มาตรการผ่อนผันที่ได้รับความเห็นชอบ มีดังนี้
1.ยกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยและยกเว้นการนำค่า PAD มารวมในการคำนวณสำรองประกันภัยสำหรับค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วม
2.อนุญาตให้นับเงินกู้ยืมที่มีลักษณะตามที่ คปภ. เคยให้ความเห็นชอบเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 และให้นับเป็นเงินกองทุนเกินกว่าจำนวนเงินกองทุนชั้นที่ 1 โดยมีลักษณะของเงินกู้ยืมดังนี้
- มีระยะเวลาชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 10 ปี และห้ามชำระหนี้ก่อนครบกำหนด เว้นแต่บริษัทได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนแล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนด
- เจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมสามารถใช้สิทธิรับชำระหนี้ได้เป็นลำดับสุดท้าย หากบริษัทเลิกกิจการ
- เงื่อนไขและข้อตกลงตามสัญญากู้ยืมต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน
โดยบริษัทฯ ที่จะขอขยายเวลามาตรการผ่อนผันจะต้องยื่นเรื่องภายในวันที่ 15 มีนาคม 2557 และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
1.ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมากกว่า 10,000.- ล้านบาท
2.มีอัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว
- ไม่น้อยกว่า 75% กรณีการรับประกันภัยตรง
- ไม่น้อยกว่า 50% กรณีการรับประกันภัยต่อ
3.มีแผนดำเนินการแก้ไขฐานะการเงินและการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างชัดเจน สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้ 31 มีนาคม 2558 และบริษัทต้องส่งรายงานความคืบหน้าทุก 3 เดือน
ทั้งนี้เบื้องต้น บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นเรื่องขอขยายเวลามาตรการผ่อนผัน ซึ่งบอร์ด คปภ. ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) สามารถใช้มาตรการผ่อนผันได้ โดยให้สำนักงาน คปภ กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมที่เห็นสมควรภายในกรอบการดำเนินการให้บริษัทเร่งรัดการชำระค่าสินไหมทดแทนให้ครบถ้วนและเสร็จสิ้น 100% เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผัน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้บอร์ด คปภ. ได้เห็นชอบหลักการการขยายระยะเวลาการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทได้มาจากการชำระหนี้ หรือเป็นที่ทำการที่บริษัทเลิกใช้แล้ว จากที่ต้องจำหน่ายออกภายในระยะเวลา 5 ปี ให้ขยายระยะเวลาการจำหน่ายไปได้อีกไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ บริษัทต้องยื่นคำขอขยายระยะเวลาต่อนายทะเบียนก่อนครบกำหนดอย่างน้อย 1 เดือน โดยบริษัทต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 140 และมีอัตราส่วนสินทรัพย์ลงทุนต่อเงินสำรองประกันภัย (กรณีบริษัทประกันชีวิต) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100และอัตราส่วนสภาพคล่อง (บริษัทประกันวินาศภัย) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100
2.มีอัตราการถือครองอสังหาริมทรัพย์ไม่เกินร้อยละ 10 ของสินทรัพย์รวมของบริษัท ณ สิ้นปีครั้งสุดท้าย
3.บริษัทมีแผนการจำหน่ายและเอกสารหลักฐานอย่างชัดเจนว่า ได้เร่งรัดการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อย่างที่สุดแล้ว
ที่มา: http://www.oic.or.th