บทความ: แผนที่อุตสาหกรรมยางพาราไทย (ตอนที่ 1)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 5, 2015 15:49 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

แผนที่อุตสาหกรรมยางพาราไทย

ตอนที่ 1 ก้าวย่างของยางไทย

ในโลกใบนี้มีสรรพสิ่งเกิดขึ้นอยู่มากมาย หากจะเลือกสนใจเรื่องบางเรื่องก็จะทำให้เราเข้าใจสิ่งเหล่านั้นและเห็นภาพต่างๆได้อย่างชัดเจน เรื่องราวของยางธรรมชาติเป็นเรื่องที่เล็กมากๆ ในโลกใบนี้แต่กลับเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางของประเทศไทย สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันบนโลกใบนี้เกี่ยวกับสถานการณ์ยางธรรมชาติ โดยเฉพาะยางพาราซึ่งในที่นี้ถือว่าเป็นตัวหลักของเรื่องนี้ ภาคอุปทาน ยางพาราของโลกในปัจจุบัน ปี ค.ศ. 2014 ผลผลิตยางพาราที่ผลิตได้จากแหล่งปลูกยางพาราทั่วโลกรวมกันได้ 12.257 ล้านตัน ในจำนวนนี้ประเทศไทยที่มีสวนยางพารากระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ผลิตยางได้ 4.2 ล้านตัน ซึ่งเทียบส่วนแล้วจัดว่าเป็นประเทศผู้ผลิตยางได้เป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงไปก็เป็นประเทศอินโดนีเซียตามลำดับ แนวโน้มปริมาณการผลิตยางพาราของโลกมีปริมาณค่อยๆเพิ่มขึ้นทุกปี ภาคอุปสงค์ ยางพาราของโลกในปีเดียวกันก็มีปริมาณความต้องการใช้ยางพาราในการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ยางพาราในส่วนของประเทศไทยที่ผลิตได้ทั้งหมดเรามีความสามารถนำมาแปรรูปผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ในประเทศและส่งออกได้เพียงร้อยละ 13 หรือคิดเป็นปริมาณยางได้ 4.6 แสนตัน ผลผลิตยางส่วนทีอยู่นอกการแปรรูปของเราถูกจำหน่ายให้ภาคอุปสงค์นอกประเทศไปในหลายๆ ประเทศทั้งในแถบยุโรป อเมริกา ฯลฯ และคู่ค้าที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทยที่มีความต้องการใช้ยางพารามากและซื้อยางพาราของไทยนำไปผลิตสินค้าคือประเทศจีน ในมณฑลซานตงซึ่งมีเมืองชิงเต่าเป็นเมืองเอกด้านอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง และเมืองกว่างเหยาก็เป็นเมืองคู่ขนานของเมืองชิงเต่าที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าผลิภัณฑ์ยาพารา โดยเฉพาะการผลิตยางล้อรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของประเทศจีน ผลิตได้กว่าปีละ 150 ล้านเส้น มูลค่ากว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้ยางพาราไปในกระบวนการผลิตรวม 1 ล้านตันและประมาณครึ่งหนึ่งของยางพาราที่ใช้ได้ซื้อจากประเทศไทย อย่างไรก็ตามการขายยางพาราให้ภาคอุปสงค์นอกประเทศสามารถขายออกไปได้จำนวนหนึ่งซึ่งยังมีปริมาณยางพาราคงค้างที่ผลิตได้อยู่ในสะต๊อกจำนวนมากสะสมมาทุกๆ ปี ประกอบกับมีข้อมูลปริมาณยางเพิ่มขึ้นเป็นผลจากนโยบายของประเทศจีนที่ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้รับสัมปทานพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 99 ปี แถบทิศเหนือของประเทศลาวเพื่อปลูกยางพาราป้อนอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางของประเทศจีน ข้อมูลตรงนี้ทำให้เราเห็นว่าแนวโน้มต่อจากนี้ไปทั้งปริมาณยางของโลกและราคายางจะไม่มีทางสูงขึ้นอย่างแน่นอนด้วยปัจจัยภาคอุปทานเติบโตมากกว่าภาคอุปสงค์ เกษตรกรชาวสวนยางของไทยคงเห็นอนาคตแล้วของตนเองแล้วว่าจะมีทิศทางขาลง ความจริงที่ผ่านมาจะเห็นปรากฏการที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางออกมาเรียกร้อยให้ภาครัฐช่วยเหลือ หรือให้ช่วยพยุงราคายางพาราให้ จะเห็นได้ทุกปีจนคุ้นชินแล้ว

ปัจจุบันในรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช. ) เรื่องราคายางพาราตกต่ำ ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญรัฐบาลถือให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเกษตรกรชาวสวนยางมีความเดือดร้อนมาก ราคาที่ขายได้ต่ำมาก ราคาลงลึกถึงประมาณ 3 กิโลกรัม 100 บาท ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต เกษตรกรชาวสวนยางจึงออกมาเรียกร้อยให้รัฐบาลรับซื้อหรือประกันราคาให้ 60 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ราคาน้ำยางสด ณ. เวลาปัจจุบัน ราคาตลาดโลกอยู่ที่กิโลกรัมละ 43 บาท ก็อ่านความได้ว่า รัฐบาลคงไม่อาจสนองตอบต่อข้อเรียกร้องนี้ได้ ภายใต้การนำรัฐบาลจาก คสช. ได้ระดมความคิดเห็นจากหลายๆ ภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมยางทั้งระบบจนเป็นข้อสรุป 4 แนวทาง คือ 1.เร่งรัดการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น โดยนำยางมาใช้สร้างถนน ทำอิฐบล็อก ทำพื้น ฝาย หรือผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นต้น พร้อมทั้งเร่งการโค่นต้นยางเก่าเพื่อลดอุปทานภายในประเทศ ทำให้ลดผลผลิตยาวในอนาคต 2.ผลักดันและเร่งรัดโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้สถาบันเกษตรกรรับซื้อยางจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้น และการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ นำเงินเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อใช้ในการแปรรูปยาง อีกทั้ง สนับสนุนให้มีการปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อเข้าถึงเกษตรกรมากขึ้น 3.สร้างตลาดการซื้อขายยางธรรมชาติ โดยเชื่อมโยงให้มีการทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบสินค้าจริงระหว่างเกษตรกรชาวสวนยางกับผู้ซื้อ และ 4.ร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางจัดการเก็บสต็อกยางร่วมกัน

ข้อมูลจาก http://in-promote.blogspot.com/2014/12/1.html

เรียบเรียง : สิทธิชนคน กสอ.

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ