บอร์ด คปภ. เห็นชอบหลักเกณฑ์การทดสอบภาวะวิกฤต

ข่าวทั่วไป Monday April 22, 2013 15:20 —คปภ.

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ประจำเดือนเมษายน 2556 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ สถานการณ์ รวมถึงปัจจัยที่ใช้ในการทดสอบภาวะวิกฤต รวมถึงมอบหมายให้นายทะเบียนกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตทุกแห่งจัดทำการศึกษาผลกระทบเชิงปริมาณ (Quantitative Impact Study: QIS) ตามกรอบการทดสอบและรูปแบบรายงานตามที่สำนักงาน คปภ. เสนอ

สำนักงาน คปภ. ได้ทำการศึกษากรอบการทดสอบภาวะวิกฤตของสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ หรือ IAIS หน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยของประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าแนวทางการทดสอบที่เหมาะสมจะนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยควรเป็นกรอบการทดสอบที่มีการผสมผสานกันระหว่างกรอบการทดสอบของสิงคโปร์และมาเลเซีย เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศอยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับประเทศไทย มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยใกล้เคียงกัน โดยกำหนดให้การทดสอบร่วมกันระหว่างแบบ prescribed scenarios หรือการทดสอบที่สำนักงาน คปภ. เป็นผู้กำหนดสถานการณ์ให้บริษัท และแบบ self-select scenarios หรือการทดสอบที่บริษัทเป็นผู้กำหนดสถานการณ์เอง และให้ผู้บริหารของบริษัททำหน้าที่รับผิดชอบการทดสอบภาวะวิกฤต

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบัน บริษัทประกันชีวิตมีความมั่นคงแข็งแกร่งทางการเงิน สามารถสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยดูได้จากธุรกิจประกันชีวิตมีสินทรัพย์ลงทุน1,628,663 ล้านบาท ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีระบบการกำกับเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง RBC เป็นตัวผลักดันในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ โครงการทดสอบภาวะวิกฤตสำหรับธุรกิจประกันชีวิตถือเป็นเครื่องมือจัดการความเสี่ยงที่มีความจำเป็นทั้งต่อบริษัทประกันภัยและหน่วยงานกำกับดูแล เพราะช่วยให้ทราบได้ว่าบริษัทประกันชีวิตมีฐานะทางการเงินที่ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงเป็นการยกระดับและเสริมสร้างความเข้มแข็งของการกำกับความมั่นคงทางการเงินของธุรกิจประกันชีวิตไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลของการกำกับบริษัทประกันภัยให้มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี มีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่คล่องตัว สามารถบริหารสมดุลระหว่างผลตอบแทนที่คาดหวังและระดับความเสี่ยงที่บริษัทสามารถยอมรับได้อย่างเป็นระบบ

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ