นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าตัวเลขการรับประกันชีวิตจำแนกตามช่องทางการจำหน่าย ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2555มีการขายกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่านช่องทางต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 1,809,241 กรมธรรม์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.90 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งสิ้น 117,008 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.27โดยส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากภาคอุตสาหกรรมที่กลับมามีการขยายตัวเป็นบวกหลังจากประสบภัยพิบัติน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554รวมทั้งประชาชนมีความตื่นตัวต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภัยธรรมชาติ และตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันชีวิตมากขึ้น
ทั้งนี้ ช่องทางการขายหลักของบริษัทประกันชีวิตยังคงเป็นการขายผ่าน “ตัวแทน” โดยมีจำนวนกรมธรรม์ 1,413,537 กรมธรรม์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.13 ของกรมธรรม์รวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.55 เป็นเบี้ยประกันชีวิตจำนวน 68,625 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58.65 ของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.48 รองลงมาได้แก่การขายผ่าน “ธนาคาร” (Bancassurance) มีจำนวน 265,221 กรมธรรม์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.66 ของกรมธรรม์รวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 28.30 โดยมีเบี้ยประกันชีวิตทั้งสิ้น 40,307 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.45 ของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 30.88ถือเป็นช่องทางการขายประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยการขายผ่านทาง“โทรศัพท์” มีจำนวน 104,955 กรมธรรม์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.80 ของกรมธรรม์รวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.40 มีเบี้ยประกันภัยชีวิตจำนวน 3,669 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.75 ส่วนการขายผ่าน“ช่องทางอื่นๆ” เช่น ระบบอินเตอร์เน็ต และร้านสะดวกซื้อ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 18,882 กรมธรรม์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.04 ของกรมธรรม์รวมทุกช่องทาง มีเบี้ยประกันชีวิตรวมทั้งสิ้น 1,877 ล้านบาท เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิตมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเพิ่มช่องทางการขาย และการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้เอาประกันภัย ซึ่งออกมาใน 2 กลุ่มหลัก คือผลิตภัณฑ์ออมทรัพย์ระยะสั้น (3-5 ปี) ที่ให้ผลตอบแทนดีเมื่อเทียบกับเงินฝากระยะกลาง และ อีกกลุ่ม คือผลิตภัณฑ์ระยะยาวทั้งแบบตลอดชีพ ที่ปรับให้มีความหลากหลายขึ้น และแบบบำนาญ ที่มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการประกันภัยได้อย่างเพียงพอทั่วถึง และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำประกันภัย ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต ประชาชน ควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง รายละเอียด และข้อยกเว้นให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและตรงกับความต้องการมากที่สุด
ที่มา: http://www.oic.or.th