คปภ. เปิดรับฟังความคิดเห็นการยกร่างกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย

ข่าวทั่วไป Monday July 2, 2012 10:37 —คปภ.

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเรื่องร่างกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัยที่มีการแก้ไข เพื่อปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล (Insurance Core Principles : ICPs) ในวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน 2555 ณ ห้อง เลอ คองคอร์ด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ โดยมีนายวิวัฒน์ เกิดไพบูลย์ รองเลขาธิการ คปภ. ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 300 คน

รองเลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่าแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2553-2557) กำหนดเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบประกันภัยไทยให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับสากล ประกอบกับกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทยในการรองรับการเปิดเสรี ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ.ได้ให้มูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมายเป็นผู้ทำการศึกษาแนวทางการปฏิรูป และเป็นผู้ยกร่างกฎหมายแม่บทฉบับใหม่ โดยรวบรวมจากข้อปัญหาต่างๆ ควบคู่ไปกับการศึกษากฎหมายต่างประเทศ

สำนักงาน คปภ.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนของภาคธุรกิจประกันภัย ประกอบด้วย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัย สมาคมตัวแทนประกันภัย สมาคมนายหน้าประกันภัย และบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย รวมทั้งผู้แทนสำนักงาน คปภ. ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว และมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประสบผลสำเร็จ เป็นที่ยอมรับ สามารถปฏิบัติได้จริง และสอดคล้องกับสภาวะการณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการทำประกันภัยอย่างเต็มที่ และเป็นธรรม

รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าแนวคิดการจัดทำร่างกฎหมายใหม่จะออกมาในทิศทางที่รองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการทำงานที่โปร่งใสของบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัย และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคมากขึ้น โดยสาระสำคัญประกอบด้วย การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวแทน/นายหน้า ธรรมาภิบาลในบริษัทประกันภัย (Good Corporate Governance) รวมถึงการฟอกเงินที่จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่รัดกุมและสอดคล้องกับกฎหมายฟอกเงิน เป็นต้น

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ