จากผลของการที่ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกลำไยใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งในรูปของลำไยสดแช่แข็ง ลำไยอบแห้ง และลำไยกระป๋อง โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย และบางประเทศในยุโรปนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงฤดูกาลที่ลำไยออกสู่ตลาดจะเห็นว่าผลผลิตรวมของลำไยออกมาปริมาณมาก ทำให้ล้นตลาดและราคาตกต่ำ นั่นยังไม่นับการถูกกีดกันทางการค้าบางประการในการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
แนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาลำไยล้นตลาดและราคาตกต่ำคือ การพัฒนาคุณภาพการผลิตและการแปรรูป ซึ่งสอดคล้องกับ ผศ.ดร.กลอยใจ เชยกลิ่นเทศ นักวิจัยคณะเทคโนโลยีการเกษตร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่มีความตั้งใจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลไม้ไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ อีกทั้งไม่ต้องกังวลต่อปัญหาการถูกกีดกันทางการค้าจากข้ออ้างการใช้สารเคมี ซึ่งในที่สุดก็ค้นพบการอบลำไยแห้งที่มีคุณภาพ แถมยังใช้เวลาน้อยมากอีกด้วย
วิธีการอบที่ค้นพบ คือ "การอบลำไยด้วยไมโครเวฟร่วมกับอินฟราเรด ตามด้วยลมร้อน” เป็นวิธีการที่ใช้เวลาอบเพียง 5 ชั่วโมง 25 นาที ซึ่งนับว่าเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับการอบลำไยที่ใช้วิธีอบทั่วไปในปัจจุบันที่ใช้เวลา 12 ชั่วโมง โดยประมาณ
ผศ.ดร.กลอยใจเล่าว่า จากการศึกษาพบว่า เนื้อลำไยที่อบในไมโครเวฟ 400 วัตต์ ระยะเวลา 5 นาที ร่วมกับอินฟราเรดที่อุณหภูมิจากแหล่งกำเนิด 350 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 5 นาที พัก 5 นาที จำนวน 5 ครั้ง รวมเวลาทั้งหมด 75 นาที สามารถลดความชื้นในลำไยได้ประมาณ 1 ใน 3 ส่วน จากนั้นนำไปอบต่อด้วยลมร้อนอีก 13 ชั่วโมง ลำไยอบแห้งที่ได้มีลักษณะดี คือ คงรูปใกล้เคียงกับเนื้อลำไยที่คว้านเมล็ดออกใหม่ ไม่เหนียวติดมือ สีไม่คล้ำ เคี้ยวในปากนุ่มกว่าเนื้อลำไยแห้งที่อบด้วยลมร้อนอย่างเดียว
นอกจากลดเวลาในการอบได้กว่าเท่าตัวแล้ว ผู้วิจัยยังเล่าว่า ในการอบแห้งโดยทั่วไปจะอาศัยแสงแดดและลมร้อนทำให้น้ำระเหยและไล่ความชื้นออกจากเนื้อลำไย ระยะเวลาในการอบแห้งขึ้นอยู่กับสภาวะและอุณหภูมิร่วมกับความเร็วของลมในการไล่อากาศชื้นออกจากเครื่องอบ มีการใช้สารละลายโพแทสเซียมเมตาไบซัลไฟต์ ในอัตรา 0.5% (5 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) แช่เนื้อลำไยนาน 2 นาที ก่อนจะอบเพื่อป้องกันจุลินทรีย์และลดการเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
"แต่ในการอบแห้งลำไยด้วยวิธีการอบลำไยด้วยไมโครเวฟร่วมกับอินฟราเรด ตามด้วยลมร้อนนี้ จะไม่มีการเติมสารเคมีใดๆ ทำให้เนื้อลำไยที่ได้ไม่คล้ำ อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลเรื่องการกีดกันทางการค้า (ด้วยเรื่องสารเคมี) จากต่างประเทศ หากเราส่งออกลำไยอบแห้ง ซึ่งการอบด้วยวิธีนี้ เชื่อว่าจะช่วยยกระดับการส่งออกลำไยอบแห้งได้ดีทีเดียว"
ด้วยความสำเร็จจากการวิจัยนี้เอง ผศ.ดร.กลอยใจ เจ้าของไอเดียบอกว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีจึงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท พรีม่าเอเชีย เทคโนโลยี จำกัด นำหลักการดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการคิดค้นประดิษฐ์เครื่องอบลำไย ด้วยฝีมือของคนไทย เพื่อออกมารองรับความต้องการของเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหาลำไยสดล้นตลาดในปัจจุบัน
ส่วนเกษตรกรคนใดสนใจองค์ความรู้หลักการอบแห้งลำไยเพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ผศ.ดร.กลอยใจ เชยกลิ่นเทศ ยินดีจะเปิดเผยเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนด้วยความเต็มใจยิ่ง ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1491-3894
--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--