นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยต้องมีใบอนุญาตและต้องแสดงใบอนุญาตประกอบการเสนอขายประกันภัยทุกครั้ง ส่งผลให้มีผู้ต้องการเข้าสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันภัยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติการสอบตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ในไตรมาส 1 ปี 2555 มีจำนวนผู้สมัครสอบทั้งสิ้น 61,773 ราย โดยสามารถแบ่งเป็น ผู้สมัครสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ร้อยละ 76.83 ผู้สมัครสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต ร้อยละ 8.22 ผู้สมัครสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้า และตัวแทนประกันวินาศภัย ร้อยละ 12.86 และร้อยละ 2.09 ตามลำดับ
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้สมัครสอบแยกตามประเภท จะเห็นได้ว่าการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตมีจำนวนผู้เข้าสอบสูงสุดถึง 47,457 ราย สอบผ่านทั้งสิ้น ร้อยละ 55.36 โดยในจำนวนนี้ ผู้สมัครสอบร้อยละ 61.65 สมัครสอบที่ สำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาค โดยมีข้อสังเกตว่าเป็นเพราะตลาดการประกันภัยมีอัตราการขยายตัวไปยังภูมิภาคต่างๆของประเทศสูงขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนในส่วนภูมิภาคมีความตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนกลุ่มนี้มากขึ้น รองลงมาคือประเภทนายหน้าประกันวินาศภัย (บุคคลธรรมดา) มีผู้สมัครสอบจำนวน 7,946 ราย สอบผ่านทั้งสิ้นร้อยละ 40.74 ตามมาด้วยประเภทนายหน้าประกันชีวิต (บุคคลธรรมดา) มีผู้สมัครสอบทั้งสิ้น 5,080 ราย มีผู้สอบผ่านทั้งสิ้น ร้อยละ 63.87
โดยเมื่อสรุปรวมจำนวนผู้สมัครสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยทั้งสิ้น 13,026 ราย สามารถแบ่งเป็นพนักงานของธนาคารจำนวนถึง 4,874 ราย หรือ คิดเป็นร้อยละ 37.42 ของผู้สมัครสอบทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคาร (Bancassurance) กำลังได้รับความนิยมจากประชาชนในวงกว้าง ส่งผลให้ทางธนาคารต้องเร่งพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต สำหรับประเภทตัวแทนประกันวินาศภัย มีผู้สมัครสอบทั้งสิ้น 1,290 ราย สอบผ่าน ร้อยละ 52.87 โดยจังหวัดที่มีสถิติผู้สมัครสอบสูงสุด 2 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร มีผู้สมัครสอบขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชิวิต และประกันวินาศภัย ทั้งสิ้น 18,769 ราย อันดับที่ 2 คือจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้สมัครสอบทั้งสิ้น 2,676 ราย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าจากแนวโน้มผู้สมัครสอบขอรับใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำนักงาน คปภ. จึงได้วางแผนที่จะเพิ่มช่องทางการรับชำระเงิน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้สมัครสอบ โดยในเบื้องต้นวางแผนที่จะขยายจุดรับชำระค่าสมัครสอบ และสมัครอบรมจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 900 แห่ง จากสาขาของธนาคารกรุงไทย เป็นประมาณ 6,000 แห่ง ผ่านช่องทางเพิ่มเติม อาทิ สาขาของธนาคารอื่นๆ จุดรับชำระค่าบริการ และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งคาดว่าเริ่มเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้
ที่มา: http://www.oic.or.th