คปภ. เผยผลสรุปของ ทีดีอาร์ไอ ในการพัฒนา พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

ข่าวทั่วไป Friday January 31, 2014 16:16 —คปภ.

สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำทีมโดย ดร. อัมมาร สยามวาลา นำเสนอผลการวิจัยและรับฟังความคิดเห็นตาม “โครงการศึกษา วิจัยกรอบและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535” แนะสำนักงาน คปภ.ปรับนโยบายการกำกับเพื่อให้ธุรกิจประกันภัยแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยมีนายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. ผู้แทนจากภาคธุรกิจประกันภัย นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

โครงการศึกษา วิจัยกรอบและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นโครงการที่สำนักงาน คปภ. มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อเสนอกรอบแนวทางการพัฒนาระบบการประกันภัยรถภาคบังคับให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และบริบทการพัฒนาประเทศหลังประกาศใช้มากว่า 20 ปี โดยมีการเก็บข้อมูลจากผู้ประสบภัยจากรถ ผู้เอาประกันภัย สถานพยาบาล บริษัทประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศึกษาการประกันภัยรถภาคบังคับของต่างประเทศนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ โดยผลการศึกษา ทีดีอาร์ไอได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการประกันภัยรถภาคบังคับในหลายประเด็น เช่น

1. การส่งเสริมให้มีการปรับโครงสร้างทางการตลาด ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้ธุรกิจประกันภัยแสดงศักยภาพที่เป็นจุดแข็งให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการกำหนดเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในการใช้รถของผู้ขับขี่แต่ละคน รถคันใดเกิดเหตุบ่อยต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยสูงกว่ารถคันอื่น ควรปรับนโยบายให้เบี้ยประกันภัยขึ้นลงได้แทนอัตราคงที่ (Fixed Rate) ที่ใช้อยู่

2. ในด้านจำนวนเงินความคุ้มครองเห็นว่า ควรปรับปรุงให้ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ถูกกระทำละเมิดได้รับการดูแลโดยเท่าเทียมกัน เนื่องจากปัจจุบันผู้ประสบภัยที่ถูกชนแล้วหนี หรือเกิดจากรถที่ไม่ทำประกันภัยชน ได้รับค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่าผู้ประสบภัยที่ถูกรถที่มีประกันภัยชน นอกจากนั้นยังเห็นว่า จำนวนเงินความคุ้มครองควร มีการปรับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ประสบภัยจากรถ อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้สำนักงาน คปภ. ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการเข้มงวดให้รถทุกคันต้องทำประกันภัยโดยเฉพาะรถจักยานยนต์ซึ่งเป็นรถที่หลีกเลี่ยงการทำประกันภัยสูงมาก

3. ในส่วนการดำเนินงานของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยนั้น เห็นว่าควรมีการปรับเปลี่ยนการทำงานจากเดิมที่อิงกับระบบราชการ ออกไปเป็นหน่วยงานอิสระเพื่อให้เกิดความความคล่องตัวในการดำเนินงาน

นอกจากนั้น ยังสนับสนุนนโยบายที่สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ ระบบสินไหมอัตโนมัติ (E-Claim) ที่เป็นระบบการเรียกค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลโดยตรงกับบริษัทประกันภัยและกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย การกำหนดให้บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นศูนย์กลางการจ่ายค่าสินไหมทดแทน (Clearing House) ให้กับบริษัทประกันภัย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ดร. อัมมาร สยามวาลา ได้เน้นย้ำจุดยืนหน้าที่ของบริษัทประกันภัยว่าควรตระหนักถึงการเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงและการตั้งราคาเพื่อควบคุมความเสี่ยง และสำนักงาน คปภ.ควรต้องกำกับให้บริษัทประกันภัยสร้างคุณค่าให้กับสังคมผ่านระบบประกันภัยให้มากขึ้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่าข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการประกันภัยรถภาคบังคับเป็นอย่างมาก โดยสำนักงาน คปภ. จะนำผลการวิจัยดังกล่าวหารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางมาตรการดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะในระยะยาวที่ทีดีอาร์ไอเสนอให้ปรับบทบาทของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยออกเป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่แสวงหากำไร เนื่องจากปัจจุบันกองทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงาน คปภ.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186 หรือเว็บไซต์

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ