โดยแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันชีวิต จำนวน 108,273 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐที่ได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ หลากหลายช่องทาง เพื่อให้ประชาชนวงกว้างมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการประกันชีวิตมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มอายุขัยของประชากรที่มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นจากวิทยาการทางการแพทย์ที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนหันมาสนใจการประกันชีวิตแบบบำนาญ และการประกันสุขภาพมากขึ้น โดยเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด คือ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 89,261 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.03 รองลงมาการประกันชีวิตประเภทกลุ่ม จำนวน 15,575 ล้านบาท ขยายตัวอย่างโดดเด่นถึงร้อยละ 37.05 และการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวน 1,391 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.22 และจากธุรกิจประกันวินาศภัย จำนวนรวมทั้งสิ้น 51,066 ล้านบาท ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 20.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการประกันภัยรถมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด จำนวน 30,160 ล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 23.70 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการขยายตัวของการขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รองลงมาการประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 16,635 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.02 และการประกันอัคคีภัย จำนวน 2,902 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.79
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 อุตสาหกรรมประกันภัยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีฐานการเปรียบเทียบที่ค่อนข้างสูงจากปี 2555 แต่ทั้งธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัยก็สามารถเติบโตได้ในอัตราที่ดี ส่งผลให้สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในช่วงไตรมาสแรกอยู่ที่ ร้อยละ 5.3 ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ ร้อยละ 4.7 ทั้งนี้ คาดว่าหากอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยยังคงสามารถรักษาระดับที่ดีนี้ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมฯ น่าจะถึงเป้าหมายร้อยละ 6 ก่อนกำหนดเดิมที่ตั้งเอาไว้ภายในในปี 2557
ที่มา: http://www.oic.or.th