพอเกี่ยวกับระบบนิเวศการเกษตร ที่มีความสลับซับซ้อนดังนั้น เราจึงต้องดำเนินการต่างๆ ด้วยความระมัดระวังเอาใจใส่ในหลักการนี้ การดำเนินการอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการ การพัฒนา และการคัดเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในเกษตรอินทรีย์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจว่า เกษตรอินทรีย์นั้นปลอดภัยและเหมาะกับสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ประสบการณ์จากการปฏิบัติ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะสมถ่ายทอดกันมาก็อาจมีบทบาท
ในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้เช่นกัน เกษตรกรและผู้ประกอบการควรมีการประเมินความเสี่ยง และเตรียมการป้องกันจากนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ และควรปฏิเสธเทคโนโลยีที่มีความแปรปรวนมาก เช่นเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม การตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีต่างๆ จะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและระบบคุณค่าของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ และจะต้องมีการปรึกษาหารืออย่างโปร่งใสและมีส่วนร่วม
ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์
จากรายงานการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ. 2543 พบว่าประเทศไทยมีเนื้อที่ทำการเกษตรอันดับที่ 48 ของโลก แต่ใช้ยาฆ่าแมลงอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าอันดับ 4 ของโลก ใช้ฮอร์โมนอันดับที่ 4 ของโลก ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรเป็นเงินปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท เกษตรกรต้องซื้อปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์เพื่อใช้ในการเพาะปลูกซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตทางตรงที่เกษตรกรต้องแบกรับ ส่งผลให้ต้องมีการลงทุนต่อไร่สูงและต้องใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาผลผลิตไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นตามสัดส่วนของต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนเรื้อรัง มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น เกษตรอินทรีย์จะเป็นหนทางของการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
การเกษตรสมัยใหม่ หรือเกษตรเชิงเดี่ยวก่อให้เกิดปัญหาทางการเกษตรมากมาย ดังนี้
1. ความอุดมสมบูรณ์ของดินถูกทำลายต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารในดิน
2. ต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงจะได้รับผลผลิตเท่าเดิม
3. เกิดปัญหาโรคและแมลงระบาด ทำให้เพิ่มความยุ่งยากในการป้องกันและกำจัด
4. แม่น้ำและทะเลสาบถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมี และความเสื่อมโทรมของดิน
5. พบสารเคมีปนเปื้อนในผลผลิตเกินปริมาณเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้เกิดภัยจากสารพิษสะสมในร่างกายของผู้บริโภค
6. เกิดความไม่สมดุลของระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมถูกทำลายเสียหายจนยากจะเยียวยาให้กลับมาคืนดังเดิม
นอกจากนั้น การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการเลี้ยงสัตว์จำนวนมากในพื้นที่จำกัด ทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย จึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมาก และต่อเนื่องทำให้มีสารตกค้างในเนื้อสัตว์และไข่ ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาวจึงเป็นเสมือนสัญญาณอันตรายที่บอกให้รู้ว่า การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมไม่เพียงเป็นการทรมานสัตว์ แต่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของมนุษย์ด้วย
ชาอินทรีย์ คืออะไร
ชาอินทรีย์ คือ การปลูกชาแบบเกษตรธรรมชาติ หรือการปลูกชาโดยไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี แต่ใช้วัสดุจากธรรมชาติแทนเพื่อลดพิษภัยที่อาจเกิดจากสารเคมี ทั้งในดิน ในน้ำ ในอากาศและในผลผลิต แนวทางเลือกในการปลูกชาอินทรีย์ มีข้อแนะนำการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ดังนี้
ปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ยอินทรีย์ที่แนะนำ มีดังนี้
ปุ๋ยพืชสด
สิ่งที่เกษตรกรคุ้นเคยมากในการเพิ่มผลผลิตก็คือ การใช้ปุ๋ยเคมี แต่การใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการเพิ่มอินทรีย์ให้แก่ดิน จะทำให้ดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปอย่างรวดเร็ว ดินจะไม่ร่วนซุย ดูดซับน้ำและอาหารพืชได้น้อยลง ทำให้การปลูกพืชไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร การเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินทำได้โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งมีหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่ การใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเป็นต้น แต่มีข้อจำกัด คือ ต้องใช้ในปริมาณมากต่อไร่ ไม่สะดวกแก่การขนย้ายปุ๋ย และหาได้ไม่เพียงพอ ดังนั้น วิธีการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินอีกวิธีหนึ่งที่มีการปฏิบัติงานง่ายก็คือ การใช้ปุ๋ยพืชสด
ปุ๋ยพืชสด คืออะไร
ปุ๋ยพืชสด คือ ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการไถกลบต้น ใบและส่วนต่างๆ ของพืช โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว ในระยะช่วงออกดอกซึ่งเป็นส่วนที่มีธาตุอาหารสูงสุด แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เน่าเปื่อยผุพังย่อยสลายเป็นอาหารแก่พืชที่จะปลูกตามมา พืชที่ใช้ปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดได้แก่ โสนอินเดีย ปอเทือง อัญชัน ไมยราบไร้หนาม พืชตระกูลถั่วต่างๆ เป็นต้น
ประโยชน์ของปุ๋ยพืชสด
ประโยชน์ของการใช้ปุ๋ยพืชสดปรับปรุงบำรุงดิน มีดังนี้
1. เพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุในดิน
2. เพิ่มธาตุไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักให้แก่พืช
3. กรดที่เกิดจากผุผังของพืชสด ช่วยละลายธาตุอาหารในดินให้แก่พืชได้มากยิ่งขึ้น
4. บำรุงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน
5. รักษาความชุ่มชื้นในดิน และทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้น
6. ทำให้ดินร่วนซุย สะดวกในการเตรียมดินและไถพรวน
7. ช่วยในการปราบวัชพืชบางชนิดได้เป็นอย่างดี
8. ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้บางส่วน
9. ลดอัตราการสูญเสียอันเกิดจากการชะล้าง
10. เพิ่มผลผลิตของพืชให้สูงขึ้น
ลักษณะทั่วไปของปุ๋ยพืชสด
ลักษณะของพืชที่จะมาทำเป็นปุ๋ยพืชสด
1. ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ระบบรากแข็งแรง ออกดอกในระยะเวลาอันสั้น คือ ประมาณ 30 — 60 วัน
2. สามารถให้น้ำหนักพืชสดสูง ตั้งแต่ 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ขึ้นไป
3. ทนแล้ง และทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล
4. มีความต้านทานต่อโรคและแมลง
5. สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้มาก และขยายพันธุ์ได้เร็วเพื่อให้ทันและเพียงพอต่อความต้องการ เมล็ดงอกง่ายและมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง
6. ทำการเก็บเกี่ยว ตัดสับ และไถกลบได้ง่าย ไม่ควรเป็นเถาเลื้อยมาก เพราะจะทำให้ไม่สะดวกแก่การไถกลบ
7. ลำต้นอ่อน เมื่อไถกลบแล้วเน่าเปื่อยผุพังได้เร็ว และมีธาตุอาหารสูง
การปลูกพืชปุ๋ยสด
ในการปลูกพืชปุ๋ยสดให้ได้ผลดี ควรปฏิบัติดังนี้
1. ลักษณะของดิน ก่อนปลูกควรปรับปรุงสภาพของดินให้เหมาะสม เช่น ถ้าเป็นดินเปรี้ยวควรใส่ปูนลงไปก่อน จะช่วยให้พืชสดเจริญเติบโต และให้น้ำหนักพืชสดสูงด้วย
2. เวลาและฤดูกาลที่ปลูก เวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ ปลูกช่วงต้นฤดูฝน หรือปลูกหลังจากเก็บเกี่ยวพืช ซึ่งความชื้นในดินยังคงมีอยู่ หรือปลูกก่อนการปลูกพืชหลักประมาณ 3 เดือน
3. เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ที่ใช้ปลูกเพื่อไถกลบในพื้นที่ 1 ไร่ควรใช้อัตราเมล็ด ดังนี้ ปอเทือง 5 กก. โสนอินเดีย 3 กก.โสนคางคก 5 กก. โสนไต้หวัน 5 กก. ถั่วพร้า 5 กก. ถั่วเขียว 5 กก.ถั่วหลือง 8 กก. ถั่วพุ่ม 8 กก. ถั่วนา 8 กก. ถั่วลาย 2 กก. ถั่วเสี้ยนป่า2 กก. ไมยราบไร้หนาม 2 กก. ถั่วเว็ลเว็ท 10 กก. คาโลโปโกเนียม2 กก. อัญชัน 3 กก.
วิธีการใช้พืชปุ๋ยสด สามารถแบ่งการใช้ได้ 3 วิธี คือ
1. ปลูกพืชสดในพื้นที่แปลงใหญ่ แล้วทำการตัดสับและไถกลบลงไปในพื้นที่นั้นเลย
2. ปลูกพืชสดแซมในระหว่างร่องพืชหลักที่ทำการปลูก โดยปลูกพืชสดหลังจากพืชหลักเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
3. ปลูกพืชสดในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แล้วตัดสับเอาส่วนของพืชสดนำมาใส่ในแปลงที่ปลูกพืชหลัก และไถกลบลงไปในดิน
การตัดสับและไถกลบพืชสด
การตัดสับและการไถกลบพืชสดนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงอายุของพืชสดเป็นสำคัญ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการตัดสับและไถกลบ ควรทำขณะที่ต้นถั่วเริ่มออกดอก ไปจนถึงระยะออกดอกบานเต็มที่ เนื่องจากในระยะนี้ต้นถั่วเจริญงอกงามสูงสุดเมื่อไถกลบแล้วจะทำให้ปริมาณอินทรีย์วัตถุ และธาตุไนโตรเจนสะสมอยู่ในดินสูงด้วย
ปุ๋ยชีวภาพ
ปุ๋ยชีวภาพ บางครั้งเรียกว่า ปุ๋ยจุลินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ได้จากการนำเอาจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดินและพืชมาเพาะเลี้ยงจำนวนมากๆ และใส่ลงในดินที่จะเพาะปลูกพืช เพื่อให้จุลินทรีย์ที่ต้องการเหล่านี้เจริญเติบโต เพิ่มปริมาณและสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อดินทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ จุลินทรีย์ที่ใช้ในการทำปุ๋ยชีวภาพนั้นมีปลายประเภท เช่น สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เชื้อรา แบคทีเรีย โปรโตซัว เป็นต้น ปุ๋ยชีวภาพสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ปุ๋ยชีวภาพที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และกลุ่มปุ๋ยชีวภาพที่ช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารอื่น
ปุ๋ยชีวภาพที่ตรึงไนโตรเจนในอากาศ
มีจุลินทรีย์หลายชนิดที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้โดยอาศัยอยู่อย่างอิสระในดิน รากพืช หรือในน้ำ เช่น อะโซโตแบคเตอร์สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน และแหนแดง จุลินทรีย์เหล่านี้เมื่อตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาได้ ก็จะปล่อยสารประกอบไนโตรเจนนั้นออกมา ซึ่งพืชที่ปลูกจะได้ใช้ประโยชน์จากสารประกอบไนโตรเจนนี้เป็นธาตุอาหาร
นอกเหนือจากธาตุอาหารไนโตรเจนแล้ว จุลินทรีย์ในกลุ่มสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินยังปล่อยฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช และให้ออกซิเจน ( จากการสังเคราะห์แสง ) ทำให้มีออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการย่อยสลายอินทรียวัตถุอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปุ๋ยชีวภาพอื่น ๆ
ปุ๋ยชีวภาพอื่นๆ ที่สำคัญ คือ ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซา ซึ่งใช้ประโยชน์หลักในการเพิ่มฟอสเฟตที่มีอยู่แล้วในดิน ปุ๋ยชีวภาพชนิดนี้ผลิตจากจุลินทรีย์ไมโคไรซา ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในดิน โดยเชื้อรากลุ่มนี้จะช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวรากฝอยที่สัมผัสกับดิน ทำให้รากพืชสามารถดูดธาตุอาหารได้มากขึ้น นอกจากนี้ เชื้อราไมโคไรซา ยังช่วยสะสมน้ำและธาตุอาหารสำคัญไว้ให้กับพืช แต่ประโยชน์ที่นิยมนำเชื้อรานี้มาใช้ก็คือ การที่เชื้อราสามารถย่อยสลายธาตุฟอสฟอรัสที่อยู่ในดินแต่อยู่ในรูปที่พืชนำมาใช้ไม่ได้ (ทั้งนี้ อาจเนื่องจากฟอสเฟตถูกเม็ดดินยึดจับไว้จนแน่น) ให้เปลี่ยนมาอยู่ในสภาพที่พืชเอาไปใช้ประโยชน์ได้
การใช้สารชีวภาพป้องกันกำจัดศัตรูพืช
สารชีวภาพเพื่อการเกษตรมีความสำคัญกับระบบเกษตรกรรมเพื่อนำมาใช้ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ถือเป็นทางเลือกที่ประยุกต์ใช้กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตร ทำให้สามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค และช่วยฟื้นฟู บำรุง รักษาระบบสิ่งแวดล้อม ให้คงอยู่ในสภาพที่สมดุลตลอดไป ซึ่งสามารถสรุปความสำคัญได้ดังนี้
1. ความสำคัญต่อระบบสิ่งแวดล้อม
1) ช่วยหมุนเวียนธาตุอาหารในดิน สารชีวภาพทางการเกษตรเป็นการนำกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีประโยชน์นำมาใช้ในการผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะการผลิตพืช ซึ่งจัดว่าพืชเป็นผู้ผลิต
ในระบบนิเวศที่สำคัญ ที่ต้องอาศัยดินเป็นที่เกาะยึด เป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และแหล่งอากาศ โดยเฉพาะธาตุอาหารของพืชนั้นจะถูกปลดปล่อยออกมาจากดินและออกมาจากชิ้นส่วนของพืช ในรูปของสารอนินทรีย์ สัตว์และจุลินทรีย์ที่ตาย ในรูปของสารอินทรีย์ให้พืชดูดไปใช้ ซึ่งจุลินทรีย์ดินมีบทบาทสำคัญต่อการย่อยสลายสารอินทรีย์เหล่านั้นทำให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารในวัฏจักรคาร์บอน วัฏจักรไนโตรเจน วัฏจักรฟอสฟอรัส และวัฏจักรกำมะถันที่มีส่วนสำคัญเป็นประโยชน์กับพืช หากดินมีสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีก็ย่อมทำให้จุลินทรีย์ลดจำนวนลงหรือไม่มีการหมุนเวียนธาตุอาหารในดินที่เป็นประโยชน์กับพืชหยุดชะงัก ทำให้ไม่เจริญเติบโตตามวงจรชีวิต จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีในการเพิ่มธาตุอาหารซึ่งหากใช้ติดต่อกันย่อมทำให้ดินเสื่อมโทรมในที่สุด
2) ทำให้ดินมีชีวิต การใช้สารชีวภาพทางการเกษตรในดินที่มีคุณสมบัติทางชีวภาพที่ดีก็ย่อมไม่มีผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเพราะสารชีวภาพไม่มีผลตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่ทำให้สิ่งมีชีวิตในดินเพิ่มจำนวนตามธรรมชาติได้มากขึ้น เพราะมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ส่วนการใช้สารชีวภาพทางการเกษตรในดินที่เสื่อมโทรมร่วมกับการใส่อินทรีย์วัตถุ ก็ย่อมช่วยฟื้นฟูดินให้มีสิ่งมีชีวิตในดินเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการช่วยหมุนเวียนธาตุอาหารพืชในที่สุด ทำให้ดินบริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ตามสภาพธรรมชาติ
3) ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำการเกษตรการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ และการประมง ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นจากการเลี้ยงสัตว์ น้ำเน่าเสียจากการประมง ดังนั้นหากนำสารชีวภาพทางการเกษตรที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดกลิ่น และช่วยบำบัดน้ำเสีย ก็ย่อมทำให้ลดผลกระทบจากสาเหตุดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และทำให้สารพิษตกค้างในดินและน้ำลดน้อยลง
2. ความสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจ
1) ลดต้นทุนในการผลิต การใช้สารชีวภาพทางการเกษตรสามารถใช้ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรในระยะยาวได้เป็นอย่างดี หากผู้ใช้เข้าใจหลักการผลิตและการใช้ที่ถูกต้อง ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีทางการเกษตรที่มีราคาแพงมาใช้
2) สร้างอาชีพการผลิตสารชีวภาพเชิงธุรกิจ การใช้สารชีวภาพทางการเกษตร เป็นทางเลือกหนึ่งของการทำการเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผลผลิตเป็นสำคัญ ทดแทนการทำการเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้สารเคมีทางการเกษตรในกระบวนการผลิต ทำให้ผลผลิตอาจมีสารพิษตกค้าง ดังนั้นผู้ผลิตสารชีวภาพสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้กับครัวเรือน หรือชุมชน อีกทางเลือกหนึ่ง
3) เป็นพื้นฐานในการสร้างเศรษฐกิจแบบพอเพียง คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ หากนำมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ก็ต้องพิจารณาแนวทางการผลิตแบบพึ่งพาตนเอง ผลิตไว้ใช้ในครัวเรือน หากมีเหลือก็แจกจ่ายหรือขาย ดังนั้นการใช้สารชีวภาพทางการเกษตรมาใช้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการพึ่งตนเอง
3. ความสำคัญต่อสภาพทางสังคม
1) สร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพอนามัยให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคการใช้สารชีวภาพทางการเกษตรเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพอนามัยให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ เพราะสารชีวภาพทางการเกษตรไม่มีสารพิษ หรือเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้มนุษย์เจ็บป่วย ดังนั้นผู้ผลิตจึงมีความปลอดภัยในการใช้ ส่วนผู้บริโภคก็ได้อาหารที่ปลอดภัยบริโภค
2) สร้างความเข้มแข็งให้ครัวเรือนและชุมชน การใช้สารชีวภาพเพื่อป้องกันศัตรูพืชและสัตว์ทางการเกษตรในการเพาะปลูก พืชเลี้ยงสัตว์ และการประมง ย่อมต้องอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ต้องใช้พืชสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้ในการผลิต การหาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นสังคมไทยควรใส่ใจต้นทุนทางทรัพยากร ทางสังคม และวัฒนธรรม ที่สั่งสมมาในชุมชนแต่ละชุมชน เพื่อการผลิตแบบพึ่งตนเอง หากได้รับการขับเคลื่อนที่ดีก็ย่อมทำให้ครัวเรือนและชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้นสามารถลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกได้
--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--