นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิตมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้เอาประกันภัย ทั้งผลิตภัณฑ์ออมทรัพย์ระยะสั้น 3-5 ปี ที่ให้ผลตอบแทนดีเมื่อเทียบกับเงินฝากระยะกลาง และผลิตภัณฑ์ระยะยาวทั้งแบบตลอดชีพ ที่ปรับให้มีความหลากหลายขึ้น และแบบบำนาญ ที่มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการประกันภัยได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ในส่วนของความคุ้มครองที่ขายควบคู่กับกรมธรรม์ประกันชีวิตก็ให้ความคุ้มครองที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัยยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ที่มีการขยายความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยถึงอายุ 80 ปี และความคุ้มครองโรคร้ายแรง ซึ่งมีการขยายความคุ้มครองเป็นตลอดชีพ
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย มีความห่วงใย จึงอยากแนะให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการประกันชีวิต ที่นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการออมเงินอย่างมีวินัยแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนระยะยาว ซึ่งการประกันชีวิตถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและน่าสนใจที่มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษี โดยเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถนำหลักฐานการชำระเบี้ยประกันภัยไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิต 300,000 บาทตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร ได้ดังนี้
1. เบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิต สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดถึง 100,000 บาท
2. เบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์แบบบำนาญสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อประโยชน์สูงสุดจากการทำประกันภัย ก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต ประชาชนควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง ความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย และรายละเอียดของข้อยกเว้นให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและตรงกับความต้องการได้มากที่สุด ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.oic.or.th