บทความ: เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 18, 2010 15:07 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area — AFTA) คือ ข้อตกลงที่ทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นความตกลงว่าด้วยอัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าอาเซียน เพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีให้เสร็จภายใน 15 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าอาเซียนในตลาดโลก โดยสมาชิกจะค่อยๆ ลดภาษีสินค้าทุกรายการให้เหลือ 0-5% ภายในปี พ.ศ.2553 จากนั้นจะค่อยยกเลิกเครื่องกีดขวางการค้าทั้งหลายที่ไม่ใช่ภาษีให้หมดไปด้วย เช่น การจำกัดโควต้านำเข้า เป็นต้น

ข้อตกลงนี้จะครอบคลุมสินค้าทุกชนิด ยกเว้นสินค้าที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ศีลธรรม ชีวิตและศิลปะ อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกต้องให้สิทธิประโยชน์ทางศุลกากรแก่กันแบบต่างตอบแทน หมายความว่า การที่จะได้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีของประเทศอื่นสำหรับสินค้าชนิดใด ประเทศสมาชิกนั้นต้องลดภาษีสำหรับสินค้าชนิดเดียวกัน

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย

ผลกระทบในระยะสั้น : AFTA อาจทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ส่วนหนึ่งจากอัตราภาษีนำเข้าที่ลดลงและทำให้อุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการผลิตต่ำและไม่มีความสามารถในเชิงแข่งขันได้รับผลกระทบ อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง อาจเสียเปรียบในการแข่งขันกับสิงคโปร์ซึ่งประกอบการมานานแล้ว นอกจากนี้ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยเสียเปรียบด้านวัตถุดิบจะมีปัญหาการแข่งขันกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย รวมทั้งสินค้าสำเร็จรูปที่มีการลดภาษีใน AFTA ล้วนแต่เป็นสินค้าที่ต้องอาศัยวัตถุดิบนำเข้าจากนอกอาเซียน ซึ่งไทยมีอัตราภาษีนำเข้าในระดับสูง เช่น วัตถุดิบของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุสำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ผลกระทบในระยะยาว : AFTA จะส่งประโยชน์ต่อประเทศไทย ดังนี้

1. การลดภาษีของอาเซียนจะทำให้สินค้าที่ไทยส่งออกไปอาเซียนมีราคาถูกและสามารถแข่งขันกับประเทศนอกกลุ่มได้

2. การลดภาษีของไทย จะทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบ และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากอาเซียนในราคาถูก ซึ่งจะมีผลต่อการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก

3. ผู้บริโภคสามารถบริโภคสินค้าบริโภค และอุปโภค ในราคาถูกลง

ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์อะไร ? อาเซียนจะกลายเป็นตลาดที่สำคัญของไทย อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบในอาเซียน กานแบ่งงานกันผลิตชิ้นส่วนที่แต่ละประเทศสมาชิกมีความได้เปรียบจะส่งผลให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถพัฒนาตัวเองเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้

เกษตรกรไทยได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ ? ประเทศไทยทำข้อตกลงในการเปิดเสรีทางการค้าในสินค้าเกษตร ซึ่งมีสินค้าผูกพันตามข้อตกลงจำนวน 23 รายการ ได้แก่ น้ำนมดิบ/นมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย ลำไยแห้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระเทียม หอมหัวใหญ่ เมล็ดพันธ์หอมใหญ่ มันฝรั่ง พริกไทย ข้าว เมล็ดถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง ชา เมล็ดกาแฟ กาแฟสำเร็จรูป ไหมดิบ น้ำตาล แลใบยาสูบ

ผู้บริโภคได้อะไร ? ประชาชนที่เป็นผู้บริโภคก็อาจจะซื้อสินค้าราคาถูกในระยะแรก แต่เมื่อเกษตรกรรายย่อยล่มสลายก็จะเกิดการผูกขาดทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคก็จะต้องซื้อสินค้าและอาหารราคาแพงตลอดไป

ทั้งนี้ เมื่อมองภาพเศรษฐกิจโดยรวมแล้วไทยและอาเซียนต่างก็ได้รับประโยชน์จาก AFTA แต่จะมากน้อยกว่ากันนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศ นับตั้งแต่มีการก่อตั้ง AFTA เป็นต้นมา การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนขยายตัวขึ้นมากและมูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ