จากกรณีเกิดเหตุอุทกภัยน้ำท่วมใน 34 จังหวัดที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ประสานให้สมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัย รวบรวมข้อมูลของผู้ประสบภัยเพื่อเร่งประเมินความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยทันทีหลังน้ำลด
นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยตัวเลขความเสียหายจากเหตุอุทกภัย ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2553 มีรายงานของผู้เสียชีวิต เป็นจำนวนทั้งสิ้น 40 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลของการทำประกันชีวิต สำหรับการประกันวินาศภัยได้รับรายงานว่ามีจำนวนรถยนต์ที่ทำประกันภัยประเภท 1 เป็นจำนวน 443,182 กรมธรรม์ รวมมูลค่าจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 200.476 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ได้รับรายงานความเสียหายเบื้องต้น จำนวน 666 คัน คิดเป็นมูลค่าจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 49.56 ล้านบาท โดยบริษัทที่รับประกันภัยสูงสุด คือ บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด รองลงมา คือ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าหลังจากน้ำลดแล้วจะได้รับรายงานความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
สำหรับการประกันอัคคีภัยและความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน มีจำนวนกรมธรรม์ทั้งสิ้น 684,376 กรมธรรม์รวมมูลค่าจำนวนเงินเอาประกันภัย ทั้งสิ้น 1.15 ล้านล้านบาท โดยในเบื้องต้นได้รับรายงานความเสียหายของทรัพย์สินเพียง 17 ราย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 29 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนกรมธรรม์ดังกล่าวจะต้องได้รับการตรวจสอบว่าได้มีการซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมสำหรับภัยน้ำท่วมหรือไม่ ทั้งนี้ รายละเอียดของความคุ้มครองมีดังนี้
1. การประกันภัยรถประเภท 1 ให้ความคุ้มครองตัวรถเอาประกันภัย ที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วมกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปของมูลค่ารถ จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย ส่วนการประกันภัยรถภาคบังคับ จะคุ้มครองชีวิต ร่างกาย และอนามัยของผู้ประสบภัยจากรถทุกคน โดยให้ความคุ้มครองสูงสุดกรณีได้รับบาดเจ็บตามจริงไม่เกิน 50,000 บาท หากเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรหรือสูญเสียอวัยวะ รายละ 200,000 บาท นอกจากนั้น กรณีที่ผู้บาดเจ็บรักษาตัวในสถานพยาบาล ยังได้รับค่าชดเชยรายวัน ๆ ละ 200 บาท แต่ไม่เกิน 20 วัน
2. การประกันอัคคีภัยที่ซื้อความคุ้มครองน้ำท่วมเพิ่ม และการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินจะได้รับความคุ้มครองตามความเสียหายตามที่ระบุไว้ในตัวกรมธรรม์
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เอาประกันภัยรายใดยังไม่ได้แจ้งความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ขอให้รีบแจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบโดยเร็ว พร้อมแสดงรายละเอียดความสูญเสียและมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นของทรัพย์สิน ส่วนกรณีเสียชีวิตให้ยื่นหลักฐานสำเนาใบมรณบัตร และสำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะเร่งให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยแก่ผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม โปรดตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยของท่านว่ามีความคุ้มครองใดบ้าง เพื่อประโยชน์ของชีวิตและทรัพย์สินต่อไป หากมีข้อสงสัยติดต่อสายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.oic.or.th