ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าการศึกษา วิจัย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีผลบังคับใช้มากว่า 20 ปี ซึ่งในเบื้องต้นคณะนักวิจัยมีความเห็นว่า นโยบายบางส่วนควรปรับปรุง เช่น การควบคุมอัตราเบี้ยประกันภัยรถบางประเภท จนทำให้กลไกด้านราคามีการบิดเบือน โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูง มีเบี้ยประกันภัยต่ำเกินกว่าอัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทน (Claim ratio) ทำให้การกำหนดเบี้ยประกันภัยไม่สะท้อนความเสี่ยงภัยที่แท้จริง
นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจุบันสัดส่วนรถไม่ทำประกันภัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มรถจักยานยนต์ ซึ่งจากสถิติพบว่ามีค่าเฉลี่ยในการทำประกันภัยเพียง 3 ปีแรกของรถจดทะเบียนเท่านั้น จึงเตรียมเสนอภาครัฐหามาตรการให้รถเข้าสู่ระบบทั้งหมด โดยการเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้ไม่ทำประกันภัยจะเป็นข้อเสนอหนึ่งที่ควรต้องมีการทบทวน เพราะหากประชาชนหลีกเลี่ยงไม่ทำประกันภัย นอกจากเป็นการทำผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการสร้างปัญหาต่อสาธารณะและประชาชนที่ร่วมใช้รถใช้ถนน เพราะรถที่ไม่ทำประกันภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะทำให้ประชาชนได้รับเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเท่านั้น ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงเห็นว่าควรมีการเพิ่มผลประโยชน์ให้กับประชาชนโดยเฉพาะกรณีผู้ประสบภัย ที่ถูกชนแล้วหนี ซึ่งคนกลุ่มนี้ควรได้รับความคุ้มครองจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยให้มากขึ้นเสมือนกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในขณะเดียวกันผลการวิจัยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้
ความเข้าใจที่ครบถ้วนเกี่ยวกับการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัย เช่น ค่าชดเชยรายวันกรณีการรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน เป็นต้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้นด้วย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าขณะนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับทีดีอาร์ไอ จัดเดินสาย เปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.รถภาคบังคับ ได้แก่ บริษัทประกันภัย ตัวแทน/นายหน้า เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในต่างจังหวัดเพื่อหาข้อสรุปและแนวทางที่จะเป็นโยชน์ต่อผู้ประสบภัยจากรถต่อไป
ที่มา: http://www.oic.or.th