คปภ. แนะประชาชนกรณีทำประกันภัยสุขภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday December 6, 2012 13:38 —คปภ.

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจกับการซื้อประกันภัยสุขภาพมากขึ้น สำนักงาน คปภ. จึงขอแนะนำประชาชนควรทำความเข้าใจระหว่างการประกันชีวิตและการประกันภัยสุขภาพ แตกต่างกันอย่างไรก่อนการตัดสินใจซื้อ ทั้งนี้ การประกันชีวิต เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองทางด้านชีวิตโดยตรง บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินสินไหมทดแทนเนื่องจากการเสียชีวิต (จากทุกกรณี) หรือเนื่องจากการมีชีวิตอยู่รอดตามระยะเวลาที่กำหนดขึ้นอยู่กับสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองการเสียชีวิตและการอยู่รอดเต็มจำนวนผลประโยชน์ที่ซื้อจากทุกๆ กรมธรรม์ประกันชีวิต

สำหรับการประกันภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ซื้อเพิ่มจากกรมธรรม์ประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยรายได้เนื่องจากนอนพักรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่ว่าการรักษาพยาบาลนั้น จะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งการพิจารณารับประกันภัยของบริษัทประกันภัย จะขึ้นอยู่กับสุขภาพและอายุของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะไม่คุ้มครอง “โรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันภัย” เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคเอดส์ และหากผู้ขอเอาประกันภัย มีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีโรคประจำตัวหลายอย่าง บริษัทประกันภัยอาจจะพิจารณารับประกันภัยด้วยเบี้ยประกันภัยที่สูงกว่าคนปกติ หรืออาจจะไม่รับประกันภัยเลยก็ได้

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากการทำประกันภัยสุขภาพ ผู้เอาประกันภัยจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริงเท่านั้น ดังนั้น การซื้อประกันภัยสุขภาพ ผู้เอาประกันภัยไม่จำเป็นต้องซื้อหลายๆ กรมธรรม์ แต่ควรพิจารณาว่าค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทำอยู่แล้วครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่ผู้เอาประกันภัยต้องการหรือไม่ และควรศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยทุกครั้ง ว่าตรงกับที่บริษัทประกันภัยเสนอขายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการโฆษณาขายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยผ่านสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการจัดทำกรอบการโฆษณาของบริษัทประกันภัย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ โดยกำหนดให้มีใจความสำคัญที่จำเป็นต้องสื่อให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจน และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ