งานศึกษาค้นคว้า: พืชพลังงานปี 2552: ผลกระทบและแนวทางการปรับตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 21, 2009 15:08 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

จากปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 จนส่งผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจและภาคการเงินทั้งในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศแถบเอเชีย และมีสัญญาณว่ากำลังจะลุกลามจนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก ขณะเดียวกันช่วงต้นปี 2551 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จนกระทั่งวิ่งขึ้นไปสู่จุดสูงสุดที่ 147.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 และปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงมาอยู่ที่ราคาเฉลี่ย 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในเดือนตุลาคมปี 2551 ทำให้หลายประเทศต่างหวาดวิตกถึงผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่าจะมีความรุนแรงเพียงใด ซึ่งผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ลดลงมาก ขณะเดียวกันสหรัฐฯ เองก็เป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก ดังนั้น การที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงมาก ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า ดังนั้น คาดการณ์ว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจาก ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2552

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุมาจากความหวาดวิตกต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก และในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงขณะนี้ ทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมกับราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพลดลง จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการนำพืชพลังงานมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ประกอบกับคาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตพืชน้ำมันของโลกในปี 2551/2552 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากอานิสงส์ของราคาพืชพลังงานในปี 2551 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกพืชพลังงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาพืชพลังงานในตลาดโลกปรับตัวลดลง สำหรับปี 2552 คาดว่า ความต้องการพืชพลังงานจะลดลงจากปี 2551 ซึ่งมีปริมาณการผลิต และความต้องการใช้พืชพลังงานขยายตัวสูง ทั้งนี้ ปี 2551 นับเป็นปีทองของพืชพลังงาน เนื่องจากที่ผ่านมาทั่วโลกต่างหวาดวิตกเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตด้านอาหารและวิกฤตด้านพลังงานที่เกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศต่างหันมาสนใจพัฒนาพลังงานทดแทนโดยเฉพาะเอทานอลและไบโอดีเซลกันมากขึ้น ทำให้ที่ผ่านมาราคาพืชพลังงานทั้ง อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก จากความต้องการนำไปใช้ผลิตพลังงานทดแทนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มราคาพืชพลังงานที่สำคัญของไทย โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้

ปี 2551...โอกาสทองของพืชพลังงาน ผลักดันราคาพุ่งเป็นประวัติการณ์

นับตั้งแต่กลางปี 2550 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ราคาพืชพลังงานทั้ง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตามราคาพืชน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการพืชพลังงานเพื่อนำไปผลิตพลังงานทดแทนทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลที่ขยายตัวสูงทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สำหรับตลาดภายในประเทศ ความต้องการพืชพลังงานเพื่อนำไปผลิตเอทานอลขยายตัวตามปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยืนราคาสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั้งน้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันไบโอดีเซลมากขึ้นดังจะเห็นได้จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่า ปี 2551 (ตุลาคม) ไทยมีปริมาณจำหน่ายน้ำมันแก๊ส โซฮอล์ (ออกเทน 95 อี10,ออกเทน 91 อี10 และ ออกเทน 95 อี20) รวมกันทั้งสิ้น 10.5 ล้านลิตร/วัน (คิดเป็นปริมาณการผลิตเอทานอลประมาณ 1 ล้านลิตร/วัน) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีปริมาณจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพียง 5.8 ล้านลิตร/วัน (คิดเป็นปริมาณการผลิตเอทานอล 0.5 ล้านลิตร/วัน) หรือขยายตัวถึงร้อยละ 81.0 สำหรับน้ำมันไบโอดีเซลก็มีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นเช่นกันจากมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B2 และB5 ของภาครัฐ ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 2551 (เดือนตุลาคม) ปริมาณจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B5 เพิ่มขึ้นเป็น 13.3 ล้านลิตร/วัน จากปี 2550 ซึ่งมีปริมาณจำหน่ายเพียง 2.1 ล้านลิตร/วัน

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาราคาพืชพลังงานที่นำไปผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลทั้งมันสำปะหลัง ถั่วเหลืองและปาล์มน้ำมันมีราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยในเดือนเมษายน 2551 ราคาหัวมันสำปะหลังสดปรับตัวสูงสุดอยู่ที่ 2.23 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.72 บาท/กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 ส่วนราคาพืชพลังงานอื่นๆก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยช่วงต้นปี 2551 ราคาถั่วเหลืองในประเทศอยู่ที่ 16-17 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10.95 บาท/กิโลกรัม สำหรับราคาผลปาล์มสดปรับตัวสูงที่สุดในเดือนมกราคมปี 2551 อยู่ที่ 5.90 บาท/กิโลกรัมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีราคา 3.02 บาท/กิโลกรัม

ประเด็นที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เป็นต้นมา ราคาพืชน้ำมันของโลกทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ดัชนีราคาหมวดพืชน้ำมันที่สำคัญของโลก ทั้งถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน เรพซีด (Rapeseed) และดัชนีราคาหมวดน้ำมันพืชโดยเฉพาะน้ำมันปาล์มปรับตัวลดลงที่เคยมีราคาพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์จนทำสถิติสูงสุดในช่วงต้นปี 2551 และดัชนีราคาเริ่มปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อรองรับปริมาณความต้องการพืชพลังงานที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า โดยในปี 2551 (เดือนกันยายน) ดัชนีราคาหมวดพืชน้ำมันอยู่ที่ 233 ส่วนดัชนีราคาน้ำมันพืชอยู่ที่ 209 ซึ่งปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายน ปี 2551 ซึ่งมีดัชนีราคาอยู่ที่ 295 และ 292 ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทยเอง ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ราคาพืชพลังงานที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะมันสำปะหลังถั่วเหลืองและปาล์มน้ำมันต่างปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเช่นกันตามการเปลี่ยนแปลงของราคาพืชน้ำมันในตลาดโลกเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจเกษตร พบว่า ในปี 2551 (เดือนตุลาคม)หัวมันสำปะหลังสดมีราคา 1.40 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลงจากช่วงต้นปี 2551 ซึ่งมีราคาสูงสุด 2.23 บาท/ กิโลกรัม หรืดลดลงถึงร้อยละ 37.2 สำหรับราคาพืชพลังงานอื่นๆ ก็ปรับลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยราคาถั่วเหลืองในประเทศเดือนตุลาคม 2551 มีราคาอยู่ที่ 15.87 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลงจากช่วงต้นปี 2551 ซึ่งมีราคา 16-17 บาท/กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 6.6 และราคาผลปาล์มสดในเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ 2.72 บาท/กิโลกรัม ลดลงจากช่วงต้นปี 2551 ซึ่งมีราคาสูงที่สุด 5.90 บาท/กิโลกรัม หรือปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ 53.9

ปี 2552 ราคาพืชพลังงานจะทรงตัวในระดับเดียวใกล้เคียงกับครึ่งหลังป ?2551...พึงระวังหลาก

ปัจจัยเสี่ยง

สำหรับปี 2552 คาดว่า ราคาพืชพลังงานในประเทศจะทรงตัวใกล้เคียงกับช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เนื่องจากราคาได้ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากแล้ว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการพืชพลังงานขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับความวิตกกังวลต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นยังไม่สามารถประเมินผลกระทบจากความรุนแรงของความผันผวนของราคาน้ำมันและวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้ ดังนั้น ในปี 2552 หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสามารถปรับราคามาอยู่ที่เหนือระดับ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จากการที่กลุ่มโอเปกประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน อีกทั้งการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจสามารถทำให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ก็จะส่งผลดีทำให้แนวโน้มความต้องการพืชพลังงานขยายตัวตามปริมาณความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มขึ้น แต่หากในปี 2552 ทิศทางราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่ำกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ก็ย่อมส่งผลกระทบทำให้ความต้องการนำพืชพลังงานมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอาจลดลงมาก เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับน้ำมันปิโตรเลียมได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปัจจัยกดดันราคาพืชพลังงานในปี 2552 จะมีประเด็นความเสี่ยงหลายประการ ดังนี้

  • ปริมาณผลผลิตพืชน้ำมันของโลกขยายตัว

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่า ปี 2551/2552 ผลผลิตพืชน้ำมันของโลกจะมีปริมาณ 420.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550/2551 ซึ่งมีปริมาณผลผลิต 391.2 ล้านตัน หรือขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 7.5 ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาผลผลิตพืชพลังงานล้นตลาด และทำให้ราคาพืชพลังงานตกต่ำลงได้ สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่า ปี 2551/2552 ปริมาณการผลิตพืชพลังงานจะขยายตัวมาก โดยเฉพาะมันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากราคาพืชพลังงานในปี 2551 อยู่ในเกณฑ์สูง จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยในปี 2551/2552 ผลผลิตมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 29.2 ล้านตัน ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 15.9 ส่วนผลผลิตปาล์มน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.4 ล้านตัน ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 19.4 ซึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกพืชพลังงานของภาครัฐ และปัจจัยบวกจากราคาพืชพลังงานในปี 2551 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูง ขณะที่ในปี 2551/2552 ปริมาณผลผลิตอ้อยกลับลดลงเป็น 74.0 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 3.5 เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

  • ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงรวดเร็วในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันปิโตรเลียมกับราคาน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพปรับลดลง ความต้องการพืชพลังงานจึงลดลงตามไปด้วย และอาจส่งผลให้ราคาพืชพลังงานตกต่ำจนอาจก่อให้เกิดปัญหาพืชพลังงานล้นตลาดได้

  • ความกังวลต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก

จากสถานการณ์วิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ที่กำลังลุกลามกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจซบเซาไปทั่วโลกจนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอยทั้งการบริโภคและการเดินทางต่างๆ ลง ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นประเทศที่สัดส่วนการใช้น้ำมันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น การที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยจึงส่งผลกระทบทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ลดลงตามไปด้วย

ผลกระทบและแนวทางปรับตัวของธุรกิจ...เตรียมรับมือฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของราคาน้ำมัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการพืชพลังงานของไทย โดยเสนอแนะแนวทางการปรับตัวของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในธุรกิจเพื่อรับมือกับผลพวงของวิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งประเด็นการวิเคราะห์ออกเป็นกลุ่มต่างๆ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • ผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชพลังงาน จากภาวะสินค้าเกษตรในปี 2551 ซึ่งมีราคาสูงประกอบกับนโยบายส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกพืชพลังงานของรัฐบาลเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรมีแรงจูงใจการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาพืชพลังงานกลับพลิกผันจากในช่วงต้นปี 2551 ซึ่งมีราคาสูงและราคากลับปรับตัวลดลงมากในช่วงครึ่งหลังปี 2551 ดังนั้น คาดว่า จะส่งผลกระทบทำให้รายได้ของเกษตรกรในปี 2552 ลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตพืชพลังงานยังปรับตัวลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายได้สำหรับแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ คือ ควรจัดให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อรวมกลุ่มกันซื้อปัจจัยการผลิต และ

รวบรวมผลผลิตในการขายเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับโรงงานผู้ผลิต ขณะเดียวกันภาครัฐควรมีแนวทางชัดเจนในการบริหารจัดการการผลิตพืชพลังงานให้เหมาะสมกับภาวะราคาน้ำมัน รวมทั้งส่งเสริมการปลูก และการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร การจัดโซนนิ่งการปลูกพืชแต่ละชนิดตามความเหมาะสมของพื้นที่ การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตต่อไร่ และการขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเข้าไปลงทุนปลูกพืชพลังงานในลักษณะ Contract Farming ให้มากขึ้น รวมทั้งการรณรงค์ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกรณีของปาล์มน้ำมัน โดยการร่วมมือกันระหว่างไทยกับมาเลเซียและอินโดนีเซียในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างเป็นระบบ สำหรับสถานการณ์ล่าสุดภาครัฐได้ออกมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในส่วนของพืชพลังงานทั้งมันสำปะหลัง ถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งนับเป็นนโยบายที่เหมาะสมในการพยุงราคาพืชพลังงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อย่างไรก็ตามภาครัฐควรเร่งวางแผนจัดการการปลูกพืชพลังงานโดยคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิตพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว

  • ผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้ามา

ลงทุนในธุรกิจผลิตพลังงานทดแทนอาจต้องเผชิญความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนอาจชะลอการลงทุนตั้งโรงงานผลิตพลังงานทดแทน เนื่องจากความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ราคาน้ำมัน ทั้งนี้ โรงงานผู้ผลิตพลังงานทดแทนรายใหญ่ย่อมได้เปรียบรายเล็ก เนื่องจากมีการต่อยอดธุรกิจมาจากบริษัทผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันปิโตรเลียมทำให้มีการบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือโรงงานผู้ผลิตควรมีการวางแผนการผลิตร่วมกันและการจัดการสต็อกให้เหมาะสมกับปริมาณผลผลิตในแต่ละช่วงฤดูกาล รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการส่งออกพลังงานทดแทนไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐควรเร่งเพิ่มสัดส่วนการผสมเอทานอลและไบ โอดีเซลลงในน้ำมันปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยระบายสต็อกของโรงงานผู้ผลิตซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสัดส่วนความต้องการใช้พืชพลังงานให้มากขึ้นด้วย

  • ผลกระทบต่อผู้บริโภค จากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้พฤติกรรมการใช้น้ำมันของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวหันมาใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลมากขึ้น เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันปิโตรเลียมและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพปรับลดลง จากเดิมในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันปิโตรเลียมในขณะนั้นมีราคาสูงมาก อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อความต้องการใช้พืชพลังงานได้ ดังนั้น แนวทางที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ซึ่งมีความเหมาะสมในการแก้ปัญหา โดยการรณรงค์ส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพภายในประเทศให้มากขึ้น โดยการรักษาส่วนต่างของราคาน้ำมันชีวภาพทั้งน้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันไบโอดีเซลกับราคาน้ำมันปิโตรเลียมให้เหมาะสมเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมานิยมใช้กันมากขึ้น
  • ผลกระทบต่อนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ สำหรับประเด็นที่น่าสนใจคือ ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันตกต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันปิโตรเลียมมากขึ้นเนื่องจากมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมันจากเชื้อเพลิงชีวภาพไม่มากนัก ขณะเดียวกันก็ยิ่งทำให้ประชาชนมีความสนใจใช้พลังงานทดแทนลดลง จนอาจส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศตามกรอบระยะเวลา 15 ปีซึ่งภาครัฐกำลังดำเนินการผลักดันอยู่ในขณะนี้ โดยภาครัฐมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบจากร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 8 ภายในปี 2554 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในปี 2565 เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความยั่งยืนทางพลังงานของประเทศไทยในระยะยาว ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งวางแผนจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ของธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านวัตถุดิบ การผลิต การตลาด การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้สามารถบริหารจัดการการผลิต และความต้องการใช้พลังงานชีวภาพอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งบริหารจัดการการผลิตพืชพลังงานให้เหมาะสมกับภาวะราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน

กล่าวโดยสรุป จากปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก และภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนต่างของราคาน้ำมันปิโตรเลียมกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพปรับตัวลดลงส่งผลกระทบทำให้ความต้องการใช้พืชพลังงานลดลง สำหรับปี 2552 คาดว่า แนวโน้มความต้องการพืชพลังงานจะลดลงจากปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ราคาพืชพลังงานปรับตัวสูงมากเป็นประวัติการณ์เนื่องจากทั่วโลกต่างกังวลเกี่ยวกับวิกฤตด้านอาหารและด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2551 ทำให้หลายประเทศต่างหันมาสนใจพลังงานทดแทนกันมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่า ปี 2552 ราคาพืช พลังงานในประเทศจะทรงตัวในระดับเดียวกับช่วงครึ่งหลังปี 2551 โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งปริมาณผลผลิตพืชน้ำมันของโลกที่เพิ่มขึ้น แรงกดดันจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และความกังวลต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ผลกระทบและเสนอแนะแนวทางการปรับตัวของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน ผู้ประกอบการที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน และผู้บริโภค รวมทั้งผลกระทบต่อนโยบายพลังงานของภาครัฐ ทั้งนี้ อนาคตของธุรกิจพลังงานทดแทนของไทยขึ้นอยู่กับความชัดเจนในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ซึ่งหากพิจารณาทางด้านความคุ้มทุนในการผลิตพลังงานชีวภาพเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่หากพิจารณาถึงความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยในระยะยาวแล้ว ภาครัฐจึงน่าจะ ยังคงมีความจำเป็นในการพัฒนาพลังงานชีวภาพทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญของประเทศในระยะยาวอยู่ต่อไป และในอีกทางหนึ่งก็เป็นการช่วยลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ดังนั้น ในระยะยาวแล้วภาครัฐก็จะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจังและโดยต่อเนื่อง เพื่อช่วยผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยให้เกิดผลสำเร็จสูงสุดเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในอนาคต

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ