คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ผนึกกำลังพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday October 19, 2011 14:27 —คปภ.

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หารือภาคธุรกิจประกันภัย วางมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นการเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี มุ่งเน้นช่วยเหลือให้กลับมาดำเนินกิจการโดยเร็วเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยผลการหารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย และสมาคมประกันชีวิตไทยวางมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2554 พบว่ามีผู้เสียชีวิต 307 ราย และสูญหาย 3 คน โดยได้รับแจ้งในเบื้องต้นว่ามีการทำประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวน 40 ราย รวมค่าสินไหมทดแทน จำนวน 10,791,103 บาท

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมและบางแห่งที่อยู่ในภาวะเสี่ยงภัย รวม 7 นิคมอุตสาหกรรม สำนักงาน คปภ.ได้สำรวจข้อมูลการทำประกันภัย ดังนี้

                                        การประกันภัยทรัพย์สิน                การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก
นิคมอุตสาหกรรม      จังหวัด         จำนวน         จำนวนเงิน              จำนวน          จำนวนเงิน

ผู้เอาประกันภัย(ราย) เอาประกันภัย(ล้านบาท) ผู้เอาประกันภัย(ราย) เอาประกันภัย(ล้านบาท)

1. สหรัตนนคร  พระนครศรีอยุธยา       57              15,828             2                     200
2. โรจนะ                        241             108,014             4                   1,135
3. HI-Tech                       73              43,173             8                   1,439
4. บางปะอิน                      156              90,078             7                   1,702
5. แฟคตอรี่แลนด์                    58                 505             -                       -
6. นวนคร       ปทุมธาน           235             118,867             6                   2,259
7. บางกระดี                      106              80,318             3                     453
รวม                             926             456,783            30                   7,188

โดยนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำเข้าท่วมแล้ว 6แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรม HI-Tech นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เขตประกอบอุตสาหกรรม แฟคตอร์รี่แลนด์ และนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหาย ซึ่งมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงจะทราบได้ภายหลังน้ำลด อย่างไรก็ตามจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าความเสียหายทั้งหมดประมาณ 100,000 ล้านบาท และจากการสำรวจข้อมูลการทำประกันภัยทรัพย์สินของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ปทุมธานี และนนทบุรี พบว่ามีการทำประกันภัยทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยรายย่อย จำนวน 48,087 ราย รวมเงินเอาประกันภัยจำนวน 56,471,559,117 บาท

ทั้งนี้ มาตรการเร่งด่วนที่บริษัทประกันภัยได้ดำเนินการทันทีในขณะนี้คือการตรวจสอบข้อมูลลูกค้าในพื้นที่ประสบอุทกภัยเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยก่อนเกิดความสูญเสีย โดยไม่ต้องรอให้ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้แจ้งเหตุ โดยบริษัทประกันภัยร่วมกับผู้ประกอบการได้เข้าไปเคลื่อนย้ายเครื่องจักรบางส่วนที่สามารถถอดชิ้นส่วนได้ออกไปเก็บในที่ปลอดภัย ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วกับนิคมอุตสาหกรรม นวนคร ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำเข้าท่วม รวมถึงกำลังเร่งดำเนินการในนิคมอุตสาหกรรมบางกระดีที่ยังอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าสำนักงาน คปภ.ตระหนักถึงผลกระทบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการจ้างงาน รวมถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งคาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในประเทศไประยะหนึ่ง ดังนั้นเพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และเป็นการช่วยเหลือให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้รวดเร็ว สำนักงาน คปภ. จึงมีนโยบายในการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการประเมินความเสียหาย เช่น การพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของผู้ประเมินวินาศภัย (Surveyor) เพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาเป็นผู้ประเมินความเสียหายได้ทันที ซึ่งมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้บริษัทประกันภัยมีความสะดวกในการประเมินความเสียหายและทำให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยได้รวดเร็วมากขึ้น หากมีข้อสงสัยสอบถามสายด่วนประกันภัย 1186

…………………………………………………..

ฝ่ายสื่อสารองค์กร

โทร . 02-513 -1769 02-513-1680

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ