คปภ. จัดบรรยายปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและธุรกิจประกันภัย ปี 56 รับมือวิกฤตเศรษฐกิจ

ข่าวทั่วไป Thursday April 25, 2013 11:43 —คปภ.

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ได้จัดบรรยายในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและธุรกิจประกันภัย ปี 2556” ให้กับผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ. และภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบายร่วมกันในการพัฒนาธุรกิจประกันภัย โดยได้รับเกียรติจาก ดร. บัณฑิต นิจถาวร ประธานคณะกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เป็นวิทยากร

ดร. บัณฑิต กล่าวว่า กรณีเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ถือเป็นบททดสอบถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมประกันภัย กับการรับมือกับเหตุการณ์ความเสี่ยงที่สำคัญ อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันภัยต้องนำบทเรียนต่างๆ มาทบทวนอย่างมากเกี่ยวกับความผันผวน หรือความปรวนแปรของภูมิอากาศ รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ จากโลกาภิวัตน์ ซึ่งการเชื่อมโยงกันทั้งหมดนี้สามารถนำไปสู่การหยุดชะงักของธุรกิจ และธุรกิจประกันภัยไทยจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และกำหนดราคาที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงในปี 2556 ที่สำคัญประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้

1. ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพในระยะสั้นบนความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อ ความไม่สมดุลของเงินบัญชีเดินสะพัด และความผันผวนของเงินทุนไหลเข้า

2. เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะที่อ่อนแอ จากผลกระทบอย่างรุนแรงของสหภาพยุโรป

3. ความเสี่ยงในความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคต่างๆ ทั้งในเอเชีย และตะวันออกกลาง

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของตัวเลขสถิติ การเกิดภัย ประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจและอัตราดอกเบี้ยในตลาด การที่ธุรกิจประกันภัยมีความรู้ ความเข้าใจในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจและธุรกิจประกันภัย ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ สร้างภูมิคุ้มกันด้วยการบริหารจัดการลงทุนด้วยความระมัดระวัง และดำเนินนโยบายการดำเนินงานอย่างรอบคอบ

ที่มา: http://www.oic.or.th


แท็ก ประกันภัย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ