บทความ: การเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปสำหรับ SMEs

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 16, 2009 14:44 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง “การเข้าสู่ตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้าสำหรับ SMEs : กรณีศึกษา ASEAN-EU FTA” จัดโดยศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับการสนุบสนุนเงินทุนการวิจัยจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) โดยเนื้อหาการสัมมนาจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ สรุปผลการการศึกษาการเข้าสู่ตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้าสำหรับ SMEs : กรณีศึกษา ASEAN-EU FTA และส่วนที่ 2 คือ การอภิปรายเกี่ยวกับการค้าในตลาดสหภาพยุโรปโดยผู้มีประสบการณ์จริงในตลาด ผมเห็นว่า ตลาดสหภาพยุโรปเป็นตลาดหนึ่งที่มีความน่าสนใจในการเข้าไปทำการค้า และการลงทุนสำหรับ ผู้ประกอบการไทย จึงนำมาสรุปเป็นสาระสำคัญเพื่อเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่กำลังสนใจลงทุนในตลาดนี้ครับ

ส่วนที่ 1 ผลการศึกษาการเข้าสู่ตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้าสำหรับ SMEs : กรณีศึกษา ASEAN-EU FTA

การศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยกำหนดให้ตลาดเป้าหมายในการศึกษาสหภาพยุโรป ได้แก่ เยอรมัน,โปแลนด์และเช็ค เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งที่เหมาะสมของสหภาพยุโรป (หมายเหตุ : ปัจจุบัน สหภาพยุโรปมีสมาชิก 27 ประเทศ)

ขอบเขตการศึกษา

  • ภาคสินค้า ได้แก่ อาหาร, เสื้อผ้า, อัญมณี, เครื่องหนัง, เครื่องใช้ไฟฟ้า และ เฟอร์นิเจอร์
  • ภาคบริการ ได้แก่ การท่องเที่ยว (ในลักษณะ Business alliance) ตัวอย่างเช่น อาหาร, โรงแรม, ธุรกิจสปา ฯลฯ

สรุปผลการศึกษา ปัจจัยกำหนดการเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปสำหรับ SMEs ไทย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. การพัฒนาความสามารถในการผลิต และประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตของผู้ประกอบการเอง ได้แก่ การปรับปรุงคุณภาพสินค้า, ลดต้นทุนการผลิตและการปรับปรุงองค์กร ผ่านกระบวนการ R&D และอบรม เนื่องจากตลาดสหภาพยุโรปเป็นตลาดที่คำนึงถึงความสำคัญของสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อมอย่างมากการปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จะทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดแห่งนี้ได้

2. สภาพแวดล้อมเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ภาครัฐเป็นผู้เจรจาแทนภาคเอกชน ได้แก่

  • การลดภาษี ได้แก่ รายการสินค้าที่ลดให้ และเงื่อนไข RoO
  • อุปสรรคที่มิใช่ภาษี ได้แก่ SPS, WEEE, ROHs, REACH, CE Mark/Labelling และ E1
  • การอำนวยสะดวกด้านการค้า ได้แก่ ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค, ความช่วยเหลือเพื่อสร้างความสามารถ, การพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนากลไกการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารสภาพแวดล้อมเหล่านี้ นับว่าเป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัดของผู้ประกอบไทยที่ต้องการส่งออกไปสหภาพยุโรปอย่างมาก โดยผู้ประกอบการบางส่วนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก ในขณะที่บางส่วนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ยังคงต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับตัวรับกับ FTAs ASEAN-EU ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ข้อเสนอแนะการเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป

1. กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดอย่างง่าย กล่าวคือ ต้องไม่เข้มงวดเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการค้า, ต้องสอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตสินค้าของไทย, ภาคเอกชนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTAs ควรเตรียมพร้อมด้านระบบบัญชี และต้องมีการบันทึกว่า สินค้าของตนใช้วัตถุดิบจากแหล่งไหน และมีแรงงานเท่าไหร่

2. กำหนดทิศทางการพัฒนาในระดับมหภาค ได้แก่ การพัฒนาสินค้าและบริการที่ไทยมีความได้เปรียบและต่างชาติให้การยอมรับอย่างจริงจัง เช่น อาหาร, อัญมณี,เฟอร์นิเจอร์ และการบริการนวด, สร้าง Country Image ที่เป็นตราสินค้ารวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์ Made In Thailand, มีการกำหนดหน่วยงานอิสระที่ดูแลการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในต่างประเทศแบบบูรณาการ

3. พัฒนาและส่งเสริมการสร้างตรายี่ห้อ (Branding) ได้แก่ พัฒนาเอกลักษณ์ของยี่ห้อ (Brand Identity) และป้องกันไม่ให้ “ความเป็นไทย” ถูกใช้โดยคู่แข่ง เช่น ร้านอาหารผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิว

4. ยกระดับคุณภาพและการสร้างมาตรฐานของสินค้า ได้แก่ พัฒนามาตรฐานสินค้าและวิชาชีพไทยให้เป็นที่ยอมรับ, พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานที่ทัดเทียมและก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆ, พัฒนานักออกแบบและพัฒนาฝีมือการผลิตที่มีเอกลักษณ์โดยการจัดตั้งสถาบันออกแบบเฉพาะ

5. พัฒนากลไกเชื่อมโยงข้อมูล ควรมีการเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับสหภาพยุโรปให้ทั่วถึง และมีศูนย์กลางอยู่ที่เดียวกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประกอบการตัดสินใจทางด้านการค้าและการลงทุน

6. เตรียมพร้อมกฎหมายภายใน

7. ต่อรองระยะเวลาของการปรับตัว และสร้างมาตรการรองรับ

8. คำนึงถึงความแตกต่างของการพัฒนา

9. ความร่วมมือด้านเทคนิค บุคลากร และความรู้

10. ส่งเสริมการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ จะพบว่า จากการศึกษาดังกล่าว ทำให้เราทราบว่า การเข้าไปสู่สหภาพยุโรปมิใช่เรื่องง่ายเนื่องจากสหภาพยุโรปค่อนข้างมีกฎระเบียบมาก ดังนั้น ในการบุกตลาดสหภาพยุโรปให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการทั้งจากภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ประเทศไทยเริ่มตื่นตัวทำการวิจัยเกี่ยวกับตลาดนี้อย่างจริงจัง สำหรับรายละเอียดงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ท่านสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการ วิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนที่ 2 การอภิปรายเกี่ยวกับการค้าในตลาดสหภาพยุโรปโดยผู้มีประสบการณ์จริงในตลาด โดยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีประสบการณ์ด้านการค้าและการลงทุนในตลาดสหภาพยุโรป ประกอบด้วย 1.คุณเจริญ รุจิราโสภณ ประธานกรรมการ บริษัท อุตสาหกรรมอาหาร ส.ขอนแก่น จำกัด (มหาชน) 2.คุณวัลลภ วิตนากร ประธานกรรมการ บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จำกัด(รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมฯ) และ 3.คุณชุมพร สุขประสงค์ผล ที่ปรึกษานายกสมาคมภัตตาคารไทย โดยทั้งสามท่านได้กล่าวถึงประสบการณ์ในตลาดสหภาพยุโรปที่น่าสนใจอย่างมาก ซึ่งผมจะหยิบมาเฉพาะประเด็นสำคัญ ดังนี้

ปัญหาการเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป ได้แก่

  • มักถูกกีดกันด้วยมาตรการ NTBs (Non-tariff barriers) ของสหภาพยุโรป โดยมาตรการต่างๆ อาทิเช่น SPS, WEEE, ROHs, REACH, CE Mark/ Labelling และ E1
  • ปัญหาการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน (Double Standard) สำหรับประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้น และไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของสหภาพยุโรป
  • ปัญหาด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญเพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหภาพยุโรปได้
  • การบริหารจัดการของผู้ประกอบการไทยยังไม่ดีมากพอ ทำให้ต่างชาติที่มีระบบการจัดการที่ดีกว่า จ้างแรงงานไทยเป็นผู้ปฏิบัติ และตนเองเป็นผู้บริหารส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสที่ดีไป

จุดแข็งของสินค้าและบริการไทย

  • สินค้าไทยมีชื่อเสียงด้านการผลิตสินค้าแบบ OEM สินค้า Made in Thailand เป็นที่ยอมรับของต่างชาติในเรื่องของคุณภาพการผลิต อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวควรมีการพัฒนาจาก OEM เป็น OBM ต่อไป
  • แรงงานมีทักษะในการบริการสูง (Service mind) เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ แต่ขาดทักษะด้านภาษาอังกฤษ
  • มีภาพลักษณ์ของประเทศที่ดี (Country Image) โดยเฉพาะ สินค้าอาหาร ทำให้เป็นโอกาสที่จะเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปด้วย Brand ไทย

วิธีการเข้าสู่ตลาดสภาพยุโรป

  • เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในตลาดสหภาพยุโรป ลำดับแรกท่านผู้ประกอบการที่ไม่ทราบว่าสหภาพยุโรปเป็นอย่างไร? ท่านควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในตลาดก่อนเพื่อทดสอบว่าสินค้าของท่านเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่? โดยท่านสามารถติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับงานแสดงสินค้าในประเทศต่างๆ ได้ที่กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง การที่ท่านมีโอกาสนำสินค้าของท่านไปแสดงในงานแสดงสินค้า เปรียบเสมือนการทดลองตลาด นอกจากนี้ ผลจากการแสดงสินค้าในงานดังกล่าว ท่านอาจจะได้ลูกค้า หรือ พันธมิตรทางธุรกิจ(alliances) ที่เป็นคนในพื้นที่ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับการต่อยอดทางธุรกิจ
  • หาพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ท่านผู้ประกอบการต้องหา partners ที่มีความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบของสหภาพเป็นอย่างดีและไว้ใจได้ เนื่องจากสินค้าในตลาดสหภาพยุโรปมีกฎระเบียบเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยมากยกตัวอย่างเช่น ฉลากสินค้าต้องพิมพ์ถึง 4 ภาษาจึงจะสามารถจำหน่ายได้
  • ลงทุนตั้งโรงงานที่สหภาพยุโรป การตั้งโรงงานที่สหภาพยุโรปจะสามารถลดอุปสรรคของ NTBs ได้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการวางแผนก่อนเข้าไปลงทุนอย่างรอบคอบ เนื่องจากสหภาพยุโรปมีกฎระเบียบค่อนข้างมาก
  • ต้องปรับตัวตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสหภาพยุโรป กฎระเบียบของสหภาพยุโรปค่อนข้างเคร่งครัด โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปในทางการรักษาสิ่งแวดล้อมและพลานามัยของประชาชน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้ากับสหภาพยุโรปควรปรับตัวรับกับมาตรฐานต่างๆ ของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าได้ โดยไม่ถูกตีกลับมาด้วยเหตุที่สินค้าขาดคุณสมบัติด้านมาตรฐานที่ไม่พึงประสงค์ตามเกณฑ์ของสหภาพยุโรป
  • ต้องนำการบริหารจัดการมาใช้เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยต้องนำระบบการบริหารจัดการเข้ามาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะระบบบัญชีที่บ่งชี้ถึงแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าไปโดยไม่ติดปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ การจัดการระบบการบริหารที่ดี จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุนในการขนส่งและต้นทุนในการผลิตได้
  • นำเข้านักออกแบบที่มีชื่อเสียงเข้ามาพัฒนาสินค้าในประเทศ การมี Designer ดังๆ เข้ามาในประเทศมาก จะส่งผลทำให้บริษัทข้ามชาติ เลือกที่จะจ้างโรงงานในไทยผลิตมาก เพื่อลด Lead time ของการผลิตหลังจากออกแบบแล้ว ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม หากรับ Orders จากบริษัทข้ามชาติที่นักออกแบบอยู่ภายนอก สินค้าจะมี Lead time ในการออกสู่ตลาดประมาณ 9 เดือน แต่หาก Designer อยู่ในประเทศไทยจะช่วยลด Lead time ลงเหลือ 4 เดือน เนื่องจากบริษัทข้ามชาติเลือกที่จะจ้างโรงงานในไทยผลิตมากกว่าจ้างโรงงานประเทศอื่น ผมหวังเป็นอย่างยิ่งนะครับว่า สาระสำคัญจากผู้มีประสบการณ์จริงในตลาดสหภาพยุโรปในฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าไปทำตลาดในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม เหนือสิ่งอื่นใดทุกครั้งที่ท่านตัดสินใจเข้าสู่ตลาดใด??? ผมอยากจะแนะนำเป็นข้อคิดว่า “ท่านต้องศึกษาข้อมูลในตลาดนั้นให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ” เพื่อท่านจะได้ทราบโอกาสและอุปสรรคของตลาดนั้นๆ อันจะนำไปสู่การเตรียมการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นตามที่ท่านไดป้ ระเมินไวล้ วงหน้าครับ...

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ