แม้ที่ผ่านมาการส่งออกรถยนต์ของไทยจะมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง แต่จากสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน รวมถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในหลายๆประเทศทั่วโลกที่ไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งได้มีการปรับลดกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดในปัจจุบัน รวมถึงการเรียกร้องให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ดังนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยซึ่งนับวันก็จะยิ่งพึ่งพาการส่งออกมากขึ้นนั้น ย่อมจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพตลาดส่งออกชะลอตัวลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปัจจุบันและทิศทางการส่งออกของไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลงทั่วโลกจากปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯได้ทยอยส่งผลกระทบให้เห็นมากยิ่งขึ้นตามลำดับในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นแล้ว ก่อนหน้านี้ยังต้องเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฏาคม และแม้ขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงมากแล้ว แต่อุตสาหกรรมรถยนต์กลับยังต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากวิกฤติสินเชื่อซึ่งส่งผลทั้งต่อบริษัทผู้ผลิตเองที่ขาดเงินทุนหมุนเวียน และส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงเงินกู้ยากขึ้นด้วย ทำให้ยอดขายรถยนต์ในหลายๆประเทศตกลงอย่างต่อเนื่อง
สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและในปี 2550 ก็นับเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่นด้วยนั้น เป็นประเทศที่ดูเหมือนจะกำลังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงอย่างหนักของอุตสาหกรรมมากที่สุด โดย 3 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ของสหรัฐฯอย่างบิ๊กทรีก็กำลังประสบกับภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่ตกลงมาก และบางบริษัทอาจถึงขั้นต้องล้มละลาย และมีการควบรวมกิจการเกิดขึ้น จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้บางบริษัทไม่เพียงแต่บิ๊กทรีก็ได้มีการปิดโรงงานบางแห่งเป็นการชั่วคราวแล้ว รวมถึงลดกำลังการผลิต ลดการทำงานล่วงเวลา ลดเป้าหมายยอดขายจากแผนเดิม และลดการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ลง ซึ่งจากงานวิเคราะห์บางชิ้นเผยว่า หากบิ๊กทรีต้องล้มทั้งหมดแล้วในปีหน้าอาจจะทำให้มีคนตกงานในระบบเพิ่มขึ้น 3 ถึง 5 ล้านคนในสหรัฐฯ เมื่อรวมคนงานในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขร้อยละ 2.1 ถึง 3.4 ของจำนวนประชากรที่มีงานทำในปัจจุบันของประเทศซึ่งจะฉุดให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อทุเลาปัญหาดังกล่าวรัฐบาลสหรัฐฯจึงอาจจะอนุมัติงบ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่บริษัทรถยนต์ แต่ทั้งนี้รัฐอาจต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านอื่นๆด้วยเนื่องจากอาจเป็นต้นแบบให้อุตสาหกรรมอื่นมาขอความช่วยเหลือตาม
ในจีนเองซึ่งถือเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ และเป็นผู้ผลิตรถยนต์ลำดับที่ 3 ของโลกนั้น ปัจจุบันก็ประสบปัญหาอุปสงค์ในประเทศชะลอลงอย่างมาก และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาด ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ปีนี้ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์บางรายของจีนตกลงอย่างหนักถึงเกือบร้อยละ 80 ทำให้บริษัทรถยนต์ต่างๆของจีนมีการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ โดยในเบื้องต้นคือการพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์รุ่นประหยัดพลังงาน เพื่อช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศให้ฟื้นตัวขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ในประเทศจีนนั้นอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 50
ส่วนค่ายรถยนต์ต่างๆในยุโรปนั้นก็กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องด้วยเช่นกัน ดังเช่นเยอรมนี ซึ่งถือเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปพบว่าตัวเลขรถยนต์ใหม่ที่จดทะเบียนในเดือนตุลาคมลดลงถึงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ทำให้ต้องมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ยอดขายรวมในปีนี้ลดลงจาก 3.2 ล้านคันเมื่อต้นปีมาเป็น 3.1 ล้านคัน เป็นต้น ซึ่งค่ายรถยนต์ในยุโรปต่างก็ออกมาร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลของประเทศตนเช่นเดียวกับในสหรัฐฯและจีน ซึ่งขณะนี้สหภาพยุโรปโดยคณะกรรมาธิการยุโรปก็ได้กำลังพิจารณาข้อเรียกร้องเงินช่วยเหลือ 4.4 ล้านยูโรนั้น ในส่วนของรายละเอียดของแผนช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือดังกล่าวของอียูจะเป็นเพียงการช่วยเหลือเพียงชั่วคราวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปต้องพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตของตัวเองด้วย
สำหรับประเทศญี่ปุ่นเองซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้นั้น ได้มีการเปิดเผยว่ายอดขายรถยนต์ใหม่ของญี่ปุ่นได้ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แล้ว โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ของญี่ปุ่นแต่ไม่รวมรถประเภทมินิคาร์นั้นได้ลดลงถึงร้อยละ 13 ทำให้บางรายต้องมีการปรับลดการคาดการณ์กำไรทั้งปีนับถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2552 ลงมาถึงราวครึ่งหนึ่งของเป้าหมายเดิมซึ่งเป็นผลที่เกิดหลังจากที่ผลกำไรในไตรมาสล่าสุดชะลอลงอย่างหนัก อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งค่ายรถญี่ปุ่นต่างเร่งปรับการผลิตและตลาดส่งออกเพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นหลายค่ายในประเทศญี่ปุ่นต่างเตรียมหันไปมุ่งเน้นการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายรถปิกอัพตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเหล่านี้ หลังยอดขายในประเทศพัฒนาแล้วตกลงอย่างมากจากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลก
การชะลอตัวลงอย่างหนักของยอดขายรถยนต์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายดังที่ได้กล่าวเท่านั้น ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกเช่นกัน โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศนั้น จากตัวเลขยอดขายรถยนต์เบื้องต้นในเดือนตุลาคมที่ได้มีการรายงานออกมานั้นหดตัวลงถึงประมาณร้อยละ 15.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นกว่าเดือนกันยายนที่หดตัวลงร้อยละ 10.5 และเป็นอัตราการเติบโตที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แม้จะเป็นช่วงที่ปกติจะมีการขยายตัวของยอดขายสูง ส่งผลให้ตัวเลขยอดขายในประเทศ 10 เดือนแรกคาดว่าจะหดตัวลงเล็กน้อย คือ ประมาณร้อยละ 0.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ทำให้คาดว่ายอดขายรถยนต์ปีนี้อาจจะทรงตัวหรือหดตัวลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย ในส่วนของยอดการส่งออก จากการรายงานยอดส่งออกเดือนตุลาคมในเบื้องต้น แม้ว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน และเมื่อดูจากตัวเลขยอดส่งออกรถยนต์สะสมช่วง 10 เดือนแรกของไทยพบว่าขยายตัวถึงร้อยละ 20.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน อย่างไรก็ตามพบว่ายอดส่งออกรถยนต์สะสม 10 เดือนมีการขยายตัวที่ชะลอลงต่อเนื่องมา 3 เดือนแล้ว ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง ทำให้คาดได้ว่าแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกในช่วงต่อไปจะชะลอลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้สัญญาณการชะลอตัวลงของทั้งยอดขายในประเทศ และยอดการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าเริ่มมองเห็นได้จากการที่ค่ายรถยนต์ในประเทศเริ่มทยอยการลดกำลังการผลิตลง การลดจำนวนแรงงานลง รวมถึงมาตรการการให้พนักงานหยุดงานและจ่ายค่าจ้างน้อยลง เช่น ค่ายรถสัญชาติอเมริกันบางรายได้เริ่มมีการประกาศหยุดสายการผลิตรถยนต์ระยะ 1 ถึง 2 เดือนไปถึงช่วงต้นปีหน้า รวมถึงมีการประกาศรับสมัครผู้สมัครใจลาออก และปรับลดพนักงานในฝ่ายผลิตลงจำนวนหนึ่ง รวมถึงมีแผนให้พนักงานหยุดงานและจ่ายค่าจ้างลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากยอดขายที่หดตัวลงอย่างรุนแรงทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับบริษัทมีจำนวนรถเพียงพอต่อความต้องการถึงช่วงต้นปีหน้าแล้ว ในส่วนของค่ายรถญี่ปุ่นบางรายก็เช่นเดียวกัน แม้จะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าค่ายรถอเมริกา เนื่องจากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินน้อยกว่า แต่จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัวลงประกอบกับมีสต็อกรถยนต์อยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ทำให้ค่ายรถญี่ปุ่นบางรายมีการประกาศลดกำลังการผลิตลงอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 10 ถึง 30 ตั้งแต่เดือนหน้าไปจนถึงประมาณช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีหน้า รวมถึงมีการออกมาตรการให้พนักงานสมัครใจลาออก แต่ไม่มีการปลดพนักงานออก ในส่วนของการตลาดต่างประเทศนั้นจากคำสั่งซื้อรถยนต์จากตลาดต่างประเทศที่ลดลง ทำให้บางค่ายทำการขอเพิ่มสัดส่วนประเทศส่งออกไปยังตลาดใหม่จากทางบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น เช่น ประเทศตุรกี และประเทศในโซนยุโรปตะวันออก ซึ่งมาตรการต่างๆเหล่านี้ต่างก็หวังว่าจะช่วยผ่อนคลายความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
การขยายการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดใหม่คงจะไม่ง่ายนัก ณ เวลานี้ เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจของโลกครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรง และเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในประเทศไทยเมื่อปี 2540 ซึ่งขณะนั้นประเทศที่ไทยส่งออกไปไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าว จึงทำให้ไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังประเทศต่างๆได้ดี ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ในครั้งนี้ผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวขยายออกไปในหลายๆประเทศ ซึ่งแม้ประเทศที่ไทยส่งออกไปจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่ก็ย่อมได้รับผลกระทบทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยตัวเลขการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าเดิมทั้งหลายในขณะนี้ได้ส่งสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และซาอุดิอาระเบียที่เป็นประเทศส่งออกรถยนต์หลักของไทยต่างมีมูลค่าการส่งออกทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะเฉพาะเดือนตุลาคมหดตัวลงอย่างมากจากเดือนก่อนหน้า รวมถึงในอีกหลายๆประเทศในอาเซียน ยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยต่างชะลอการนำเข้ารถยนต์จากไทย ประกอบกับประเทศที่เป็นตลาดสำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างก็เผชิญกับปัญหาอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงอย่างหนัก ทำให้บริษัทรถยนต์ในประเทศเหล่านี้บางส่วนต้องหันไปหาการส่งออกมากขึ้น ทำให้ตลาดการส่งออกในปัจจุบันและในระยะต่อไปต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และเนื่องจากไทยไม่ได้มีรถยนต์ที่เป็นตราสินค้าของตนเอง แต่ยังคงพึ่งพิงการลงทุนโดยตรงของบริษัทรถยนต์จากต่างประเทศ ส่งผลให้การผลิตและการตลาดยังคงต้องอิงกับการตัดสินใจของบริษัทแม่เป็นหลัก ทำให้การหาตลาดใหม่เพื่อการขยายการส่งออกอาจไม่ง่ายดังเดิม นอกจากนี้แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลง แต่ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากวิกฤติการเงินของสหรัฐในครั้งนี้มีความรุนแรงและลุกลามไปยังหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้สถาบันการเงินในประเทศต่างๆเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายดังเช่นที่ผ่านมา และยังมีผลทางอ้อมกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆที่เข้าถึงเงินกู้ได้ยากขึ้นทำให้สภาพคล่องในการดำเนินงานต่ำส่งผลให้มีบางกิจการต้องปิดการดำเนินการไป ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ปัจจุบันก็มีเกิดขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงาน ทำให้ผู้บริโภคปัจจุบันจำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นราคาน้ำมันที่ลดลงยังส่งผลต่อรายได้ของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทำให้มีรายได้ลดลง ความสามารถในการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเช่นรถยนต์ก็อาจไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่คาด
จากปัจจัยกดดันต่างๆข้างต้นส่งผลให้กำลังการผลิตรถยนต์ทั่วโลกปีนี้อาจจะหดตัวลง หลังจากที่ปีก่อนการผลิตมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.7 การหดตัวลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงอย่างหนักของยอดขายรถยนต์ในหลายๆภูมิภาคทั่วโลก จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้นและปัญหาการชะลอตัวของตลาดรถยนต์ทั่วโลก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทิศทางการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี2551 น่าจะขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 14 จากที่เติบโตร้อยละ 28 ในปี 2550ส่วนในปี 2552 ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่ภูมิภาคหลักของโลกมีแนวดน้มเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยประกอบกับแนวโน้มอุปทานที่ชะลอลงอย่างชัดเจน คาดว่าจะมีผลทำให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกปี 2552 อาจจะชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคมที่ประมาณร้อยละ 8 โดยแบ่งตามความรุนแรงของกรณีที่จะเกิดขึ้น คือ กรณีพื้นฐานซึ่งเป็นกรณีที่ตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยได้รับผลกระทบไม่ยืดเยื้อ หรือไทยสามารถขยายตลาดการส่งออกไปยังตลาดใหม่ได้ รวมถึงมีความพยายามที่จะสร้างไลน์การผลิตรถยนต์เซ็กเมนต์ใหม่ๆเพิ่มเติมเข้ามาในตลาด เช่น รถประหยัดพลังงานในรูปแบบต่างๆ และทันสำหรับการทำตลาดได้ภายในปีหน้า หรือมีการโยกฐานการผลิตบางส่วนเข้ามาในไทย ส่วนกรณีเลวร้ายจะเป็นกรณีที่ไม่มีกำลังการผลิตและการทำตลาดเพิ่มเติมขึ้นมา ภายหลังจากการลดกำลังการผลิตโดยค่ายรถยนต์ต่างๆถึงช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2552 โดยตัวเลขประมาณการแสดงดังตารางต่อไปนี้
2007 2008 ------------------ 2009 ------------------ กรณีพื้นฐาน กรณีเลวร้าย ปริมาณการส่งออก (คัน) 690,100 790,000 751,000 ถึง 719,000 711,000 ถึง 679,000 อัตราการขยายตัว (ร้อยละ) 28 14 -5 ถึง -9 -10 ถึง -14
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการส่งออกยังขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความยืดเยื้อของวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีผลต่อตลาดต่างประเทศที่ไทยส่งออกไป รวมถึงหากบริษัทแม่มีการวางแผนโยกย้ายฐานการผลิตบางส่วนเข้ามาในไทยแทนฐานการผลิตบางแห่งที่มีความคุ้มค่าในการลงทุนน้อยกว่า และการวางแผนการตลาดของบริษัทแม่ในการขยายตลาดการส่งออกมากขึ้น ก็อาจจะช่วยให้ความรุนแรงของผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยลดลงได้ ซึ่งภาครัฐอาจใช้โอกาสนี้ในการช่วยอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศโดยการเพิ่มความสะดวกในการลงทุน และความน่าลงทุนของไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนผลิตเพื่อการส่งออกจากต่างชาติให้เข้ามาในประเทศไทย ส่วนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์นั้น จากข่าวที่ออกมาซึ่งสื่อให้เห็นถึงทิศทางอุตสาหกรรมที่ย่ำแย่ลงอย่างรุนแรงนั้น คาดว่าด้วยสถานะที่ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติในครั้งนี้ ประกอบกับไทยเป็นประเทศที่เป็นฐานตลาดขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีฐานตลาดส่งออกที่กระจายไปยังกลุ่มประเทศต่างๆทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้นน่าจะไม่ยืดเยื้อยาวนาน อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการลดกำลังการผลิตจำนวนมากนี้อาจต้องหาแนวทางในการปรับแผนการผลิต และการตลาดของตนให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ แต่ยังต้องคงความรัดกุมและมีความระมัดระวังยิ่งขึ้นตามไปด้วย รวมถึงอาจใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาระดับมาตรฐานเทคโนโลยีเพื่อเตรียมรองรับตลาดใหม่ เช่น รถยนต์นั่งขนาดเล็กอย่างอีโคคาร์ หรือรถประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะเป็นแนวโน้มการตลาดรถยนต์ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งแม้ว่าตลาดรถยนต์ไทยในช่วง 1 ถึง 2 ปีนี้อาจจะดูซบเซาไปบ้าง แต่ด้วยความแข็งแกร่งของพื้นฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทั้งระบบ รวมถึงการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้โดยภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะยังคงมีการลงทุนต่อเนื่องในอนาคต อย่างไรก็ตามการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการตัดสินใจเรื่องแผนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในระยะข้างหน้า
ผู้สนใจสามารถสมัครสมาชิกได้ที่ฝ่ายสนับสนุนองค์กร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด อาคารธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 400/22 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร. (66 2) 0-2273-1883-5 โทรสาร. (66 2) 0-2270-1218 หรือ 0-2270-1235, 0-2270-1569, 0-2271-4032 Email: kr.info@kasikornresearch.com http://www.kasikornresearch.com
--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--