นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการจัดตั้งกองทุนประกันภัยในวงเงิน 50,000 ล้านบาท สำนักงาน คปภ. ได้จัดประชุมหารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย และบริษัทประกันภัยทั้ง 67บริษัท เพื่อเตรียมการรองรับการจัดตั้งกองทุนประกันภัย โดยได้มีการวางหลักการ วัตถุประสงค์ และ ครงร่างรูปแบบกองทุนภายใต้เป้าหมายที่จะจัดให้มีการรับประกันภัยในจำนวนสูงสุด ในอัตราเบี้ยประกันภัยต่ำสุด และจะส่งผ่านความสามารถในการรับประกันภัยนี้ไปยังสาธารณชนในอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมตามพื้นที่เสี่ยง (Zoning) เพื่อให้สาธารณชนเข้าถึงความคุ้มครองได้อย่างทั่วถึง ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองความความเสี่ยงภัยใน 3 ภัยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหว และครอบคลุมกลุ่มทรัพย์สิน ได้แก่ บ้านที่อยู่อาศัย SME และอุตสาหกรรม ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดจำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Sub limit) สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยไว้ที่ ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ธุรกิจ SME กำหนดความคุ้มครองไว้ 20% ของทุนประกันและสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย และภาคอุตสาหกรรม กำหนดความคุ้มครองไว้ 10% ของทุนประกันและสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย และเพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถรับประกันภัยได้ตามความต้องการของตลาด จึงได้จัดให้มีการเอาประกันภัยต่อ เพื่อรองรับความเสียหายต่อเหตุการณ์ ดังนี้
- ความเสียหาย 2,000 ล้านบาทแรก บริษัทประกันภัยร่วมกันรับเสี่ยงภัย
- ความเสียหาย 2,001 - 30,000 ล้านบาท รัฐบาลจะเข้าค้ำประกันกองทุนฯในการเป็นผู้รับเสี่ยงภัยสูงสุด 28,000 ล้านบาท
- ความเสียหาย 30,001 - 500,000 ล้านบาท กองทุนฯจะทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยต่อในต่างประเทศ โดยจะแยกระดับและวงเงินการเอาประกันภัยต่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เอาประกันภัย
ด้านนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า ในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัย เห็นด้วยกับรูปแบบโครงสร้างกองทุนประกันภัยที่ตั้งขึ้น สำหรับความเสียหาย 2,000 ล้านบาทแรก ที่บริษัทประกันภัยต้องร่วมกันรับผิดชอบ สมาคมประกันวินาศภัยจะได้หารือและทำการศึกษาร่วมกับบริษัทประกันภัยที่เข้ารับประกันภัย ในการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสม และความสามารถในการรับเสี่ยงภัยส่วนแรกไว้เองต่อไป เลขาธิการ คปภ.กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยมาก่อน ดังนั้น จึงได้ทำการศึกษารูปแบบการรับประกันมหันตภัยในต่างประเทศประกอบการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และยังคงมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ในกรณีที่ไม่มีภัยพิบัติเกิดขึ้น รายจ่ายจากการเอาประกันภัยต่อของกองทุนฯ จะเท่ากับรายรับคือไม่มีค่าใช้จ่าย กรณีที่มีมหัตภัยเกิดขึ้นสาธารณชนจะได้ความคุ้มครองโดยรวมที่ 500,000 ล้านบาท โดยกองทุนจะมีค่าใช้จ่าย 28,000 ล้านบาทและ จากการรับความเสี่ยงภัยในส่วนแรกของบริษัทประกันภัยที่ 2,000 ล้านบาท
หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.oic.or.th