งานศึกษาค้นคว้า: กรณีศึกษา-นวัตกรรมสิ่งทอ(Eco-InnovativeTextiles)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 22, 2013 16:28 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

การพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอสีเขียวสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เนื่องจากโอกาสในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตให้เป็น
มิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีหลายด้าน

หากกล่าวถึงกระแสนิยมในปัจจุบัน ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า กระแสอนุรักษ์นิยมสิ่งแวดล้อมมีผู้สนใจในวงกว้างมากและมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำลายสิ่งแวดล้อมมีให้ทุกคนเห็นอย่างชัดเจน เช่น สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่ฤดูหนาวที่ผ่านมามีอากาศหนาวกว่าปีก่อนมาก ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้

นวัตกรรมสิ่งทอสีเขียว (Eco-Innovative Textiles) คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยความรู้และเทคโนโลยี รวมทั้งมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่การพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอสีเขียวมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในขณะนี้ผู้บริโภคให้ความสนใจหรือมีความต้องการมากขึ้นและตลาดยินดีที่จะซื้อสินค้าเหล่านี้ไม่ว่าด้วยราคาที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าทั่วไป หรือในราคาที่เท่ากัน ดังนั้น ประเทศไทยควรหันมาพัฒนาสินค้านวัตกรรมสิ่งทอสีเขียว เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดให้ดียิ่งขึ้น

การพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอสีเขียวสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เนื่องจากโอกาสในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีหลายด้าน โดยนักวิจัยสามารถพัฒนาจากสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรม รวมถึงนักออกแบบสามารถนำความรู้และความเชี่ยวชาญมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตสิ่งทอให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยตัวอย่างการพัฒนามีดังต่อไปนี้

1. การนำวัสดุที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่(recycling and use of waste as raw materials)หลักการนี้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น ในการวิจัยตลาดพบว่าผู้บริโภคส่วนมากชอบที่จะซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัสดุที่ใช้แล้วในทางปฏิบัติ รัฐควรส่งเสริมและช่วยในการสนับสนุนให้ราคาวัสดุเหล่านี้มีราคาที่ต่ำลง รวมทั้งภาคเอกชนควรทำการตลาดเพื่อเพิ่มความต้องการของผู้บริโภค ตัวอย่างนวัตกรรมสิ่งทอประเภทนี้ เช่นการนำพรมที่ใช้แล้วมาย่อยและพัฒนาเป็นแผ่นรองพื้น (underlay) ที่เก็บเสียงได้ การนำเส้นใยไนล่อนจากพรมที่ใช้แล้วมาใช้เป็นวัสดุเสริมแรงในคอนกรีต ซึ่งสามารถลดปัญหาการจัดการขยะทางอ้อมได้ เป็นต้น

2. การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(eco-design)เป็นการออกแบบที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดย พิจารณาถึงผลกระทบของสินค้าตั้งแต่เริ่มผลิตจนถึงหลังการใช้งาน เป็นการออกแบบที่เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมไฟฟ้า และยานยนต์และขณะนี้เริ่มเป็นที่นิยมสำหรับสิ่งทอด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมตั้งแต่ ต้นน้ำถึงปลายน้ำในห่วงโซ่อุปทานต้องร่วมมือกัน ตัวอย่างนวัตกรรมสิ่งทอประเภทนี้ เช่น เส้นใยพอลิแล็คติก แอซิด (polylactic acid; PLA) ซึ่งเป็นเส้นใยประดิษฐ์ที่ใช้วัตถุดิบจากข้าวโพด จึงสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นต้น

3. การใช้วัตถุดิบที่สามารถผลิตใหม่ได้ (renewable) โดยการมุ่งเน้นใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติซึ่งสามารถผลิต เพิ่มเติมได้ในอัตราเร็วกว่าการนำไปใช้เพื่อทดแทนวัตถุดิบสังเคราะห์และสารเคมี เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเนื่องจากสามารถผลิตได้ต่อเนื่องในอัตราที่เร็วกว่าการใช้งาน เส้นใยธรรมชาติและสารสกัดจากสมุนไพรสามารถนำมาประยุกต์ในการใช้งานต่างๆ ตัวอย่างนวัตกรรมสิ่งทอประเภทนี้ เช่น การพัฒนาสิ่งทอเทคนิคที่ ต้องการความแข็งแรงสูง โดยเลือกใช้เส้นใยธรรมชาติ เช่น ป่านปอ กัญชง เป็นต้น

4. การจัดการกับของเสีย (waste management) โดยมุ่งเน้นการจัดการของเสียจากการผลิตให้มีการนำสาร ข้างเคียงจากการผลิตบางประเภทที่สามารถผลิตเป็นสินค้าอื่นได้ออกมา การบำบัดของเสียก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตัวอย่างนวัตกรรมการจัดการของเสีย เช่น บริษัท Lenzing จำกัด ประเทศออสเตรีย ที่ผลิตเส้นใย regenerated cellulose สามารถเอาสารข้างเคียงจากการผลิต เช่น xylitol ออกมาและนำไปทำเป็นสารให้ความหวาน และยังมีการบำบัดของเสียได้อย่างดีเยี่ยมซึ่งทำให้ได้ฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco Lable) โดยทางบริษัทได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งลูกค้าก็ได้ให้การตอบรับเป็นอย่างดี

5. การใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิต(novel technology) ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีมีอยู่มากมายและนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำให้การผลิตใช้พลังงานน้อยลงและลดของเสีย ตัวอย่างนวัตกรรมสิ่งทอประเภทนี้ เช่น เทคโนโลยีพลาสมาที่สามารถตกแต่งสิ่งทอโดยไม่ใช้น้ำและสารเคมี การใช้กาวไหมในการตกแต่งฝ้าย โดยทดแทนสารเคมี รวมทั้งนาโนเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น

ตัวอย่างนวัตกรรมสิ่งทอสีเขียวของประเทศไทย

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนานวัตกรรมสิ่งทอสีเขียวคือ ผ้าปิดจมูกที่ใช้เส้นใยที่ย่อยสลายได้ (PLA) และใช้เทคโนโลยีอิเลคโตรสปินนิ่ง (electro spinning) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผสมสารสกัดจากธรรมชาติของเปลือกมังคุด ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านทานเชื้อวัณโรค ในการวิจัยนี้ได้เลือกพอลิแอลแล็คติก แอซิด(Poly L-lactic acid) เนื่องจากเป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งพอลิแล็คไทด์ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ เช่น ใช้ในการเย็บแผล

จากการวิจัยพบว่า เส้นใยพอลิแอลแล็คติกแอซิด ไม่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดใดๆ ได้เลย แต่เมื่อใส่สารสกัดจากเปลือกมังคุดในเส้นใยพอลิแอลแล็คติกแอซิด จึงสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด S.Aureus และ B.Subtilis ได้ โดยเมื่อปริมาณสารสกัดจากเปลือกมังคุดที่ใส่ในเส้นใยมากขึ้นการต้านเชื้อแบคทีเรียก็เพิ่มขึ้นด้วย

ผลการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อวัณโรคดื้อยาโดยสารสกัดจากเปลือกมังคุดที่เคลือบบนแผ่นอิเล็คโตรสปินพบว่าสารสกัดจากเปลือกมังคุดเข้มข้น 30% และ 50% ที่เคลือบบนแผ่นเส้นใยอิเล็คโตรเลสปิน สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของวัณโรคดื้อยาได้มากกว่า 99.99% แผ่นอิเล็คโตรสปิน ดังกล่าวถูกนำไปพัฒนาเป็นองค์ประกอบของแผ่นปิดจมูกเพื่อใช้ในสาธารณะ ซึ่งช่วยในการป้องกันเชื้อวัณโรค และแผ่นกรองอากาศในเครื่องปรับอากาศ ซึ่งสามารถลดเชื้อแบคทีเรียและวัณโรคได้

จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมาและหลักการต่างๆ ในการพัฒนาข้างต้นประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอสีเขียว เนื่องจากประเทศไทยมีวัตถุดิบจากธรรมชาติค่อนข้างมาก นอกจากนี้การออกแบบและเทคโนโลยีที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผสมผสานเทคโนโลยีทันสมัยสามารถนำไปสู่สินค้าสีเขียวได้ ในขณะเดียวกันสินค้าประเภทนี้มีความต้องการในตลาดที่สำคัญ เช่น ตลาดสหภาพยุโรป และตลาดญี่ปุ่น มากขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่ ตลาดในประเทศเองก็มีการตื่นตัวมากขึ้น เช่น ถุงช็อปปิ้งที่ทำจากผ้า เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยในการพัฒนาสิ่งทอสีเขียว สามารถทำได้โดยการสนับสนุนให้มีงานวิจัยด้านนี้มากขึ้น การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิจัยด้านสิ่งทอและด้านอื่นๆ รวมทั้งนักออกแบบจะช่วยเปิดโอกาสใหม่ให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอในภาวะการแข่งขันที่รุนแรงนี้

ข้อมูลโดย : อานนท์ เศรษฐเกรียงไกร

สำนักนโยบายอุตสาหกรรม รายสาขา 2 กระทรวงอุตสาหกรรม

ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์(Carbon Footprint)

การเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย เป็นทางหนึ่งที่ผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการก๊าซเรือนกระจก และยังเป็นกลไกทางการตลาดในการกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนาสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความต้องการของผู้บริโภคด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำเป็นต้องมีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้พัฒนาโครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์(Carbon Footprint) ของผลิตภัณฑ์ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคมี ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดประกอบการตัดสินใจ และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันในตลาดโลก

Carbon Footprint (CF: รอยเท้าคาร์บอน) หรือที่บางท่านเรียกว่า carbon profile (ข้อมูลรวมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) คือ ปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ก๊าซเรือนกระจก อื่นๆ อาทิ ก๊าซมีเทน ก๊าซหัวเราะ เป็นต้น ที่ปล่อยออกมา จากผลิตภัณฑ์หรือบริการ (ตามข้อกำหนด ISO 14040) ตลอดวัฏจักรชีวิต ทั้งนี้ แหล่งกำเนิดของก๊าซดังกล่าวมาจากกิจกรรมต่างๆ อาทิ การใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล กระบวนการในภาคอุตสาหกรรม กสิกรรม เป็นต้น

รอยเท้าคาร์บอน เป็น “การวัด” ผลกระทบของผลิตภัณฑ์และบริการจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเชิงปริมาณ โดย ใช้ตัวบ่งชี้ โอกาสในการเกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential, GWP) ทั้งนี้องค์กร Intergovernmental Panel on Climate Change; IPCC ได้กำหนดค่า GWP ของก๊าซต่างๆ โดยเปรียบเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในระยะเวลาที่กำหนด อาทิ 20, 100, 500 ปี ทั้งนี้ โดยทั่วไปจะใช้ค่า GWP ของก๊าซเรือนกระจกที่ระยะเวลา 100 ปี ดังแสดงในตารางด้านล่าง

การตรวจวัดรอยเท้าคาร์บอน

สามารถคำนวณ / วัดโดยใช้หลักการการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) ซึ่งเป็นหลักการ ตามมาตรฐานสกล ISO 14040, 14044 ที่ใช้สำหรับการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิต โดยรอยเท้าคาร์บอน จัดเป็นหัวข้อหนึ่งของหลักการการประเมินวัฎจักรชีวิต แต่ทั้งนี้มีข้อควรระวัง คือ รอยเท้าคาร์บอนเป็นการวัดโดยให้ความสนใจในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องต้องระวังในการวิเคราะห์และแปลผลข้อมูล เนื่องจากอาจเกิด Burden shift หรือการโอนย้ายผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นผลให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอื่นสูงขึ้นเพื่อชดเชยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่จะติดบนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น เป็นการแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ ตั้งแต่กระบวนการหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการกำจัดเมื่อกลายเป็นของเสีย ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจชื้อของผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น การใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกด้วย เนื่องจากขณะนี้ในหลายประเทศ

เริ่มมีการนำคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้กันแล้ว ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น และมีการเรียก ร้องให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยต้องติดเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วย นอกจากนั้น หากประเทศไทยมีการดำเนินโครงการและเก็บข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน จะช่วยให้เรามีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นในการประชุมระดับโลกเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

ข้อดีของฉลากลดคาร์บอน

ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกได้โดยตรง ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็จะได้รับ ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย เพราะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเป็นการแสดงภาพลักษณ์และเจตนารมณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมในการส่งออกสินค้าในอนาคตที่อาจมีเงื่อนไขการค้าของประเทศผู้นำเข้าซึ่งอาจกำหนดให้ต้องมีฉลากดังกล่าว

ประโยชน์ของการมีฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์

ผู้บริโภค : เป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำกว่า เพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคบริโภค อีกทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ทำให้มีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน

ผู้ผลิต : ลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล (Fossil fuel) เพิ่มการ ใช้พลังงานหมุนเวียนและแสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท ตลอดจนเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อและการมีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Cluster Info

คลัสเตอร์ สิ่งทอ กรุงเทพ และปริมณฑล สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม

โทร. 0-2202-4575

โทรสาร 0-2354-3151

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--


แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ