ประชาชนเฮระบบอีเคลม! จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเจ็บจากรถ ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ข่าวทั่วไป Monday August 13, 2012 11:13 —คปภ.

เปิดตัวแล้วอย่างเป็นทางการ “โครงการจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” ภายใต้แนวคิด “เจ็บจากรถ หมดกังวล มีคนจ่าย” ประชาชนเฮนโยบายรัฐบาลช่วยผู้ประสบภัยจากรถ ใช้สิทธิความคุ้มครองจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ให้สามารถรับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องสำรองค่ารักษาพยาบาลไปก่อน โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เกียรติเป็นประธานเปิดตัวโครงการ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง และไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะประสานการจ่ายค่ารักษาพยาบาลคืนให้กับโรงพยาบาล ในภายหลัง ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. โดย “กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” และภาคธุรกิจประกันภัยเห็นถึงความสำคัญ และตระหนักว่าอุบัติเหตุจากรถ ถือเป็นเหตุฉุกเฉินที่ผู้ประสบภัยต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน ดังนั้น จึงได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางการจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ E - Claim เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และผลักดันให้ระบบประกันภัยเข้าไปดูแลให้ผู้ประสบภัยจากรถได้รับการรักษาและการเยียวยา จากโรงพยาบาลทุกแห่งอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย จึงได้จัด “โครงการจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ โดยโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวเสริมว่า โครงการฯ ดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัย และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ในการพัฒนาแนวทางการจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย โดยให้โรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประสบภัยจากรถ สามารถวางบิลเบิกค่ารักษาพยาบาลผ่านระบบสินไหมอัตโนมัติ Online (อีเคลม : E - Claim) ซึ่งระบบนี้จะทำให้ผู้ประสบภัยจากรถที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ทั้งที่เป็นผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ไม่ต้องสำรองค่ารักษาพยาบาลไปก่อน โดยให้บริษัทกลางฯ เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถ ในการรวบรวมเอกสารต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด และให้ดำเนินการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาล ที่ให้การรักษาผู้ประสบภัยจากรถแทนกองทุนฯ ไปก่อน

นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัดกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทกลางฯ ดูแลรถที่มีประกันภัยรถภาคบังคับ (พรบ.) ประมาณ 60-70% จากทั่วประเทศ หรือประมาณ 22 ล้านคัน รวมถึงบริษัทกลางฯ ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทประกันภัย 10 แห่ง ให้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พรบ.) ทำให้ต่อวันมีการเรียกร้องผ่านระบบค่าสินไหมอัตโนมัติ (E - Claim) กว่า 1,000 เคลม ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใต้โครงการจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินนี้ จะทำให้ประชาชนมาใช้สิทธิ จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเพิ่มมากขึ้น 10-20% ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมาโรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประสบภัยจากรถ สามารถวางบิลค่ารักษาพยาบาลผ่านระบบสินไหมอัตโนมัติ (E-claim) ซึ่งกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลภายใน 7 วัน เมื่อเอกสารหลักฐานครบถ้วน แต่หากเอกสารไม่ครบ บริษัทกลางฯ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก สำนักงาน คปภ. ในฐานะผู้บริหารกองทุน ให้สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล ให้กับโรงพยาบาลไปก่อนภายใน 7 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด และบริษัทกลางฯ จะดำเนินการรวบรวมเอกสารแทน แล้วมาตั้งเบิกกับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม บริษัทกลางฯ พร้อมให้บริการผ่านระบบสินไหมอัตโนมัติ (E-Claim) สำหรับการจ่าย ค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย โดยที่ผ่านมาได้เดินสายร่วมกับสำนักงาน คปภ. เพื่อชี้แจง สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวทั่วประเทศแล้ว

ที่มา: http://www.oic.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ