นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ประจำเดือนเมษายน 2555 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บริษัท ฟีนิกซ์ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัท ฟีนิกซ์) ขยายระยะเวลาในการแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงานออกไปอีก 60 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน
นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ได้มีคำสั่งให้บริษัท ฟีนิกซ์ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป เนื่องจากบริษัทฟีนิกซ์ฯ ดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และมีทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้สิน ทั้งจัดสรรทรัพย์สินหนุนหลังไม่เพียงพอต่อหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย และมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนมาก โดยให้บริษัทดำเนินการจัดทำแผนในการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงาน รวมทั้งการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน 2555 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยบริษัทจะต้องดำเนินการตามมาตรการและเงื่อนไข อันได้แก่
(1) มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามที่กฎหมายกำหนด
(2) จัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังให้เพียงพอสำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย
(3) ให้ยื่นรายงานประจำเดือน รายงานการดำรงเงินกองทุน และงบการเงินรายไตรมาสที่บริษัท มีหน้าที่ต้องส่งให้ถูกต้อง และครบถ้วน
(4) จ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ร้องเรียนกับสำนักงาน คปภ. ให้แล้วเสร็จ
(5) จัดให้มีระบบงานและบุคลากรที่มีคุณภาพและจำนวนที่เหมาะสมเพื่อให้บริการประชาชนและผู้เอาประกันภัยระบบงาน ได้แก่ ความพร้อมในระบบบัญชีการเงิน ระบบการเสนอขายและการพิจารณาการรับประกันภัย ระบบการจัดการค่าสินไหมทดแทน ระบบการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น รวมถึงให้มีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสมและให้มีคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงาน แต่ละระดับเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
ทั้งนี้ บริษัท ฟีนิกซ์ ได้เสนอแผนในการแก้ไขฐานะการเงิน และขอขยายระยะเวลาการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานออกไป 60 วัน รวมถึงได้นำเงินจำนวน 100 ล้านบาท เข้าบริษัทเพื่อรอการเพิ่มทุน คณะกรรมการ คปภ. พิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุผลสมควร จึงอนุมัติขยายระยะเวลาคำสั่งให้บริษัท ฟีนิกซ์ หยุดรับประกันวินาศภัยออกไปอีก 60 วัน
1. ประกันชีวิตและอุบัติเหตุ มีผู้เอาประกันภัยที่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จำนวน 213 ราย คิดเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัย 27.24 ล้านบาท ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนครบถ้วนแล้ว
2. ประกันภัยรถยนต์ มีผู้เอาประกันภัยที่เรียกร้องความเสียหาย จำนวน 39,289 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 4,284.71 ล้านบาท ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว จำนวน 37,337 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.74 รวมเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4,029.69 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จำนวน 2,492 ราย คิดเป็นค่าสินไหมทดแทน 255.01 ล้านบาท
3. ประกันภัยทรัพย์สิน (ที่อยู่อาศัย) มีผู้เอาประกันภัยที่เรียกร้องความเสียหาย 35,916 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 3,348.08 ล้านบาท ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว จำนวน 32,136 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.48 รวมเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 2,632.89 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จำนวน 3,780 ราย คิดเป็นค่าสินไหมทดแทน 715.18 ล้านบาท
4. ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) มีผู้เอาประกันภัยที่เรียกร้องความเสียหาย 12,136 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 479,189.09 ล้านบาท ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว จำนวน 4,466 ราย คิดเป็นร้อยละ 36.79 รวมเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 191,894.52 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จำนวน 7,670 ราย คิดเป็นค่าสินไหมทดแทน 287,294.55 ล้านบาท
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลข้างต้น บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับ ผู้เอาประกันภัยแล้ว กว่าร้อยละ 90 ยกเว้นการประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับ ผู้เอาประกันภัย คิดเป็นร้อยละ 36.79 เนื่องจากกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน มีจำนวนทุนเอาประกันภัยที่สูง และมีเงื่อนไขที่ซับซ้อน ประกอบกับมีการทำประกันภัยต่อไปยังต่างประเทศ ซึ่งบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศ
มีขั้นตอนในการตรวจสอบรายงาน ความครบถ้วนของเอกสารและหลักฐานก่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทน จึงทำให้ต้องใช้ระยะเวลา อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. ได้ตั้งทีมงานติดตามเร่งรัดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งจะดำเนินการเร่งรัดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกับบริษัทประกันภัยเป็นรายๆ ไป โดยจะขยายการดำเนินการให้เข้าถึงระดับผู้เอาประกันภัย และรายงานของผู้ประเมินความเสียหายวินาศภัยด้วย ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้ บริษัทประกันภัยจะชดใช้
ค่าสินไหมทดแทนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ตามเป้าหมายที่วางไว้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.oic.or.th