บทความ: แผนที่อุตสาหกรรมยางพาราไทย (ตอนที่ 2)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 5, 2015 15:53 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

แผนที่อุตสาหกรรมยางพาราไทย

ตอนที่ 2 สินเชื่อยางแนวทางพยุงราคา

แนวทางในการผลักดันและเร่งรัดโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้สถาบันเกษตรกรรับซื้อยางจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้น และการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ นำเงินเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อใช้ในการแปรรูปยาง อีกทั้ง สนับสนุนให้มีการปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อเข้าถึงเกษตรกรมากขึ้น โครงการสินเชื่อยาง เป็นโครงการหนึ่งที่อยู่ในแนวทางที่ 2 นี้ ในส่วนของการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการนำเงินไปซื้อน้ำยางข้นเพื่อเก็บน้ำยางเข้าสะต๊อกของโรงงานให้เต็มจำนวนสะต๊อก ใช้วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยให้ผู้ประกอบการกลุ่มน้ำยางข้นกู้เงินหรือขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ตามที่ผู้ประกอบการมีอยู่ เพื่อนำเงินไปหมุนเวียนซื้อน้ำยางข้นจากเกษตรกรชาวสวนยางมาเข้าสะต๊อกให้เต็มจำนวนในช่วงเวลาที่ผลผลิตน้ำยางออกมามาก โดยเล็งเห็นผลว่าเป็นการดึงปริมาณน้ำยางออกจากมือเกษตรกรให้มากที่สุดและเร็วที่สุดและคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำยางข้นมีมากยิ่งขึ้นเพื่อดึงราคายางพาราให้สูงขึ้นตาม วิธีที่ทำก็คือกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มน้ำยางข้นไปกู้เงินจากสถาบันการเงินมาใช้ซื้อน้ำยางข้นในวงเงิน 10,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้ธนาคารเจ้าหนี้ตามอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาท คิดเป็นเม็ดเงินที่ใช้ในโครงการอยู่ที่ 500 ล้านบาท ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อยางจะได้รับการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 บาท รวมเม็ดเงิน 300 ล้านบาท หมายความว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อยางจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธนาคารเจ้าหนี้รวมทั้งสิ้น 500 ล้านบาท ในจำนวนนี้ภาครัฐจ่ายชดเชยแทนให้ 300 ล้านบาท ผู้ประกอบการจ่ายเอง 200 ล้านบาท เรื่องแบบนี้ท่านเห็นเป็นอย่างไรมาพิจารณาวิเคราะห์เรื่องนี้กันสักหน่อยจะได้เห็นมุมมองต่างๆ ได้หลากหลายยิ่งขึ้น

ก่อนอื่นต้องชมรัฐบาลยุคที่มาจาก คสช. ว่าทำงานได้อย่างรวดเร็ว คำนึงถึงความเดือดร้อนและเรื่องปากท้องของพี่น้องเกษตรกร ทุ่มเทการทำงานอย่างหนักเพื่อคลี่คลายความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรการอย่างแท้จริง เรื่องนี้ถูกยกขึ้นเป็นวาระปัญหาระดับชาติ ก็คิดว่าโครงการสินเชื่อยางซึ่งเป็นกลไกชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่จะขับเลื่อนการแก้ปัญหาราคายางทั้งระบบได้ส่งผลเป็นลูกโซ่ถึงตัวเกษตรกรชาวสวนยางจริงๆ คงได้ระดับหนึ่ง ท่านก็เห็นด้วยตามความข้างต้นนี้นะครับ ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาดูกันอีกทีเปรียบเทียบข้อมูลให้รอบด้านแล้วค่อยสรุปตกผลึกทางความคิดกันดีกว่า ตามที่เราเห็นว่าเรื่องราวของยางพาราตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่ามีบทสรุปที่เป็นหัวใจอยู่ที่ภาคอุปทาน มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าภาคอุปสงค์ การใช้มาตรการช่วยเหลือผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่นโครงการสินเชื่อยางเพื่อพยุงราคายางจึงถือว่าเป็นการใช้เครื่องมือที่ถูกต้องเหมาะกับเวลาหรือไม่ ถ้าเปรียบปริมาณยางที่ผลิตออกมาเรื่อยๆ เหมือนปริมาณฝนตกไม่หยุดมีน้ำที่ไหลหลากลงมาจากภาคเหนือเข้าสู่ภาคกลาง การผันน้ำลงสู่ทะเลเปรียบเหมือนกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ยางซึ่งในภาวะปกติระบายได้ทันก็ไม่เป็นประเด็นปัญหา ปริมาณน้ำที่ไหลลงมามีอัตราที่มากกว่าอัตราปริมาณน้ำที่ระบายออกไป สถานการณ์นี้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมแน่นอน เช่นเดียวกับปริมาณยางพาราที่ระบายขายออกไปไม่หมดจึงมีปริมาณยางเหลืออยู่ในระบบฉันนั้น แล้วอย่างไรจะเป็นการช่วยไม่ให้น้ำท่วมได้ วิธีคิดเรื่องยางพาราก็เป็นแนวทางเดียวกัน มีผู้คิดได้เสนอข้อคิดความเห็นทั้งระบบให้รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและยกระดับราคายางพาราให้สูงขึ้น เครื่องมือหนึ่งในมาตรการเหล่านั้นก็คือโครงการสินเชื่อยาง ภาพของโครงการนี้แสดงออกมาให้เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีในระดับหนึ่ง เนื้อหาหลักของโครงการเป็นการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มน้ำยางข้นในอัตราร้อยละ 3 ที่ไปกู้สถาบันการเงินต่างๆ ในวงเงินกู้รวม 10,000 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการนำเงินกู้นี้ไปหมุนเวียนซื้อน้ำยางข้นเก็บเข้าสะต๊อกให้เต็มตลอดเวลา เมื่อโครงการนี้ดำเนินต่อไปคาดการได้ว่าจะมีปริมาณน้ำยางข้นจำนวนหนึ่งจะไหลเข้าโกดังเก็บของผู้ประกอบการ เกษตรกรชาวสวนยางขายน้ำยางได้ปริมาณเพิ่มขึ้น คล้ายกับตลาดมีความต้องการมากขึ้นราคาน้ำยางก็จะขยับตัวสูงขึ้นแต่วัดค่าไม่ได้ว่า ราคาสูงขึ้นแค่ไหนจากโครงการนี้ เกษตรการชาวสวนยางไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงต้องรอดูไปว่าโครงการนี้จะส่งผลต่อราคาน้ำยางมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เปรียบเหมือนการทำโครงการนี้ผิดฝาผิดตัวหรือเกาไม่ถูกที่คัน ถ้าหันมาดูแบจำลองเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วม คล้ายกับว่าโครงการนี้กำลังใช้ความพยายามต่อสู้กับสถานการณ์น้ำท่วมด้วยการสร้างแก้มลิงเป็นตัวช่วยดูดซับปริมารณน้ำยางที่กำลังไหลสู่ตลาด ก็ช่วยได้ระดับหนึ่งซึ่งค่อนข้างจะได้ผลน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำยางที่ผลิตออกมากและระบายออกต่างประเทศได้ช้าและปริมาณไม่มากพอ เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นแบบนี้ทุกปี ทีนี้ลองพิจารณาแยกส่วนให้ชัดถึงผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โครงการนี้มีผู้เกี่ยวข้องได้เสียอย่างไรบ้าง เริ่มจากคนที่หนึ่งคือภาครัฐ มติ ครม.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการนี้ รัฐจำต้องนำภาษีอากรจากประชาชนออกมาจ่ายชดเชยค่าดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ 300 ล้านบาท คนที่สองเป็นเหล่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้รับผลประโยชน์นี้จากเงินภาษีอากร 300 ล้านบาทที่รัฐบาลจ่ายแทนให้ คนที่สามเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขายน้ำยางได้ราคาที่สูงกว่าราคาตลาดปกติทั่วไป (สูงกว่ากี่บาทหรือไม่) ข้อนี้ไม่สามารวัดเป็นมูลค่าออกมาได้ ภาพที่แสดงให้เห็นนี้ยังสามารถบ่งชี้ถึงกลุ่มผู้รับประโยชน์จากโครงการนี้ เชื่อได้ว่าน่าจะมาจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราเพียงไม่กี่รายที่เสนอแนวความคิดนี้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือพยุงราคายางไม่ให้ตกต่ำ เป็นผลงานเด่นของรัฐบาล เพื่อพิสูจน์ความจริงและการยอมรับผลงานชิ้นนี้ ต้องมีหน่วยติดตามสำรวจและสอบถามจากพี่น้องเกษตรการชาวสวนยางว่าได้รับประโยชน์ราคาที่เพิ่มขึ้นและมีความพึงพอใจกับมาตรช่วยเหลือในโครงการสินเชื่อยางหรือไม่ คำตอบนั้นคือเสียงสวรรค์ที่ต้องน้อมรับนะครับ

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม : http://in-promote.blogspot.com/2015/01/2-2-10000-10000-5-500-3-300-500-300-200.html

เรียบเรียง : สิทธิชนคน กสอ.

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ