บทความ: ก.อุตฯวางแผนดันไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์แฝดกับกวางโจวของจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 16, 2009 15:25 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนา "ทิศทางและการเตรียมความพร้อมเพื่อการจัดตั้งศูนย์กลางโลจิสติกส์แฝดโลก ไทย-กวางโจว" ว่า ปัจจุบันจีนมีการขนถ่ายสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกหรือมากกว่า 50 ล้านตู้ต่อปี มีมูลค่าทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก การที่จีนตั้งเป้าให้กวางโจว เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภายใน 10 ปีนับจากนี้ ประเทศไทยจึงน่าจะใช้โอกาสนี้เชื่อมโยงและเตรียมความพร้อมเพื่อจัดตั้งและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์แฝดกับกวางโจว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในเดือน ส.ค.นี้จะเดินทางไปดูงานโลจิสติกส์ที่นครกวางโจว และลงนามความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนไทย-กวางโจว ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่ไทยขยายธุรกิจด้านโลจิสติกส์และเอสเอ็มอีสามารถพัฒนาเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างแนวทางความร่วมมือและจับคู่พันธมิตรธุรกิจการค้าระหว่างไทยและจีน โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้วางแผนผลักดันและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม 4 ด้าน ได้แก่ การเชื่อมโยงระหว่างองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน การปรับปรุงประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภายในองค์กร การพัฒนาขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ และการสร้างปัจจัยเอื้อเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายระยะต้นและระยะกลางรวม 13 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อาหาร น้ำตาลทราย ยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็กและเหล็กกล้า มีเป้าหมายให้ไทยและกวางโจวเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์แฝด

นายภักดิ์ ทองส้ม รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเดียวที่จะร่วมในกรอบเหลี่ยมเศรษฐกิจทั้ง 5 กรอบ ได้แก่ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจ หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ และเจ็ดเหลี่ยมเศรษฐกิจ จึงมีบทบาทสำคัญในการก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน และมีโอกาสถูกคัดเลือกให้เป็นประตูการค้าการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงสินค้าและบริการสู่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน การที่กวางโจวกำหนดยุทธศาสตร์เป็นเมืองแห่งศูนย์กลางโลจิสติกส์โลกภายใน 10 ปี จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ขยายธุรกิจด้านโลจิสติกส์และสนับสนุนให้เอสเอ็มอีไทยพัฒนาเชื่อมโยงกับจีนและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ทำให้เกิดความได้เปรียบและสร้างแนวทางความร่วมมือและการจับคู่ทางธุรกิจดีกว่าประเทศอื่น

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ