บทความ: ทางออกของพ่อแม่ แก้ปัญหาลูกน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 13:35 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนคงเคยปวดหัวกับปัญหาการกินของลูกๆ เช่น ลูกไม่ยอมกินข้าว ลูกน้อยไม่ยอมกินผัก และวินัยการกินที่ผิดๆ จนทำให้อ้วน หรือร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย วันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆ จากนักกำหนดอาหารชื่อดัง และผู้เขียนหนังสือ “สุดยอดอาหาร สร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะ เพื่อเปิดโลกการศึกษาทางเลือกและพัฒนาการสู่อัจฉริยะของลูกน้อย

กฤษฎี โพธิทัต นักกำหนดอาหารและนักเขียนกล่าวว่า ซูเปอร์ฟู้ดของเด็กๆ ก็คือ สุดยอดอาหารมากคุณค่า ด้วยหลักการง่ายๆ คือ เป็นอาหารธรรมชาติที่ไม่ได้ผ่านขบวนการผลิต อาทิ ผัก เนื้อหมู เนื้อปลา มีประโยชน์ และรวมถึงความอร่อย ซึ่งจะส่งผลดีและจำเป็นต่อสมอง ร่างกาย และจิตใจ ของเด็กๆ ได้อย่างง่ายดาย เพราะอาหารสมองไม่ได้มีเพียงแค่ ดีเอชเอ หรือ โอเมก้า3 เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยความสมดุลของสารอาหารหลากหลายชนิด ดังนั้น เด็กๆ จึงไม่ควรพลาด ถั่ว ไข่ เนื้อไก่ ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ ที่เป็นอาหารสมองด้วยเช่นกัน

ปัญหาการกินของเจ้าตัวน้อยนั้นนักกำหนดอาหารให้คำแนะนำว่า การที่ลูกไม่ยอมกินข้าวหรืออมข้าวนั้น อาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งการกินขนมทั้งวัน จึงทำให้ไม่รู้สึกหิว หรือลูกเคี้ยวไม่เป็น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้เป็นที่น่าสนใจ และควรสร้างบรรยากาศที่ดีในการกินด้วย รวมถึงเรื่องการจัดเวลาในการดื่มนม เพราะถ้าดื่มนมใกล้มื้ออาหารหรือกินไม่เป็นเวลาจะทำให้ลูกไม่รู้สึกหิว และสิ่งสำคัญที่สุดคือไม่ควรบังคับให้ลูกกินเยอะๆ เพราะเขาจะรู้สึกอึดอัดและไม่อยากกินอีกต่อไป ในบางครั้งคุณแม่ต้องให้ลูกมีส่วนร่วมในการคิดเมนูอาหาร หรือขั้นตอนการทำอาหารต่างๆ จะทำให้เด็กรู้สึกสนุกแล้วอยากกินอาหารที่เขาทำ

ส่วนกรณีที่ลูกกินแต่ขนมไม่ยอมกินข้าวนั้น ควรจัดอาหารว่างให้ห่างจากมื้ออาหารหลักประมาณ 2-3 ชั่วโมง เมื่อลูกรู้สึกหิวจะยอมกินเอง และควรสร้างบรรยากาศที่ดีในการกินด้วย คุณกฤษฎี แนะนำว่า ควรจัดมื้ออาหารหลักให้เป็นเวลา เพราะลูกจะรู้สึกหิวและอยากกิน ส่วนอาหารว่างนั้นก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเด็กจะมีกระเพาะที่เล็กกว่าและใช้พลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ค่อนข้างเยอะ แต่คุณแม่ควรเลือกอาหารว่างที่ไม่อิ่มท้องจนเกินไป ไม่เช่นนั้นลูกจะไม่หิวเมื่อถึงเวลากินข้าว

ปิดท้ายที่ลูกไม่ยอมกินผักหรือผลไม้เลย คุณแม่ต้องมีเทคนิคจูงใจในการกินผักต่างๆ เช่น พลิกแพลงเมนูผักให้หลากหลาย จะช่วยทำให้ลูกหันมาสนใจการกินผักมากขึ้น รวมถึงการปรุงรสชาติให้กลมกล่อม สีสันของจาน ชาม ก็จะดึงดูดให้เด็กๆ มีความสนใจมากขึ้น คุณกฤษฎี เสริมว่า ทุกคนในบ้านควรเป็นตัวอย่างในการกินผักเป็นประจำ โดยทุกมื้อควรมีจานผักวางอยู่แล้วให้ลูกฝึกกินผักไปเรื่อยๆ วันละชนิดจนเป็นนิสัย

"การรับประทานอาหารเช้านั้นถือเป็นเรื่องสำคัญมาก บางครอบครัวมีชีวิตที่ค่อนข้างเร่งรีบ ทำให้ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดเนื่องจากลูกได้รับอาหารครั้งสุดท้ายคือมื้อเย็น น้ำตาลในเลือดจึงต่ำมากในช่วงเช้า สมองต้องการพลังงานโดยเฉพาะจากคาร์โบไฮเดรต อาจทำให้เด็กบางคนมีอาการซึมหรือไม่ค่อยตอบสนอง แต่ถ้าลูกได้รับประทานอาหารที่เหมาะสมจะทำให้เด็กมีสมาธิ มีพลังงาน ไม่เหนื่อยง่าย และตอบสนองได้ดี ถ้าลูกไม่รับประทานอาหารเช้า จะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมถึงเกิดปัญหาโรคอ้วนตามมา เพราะเด็กที่ไม่รับประทานอาหารเช้าจะรู้สึกหิวช่วงบ่าย และทำให้รับประทานมื้อเย็นเยอะขึ้น สำหรับเมนูของครอบครัวที่ไม่มีเวลาเตรียมมื้อเช้ามากนัก คุณแม่ควรทำเมนูที่ใช้เวลาไม่นานเช่น ขนมปังปิ้งกับนม ข้าวไข่เจียว หรือ แซนด์วิชทูน่า" ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารแนะนำ

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ