สำนักงาน คปภ. ได้ประสานสำนักงาน คปภ. จังหวัดสระบุรี เบื้องต้นทราบว่ารถบรรทุกพ่วงคันดังกล่าว ได้จัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กับ บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) รถตู้โดยสาร ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กับบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) และประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) รถกระบะหมายเลขทะเบียน กง 9472 สกลนคร ทำประกันรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และรถกระบะหมายเลขทะเบียน บย 4892 เพชรบูรณ์ ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กับบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย ดังนี้
1. ผู้ประสบภัยเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร ทายาทสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ดังนี้
1.1 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 200,000 บาทต่อคน และ
1.2 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กรณีไม่มีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคน หรือกรณีมีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300,000 บาทต่อคน
2. ผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ได้ดังนี้
2.1 ความคุ้มครองจากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน และค่าชดเชยรายวัน สำหรับผู้ประสบภัยที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล วันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน และ
2.2 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินความคุ้มครองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และในเบื้องต้นทราบว่าบริษัทประกันภัย ได้ประสานโรงพยาบาลที่รับรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยเพื่ออำนวยความสะดวกด้านค่ารักษาพยาบาล และติดต่อทายาทผู้เสียชีวิตเพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว ทั้งนี้ขอย้ำเตือนประชาชนท่านเจ้าของรถตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยรถภาคบังคับ และการประกันภัยภาคสมัครใจ ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนี้มีรถคู่กรณีถึง 4 คัน แต่ปรากฏว่าเป็นรถที่มีการทำประกันภัยรถภาคบังคับทุกคัน และทำประกันภัยรถภาคสมัครใจถึง 3 คัน แสดงว่าประชาชนในส่วนภูมิภาคเห็นประโยชน์และความสำคัญของการทำประกันภัยเพิ่มมากขึ้น เพราะระบบประกันภัยสามารถบรรเทาความเดือดร้อนและความเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186 และเว็ปไซต์ www.oic.or.th
ที่มา: http://www.oic.or.th