สืบเนื่องจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 บอร์ด คปภ. ได้พิจารณามาตรการผ่อนผันกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำกับเงินกองทุน และการจัดสรรเงินสำรองที่ใช้บังคับ กับบริษัทประกันวินาศภัยจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2556 เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้บริษัทมีความคล่องตัวในการจัดการค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย ปัจจุบัน การจ่ายค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่มียอดค่าสินไหมทดแทนที่สูงมาก บางรายยังอยู่ระหว่างเจรจาตกลงยอดค่าสินไหมทดแทน รวมถึงการเรียกชำระเงินคืนค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยต่อ บอร์ด คปภ. จึงพิจารณาให้ขยายเวลามาตรการผ่อนผันบางมาตรการสำหรับความเสียหายจากกรณีอุทกภัยให้บริษัทประกันวินาศภัยออกไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2557 ดังนี้
1. ขยายเวลายกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัย และยกเว้นการนำค่า PAD มารวมในการคำนวณเงินสำรองประกันภัยสำหรับค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วม
2. ขยายเวลายกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวจากการประกันภัยต่อ
3. ขยายเวลาการให้ส่วนลดเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านเครดิตจากการประกันภัยต่อออกไป แต่กำหนดให้บริษัททยอยดำรงเงินกองทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได ดังนี้ 1 เม.ย. 56 —30 ก.ย. 56 ดำรง ร้อยละ 25 1 ต.ค. 56 —31 ธ.ค. 56 ดำรง ร้อยละ 50 1 ม.ค. 57 —31 มี.ค.57 ดำรง ร้อยละ 75 1 เม.ษ. 57 เป็นต้นไป ดำรง ร้อยละ 100
4. ขยายเวลายกเว้นให้สามารถนับเบี้ยประกันภัยค้างรับจากการรับประกันภัยโดยตรงและเงินค้างรับเฉพาะส่วนค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วมที่เรียกคืนจากผู้รับประกันภัยต่อ เป็นสินทรัพย์หนุนหลัง
5. ขยายเวลายกเว้นให้บริษัทไม่ต้องนำเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์และประเภทกระแสรายวัน ที่บริษัทมีไว้เพื่อการจ่ายสินไหมทดแทนและบริหารสภาพคล่องไปฝากไว้ที่ Custodian
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า สำนักงาน คปภ.ได้ติดตามความคืบหน้ามาตรการในการสร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันภัย การเร่งรัดและติดตามการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย รวมถึงปัญหา และอุปสรรคในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ได้รายงานให้บอร์ด คปภ. ทราบมาตลอด ดังนั้น การขยายเวลามาตรการดังกล่าวนั้น จึงพิจารณาบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และกระบวนการเร่งรัดการชำระค่าสินไหมทดแทนยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง
ที่มา: http://www.oic.or.th