งานศึกษาค้นคว้า: กรณีศึกษา-การพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอรับโลกร้อน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 20, 2013 14:29 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ต่อระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมทีมีขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมย่อยๆ และอุตสาหกรรมสิ่งทอถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามวลรวมที่สูงมากประเภทหนึ่งของประเทศไทย และยังเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่มีบทบาทสำคัญในการนำเงินตราเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง เป็นรองแค่เพียงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบเท่านั้น

กลุ่มผู้ประกอบการคลัสเตอร์สิ่งทอเพชรเกษม ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต้นแบบเพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทำร่วมวิเคราะห์ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัย และจัดทำยุทธศาสตร์ โดยมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดความแตกต่างเป็นจุดแข็งให้กับธุรกิจและสามารถขยายตลาดสิ่งทอสู่ตลาดคุณภาพสูงได้มากขึ้นผลจากความมุ่งมั่นของสมาชิกคลัสเตอร์สิ่งทอเพชรเกษม ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอขึ้นใหม่ ๆ

5 นวัตกรรมรับโลกร้อน ประกอบไปด้วย

1. ผ้าไหมบางเบา

บริษัทกรีนวิล เทรดดิ้ง จำกัด

ได้นำผ้าไหมที่ได้รับฉลาก EU Flower มาพัฒนาให้บางลงกว่าเดิมแต่ยังคงความแข็งแรงที่จะนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาเริ่มตั้งแต่การใช้วัตถุดิบขนาดใหม่ การทำเกลียวและการตกแต่งใหม่ๆ ผลลัพธ์จากโปรเจคนี้ทำให้บริษัทสามารถผลิตผ้าพันคอไหมส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นได้ ล่าสุดบริษัทได้พัฒนาหมวกผ้าไหมเป็นสินค้าต่อไป

คุณปิลันธน์ ธรรมมงคล กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่าโลกแฟชั่นมีความหลากหลาย การพัฒนาผ้าไหมนี้เป็นการไปเติมเต็มโลกแฟชั่นช่วยให้ดีไซเนอร์มีอิสระในการออกแบบ ครั้งนี้บริษัทได้พัฒนาผ้าพันคอไหมโดยใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% เป็นสิ่งที่ตนภูมิใจมากเพราะสร้างมูลค่าเพิ่มให้อยู่ในประเทศและพิสูจน์ว่าไหมไทยมีคุณภาพระดับโลกสามารถส่งออกได้โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพระดับโลกสามารถส่งออกได้โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่ที่ขึ้นชื่อเรื่องคณุภาพและความเข้มงวดก็สามารถส่งออกได้

การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ช่วยในเรื่องความสัมพันธ์ การติดต่อประสานงานทำได้เร็วขึ้นและยังได้มุมมองต่างๆ จากเพื่อนซึ่งบางทีเป็นมุมที่เราไม่เคยคิดสามารถนำพัฒนาต่อยอดสินค้าได้ทั้งนี้เพื่อนในกลุ่มทุกคนตระหนักดีว่าต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาต่างแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกันจึงเหมือนเป็นแรงบันดาลใจเป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเราสร้างสิ่งใหม่ตลอดเวลา

2. เสื้อสมุนไพรกันเชื้อรา

คุณกิติภัทร์ วงศ์สุรไกร บริษัทไอ.ดี.นิ้ตติ้ง จำกัด และหัวหน้ากลุ่มการพัฒนาเสื้อสมุนไพรเชื้อรา กล่าวว่า สถาบันได้ให้แนวคิดการนำสมุนไพรมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสินค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นภายในกลุ่มจึงได้ตกลงที่จะทำเสื้อสมุนไพรกันเชื้อราโดยใช้ขมิ้น ตะไคร้ จากการทดสอบที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติพบว่าได้ผลน่าภูมิใจ สามารถยับยั้งเชื้อราได้จริงและเสื้อยังคงป้องกันเชื้อราได้หลังผ่านการซัก 20 ครั้ง แต่เป้าหมายของกลุ่มคือจะต้องมาพัฒนาให้ผ่านการซักเป็น 50 ครั้งพร้อมกับทำวิจัยต่อโดยเพิ่มคุณสมบัติประโยชน์ของขมิ้นที่ช่วยให้ผิวสวย

คลัสเตอร์ฯ กระตุ้นให้เราต้องก้าวไปข้างหน้า แต่การทำงานเป็นกลุ่มต้องยอมเหนื่อยต้องแบ่งเวลาให้ และที่สำคัญการมารวมกลุ่มซึ่งมีหลายคนมีความรู้สึกต่างกัน ทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าใจสปิริตของคลัสเตอร์ฯ ต้องรับฟังเปิดใจ กล้ายอมรับความจริงแล้วทำให้เกิดความไว้วางใจเชื่อถือต่อกัน คลัสเตอร์สิ่งทอเพชรเกษมตกผนึกมา 2-3ปีแล้ว ที่ผ่านมาเป็นการร่วมมือทำโปรเจคสั้นๆ ถ้าเราทำต่อไปสัก 2-3 ปี กลุ่มคลัสเตอร์ฯ ของเราจะมั่นคงมากขึ้น อย่างคลัสเตอร์ต่างประเทศที่เข้มแข็ง เช่น ญี่ปุ่น เขามีพัฒนาการผ่านมา 50 ปี ของเราเพิ่งเป็นต้นกล้าอย่าเพิ่งไปหยุด ต้องร่วมกันต่อไป

3. นวัตกรรม Textile Anibac and UV Nano Zinc

บริษัทคิตตี้ ดีไซด์ จำกัด สร้างนวัตกรรมเสื้อสำหรับเด็กและเสื้อยืดสำหรับทหาร โดยใช้ Nano Zinc Oxide ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและช่วยป้องกันรังสียูวี มีคุณสมบัติช่วยลดอาการผดผื่นคัน บริษัทได้ส่งเสื้อตัวอย่างไปให้ทหารในสามจังหวัดภาคใต้ใส่จริงพร้อมกับทำแบบสอบถามให้ตอบ ปรากฏว่าในตัวอย่างทหาร 100 คนผลตอบรับระดับความพึงพอใจอยู่ที่ 97-98% นอกจากนี้ยังได้มาตรฐาน AATCC 100 สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ถึง 99% แม้ผ่านการซักถึง50 ครั้ง บริษัทมีเป้าหมายอยากพัฒนาให้สามารถผ่านการซักได้ถึง 100 ครั้งนวัตกรรมล่าสุดนี้บริษัทได้รับออเดอร์แรกจาก Catalog Friday แล้ว

“การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ได้ประโยชน์มากเพราะทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนเรื่องการพัฒนาอย่างจริงจัง ครั้งนี้ได้งบประมาณจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้มีโอกาสได้พัฒนาเจาะลึกถึงสาเหตุข้อดี ข้อเสียของปัญหาในแต่ละเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสิ่งทอเราสามารถต่อยอดไปถึงเทคโนโลยีอื่นได้อีกมาก หลังจากพัฒนาตัวนี้แล้วทำให้รู้ว่าการพัฒนาต่อยอดไปตัวอื่นๆ ไม่ยาก จากที่บริษัทเคยแต่รับจ้างผลิตตอนนี้หันมาเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าทางด้าน Functional Textileเป็นหลัก” คุณกิตติ โชคไมตรี กรรมการผู้จัดการกล่าว

4. เสื้อสมุนไพร

คุณกัลยาณี ศิริบุญยัง Purchasing Assistant Manager บริษัทประชาอาภรณ์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การคิดค้นนวัตกรรมตัวนี้ขึ้นมาเนื่องจากปัจจุบันภาวะโลกร้อนกำลังคุมคามโลกของเรา จึงได้หยิบเอาสมุนไพรพื้นบ้านมาทำให้สิ่งทอเกิดมูลค่าเพิ่มและยังช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยเสื้อSupercool ทำให้ผู้สวนใส่รู้สึกเย็นสบาย มีกลิ่นอโรม่าให้ความผ่อนคลาย และมีคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือป้องกันแสงยูวี โดยผ่านการตรวจสอบจากศูนย์ทดสอบที่ไต้หวันว่าเสื้อนี้ทำให้ผู้ใส่รู้สึกเย็นสบายมากกว่าผ้าธรรมดา 20%

5. นวัตกรรมสิ่งทอจากสีพิมพ์ธรรมชาติ

คุณนลนี สุวรรณพัตรา Deputy Manager Director บริษัทฮาร์ทแอนด์มายด์แอพพาเรล จำกัด ให้ความเห็นว่าตอนนี้งานพิมพ์เป็นงานแฟชั่นที่มาแรง จึงได้คิดนำเอาวัตถุดิบที่มีในบ้านเรามาลองทำเป็นงานอุตสาหกรรมได้ปรึกษากับอาจารย์หลายท่าน ซึ่งส่วนใหญ่อาจารย์นำมาใช้ในภาคการศึกษา ไม่เคยทำในระดับอุตสาหกรรม แต่เราได้นำความรู้เหล่านั้นมาต่อยอด โดยได้รับความร่วมมือจากเพื่อนที่เป็นโรงพิมพ์ โรงงานการ์เมนท์เลือกผ้าผืนที่เหมาะกับสีพิมพ์ธรรมชาติ เช่น เรยอน ผ้าฝ้าย จากผลการทดลองพบว่าผลที่ออกมาค่อนข้างตอบสนองดีทั้งความคงทนของสี โดยเลือกใช้สีแดงจากครั่ง และสีเหลืองจากดอกดาวเรือง

“เท่าที่เจรจากับแบรนด์ยุโรป เช่น DKNY,Timberland เขาบอกว่ามันเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจและงานพิมพ์ให้รายละเอียดที่พลิ้วอยู่บนเส้นผ้าแต่เราต้องบอกลูกค้าก่อนว่าความสม่ำเสมอของสีเป็นข้อจำกัดเพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ สีอาจเพี้ยนเล็กน้อยแต่ในแง่ความสวยงามมักจะเข้ากับแฟชั่นสมัยใหม่ออกแนวสีเอิรธ์โทน”

“คลัสเตอร์ทำให้ได้เพื่อนคู่คิดในการทำงานเป็นทีมไปได้ดีกว่าไปคนเดียว แทนที่จะแข่งกันเองก็หันมาร่วมมือเหมือนกลุ่มคลัสเตอร์ของญี่ปุ่น ไต้หวัน หรืออิตาลี ซึ่งแข็งแรงเพราะเขารู้ว่าไปคนเดียวไปได้ไม่นาน ตลาดก็หายไปแต่ถ้าไปเป็นทีมโปรโมททั้งประเทศสิ่งที่ได้ตามมาคือตลาด แล้วก็ผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมการรวมกลุ่มสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคิดว่ามาถูกทาง ตอนนี้ทุกคนเริ่มใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม”

ทั้งนี้ 5 นวัตกรรมสิ่งทอใช้ตราสัญลักษณ์ภายใต้ “Brand Cluster” ร่วมกันและรูปเกลียวด้ายที่มีตัวย่อ THIT ของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยวิชาการในการพัฒนาคลัสเตอร์

Cluster Info

คลัสเตอร์ สิ่งทอเพชรเกษม

กรุงเทพฯ และปริมณฑล

สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา

โทร. 0-2367-8022

โทรสาร 0-2381-0757

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ