นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มอบแนวทางการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิต แก่สมาคมประกันชีวิตไทย และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันชีวิต ดังนี้
1. การเพิ่มระดับเงินกองทุนขั้นต่ำของบริษัทประกันชีวิต อย่างเป็นขั้นตอนดังนี้
เดือนที่ ระดับเงินกองทุน 12 เดือน นับจากที่วันประกาศมีผลบังคับใช้ 300 ล้านบาท 24 เดือน 400 ล้านบาท 36 เดือน 500 ล้านบาท 60 เดือน 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบเพื่อผลักดันให้บริษัทสามารถเพิ่มเงินกองทุนขั้นต่ำเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น การให้สามารถนับรวมตราสารทางการเงินที่มีคุณสมบัติเข้าข่าย เช่น หุ้นกู้ด้อยสิทธิให้เป็นเงินกองทุน การสนับสนุนการควบรวมกิจการ การเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติและการนำเสนอแผนการเพิ่มเงินกองทุน ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถเพิ่มเงินกองทุนได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด
2. ธุรกิจประกันชีวิตให้ความสำคัญกับการเสนอขาย และการเปิดเผยข้อมูล เช่น เงื่อนไขความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย ค่าบำเหน็จ และอัตราเบี้ยประกันภัย โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน
3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลายตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเพื่อรองรับการเกษียณอายุ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประชากร ในขณะเดียวกันต้องเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจและให้กับประชาชนเห็นความสำคัญของการประกันภัย
4. ธุรกิจประกันชีวิตต้องเตรียมวางแผนกลยุทธ์ แผนการดำเนินงานเพื่อบริหารการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยศึกษาจากประสบการณ์ แนวทางพัฒนาการจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารค่าใช้จ่าย และการใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า การกำกับดูแลธุรกิจประกันชีวิตจะเป็นแบบ Principle Based เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยสำนักงาน คปภ. จะกำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดความคล่องตัวและลดค่าใช้จ่ายของบริษัท รวมถึงส่งเสริมให้ธุรกิจประกันชีวิตมี Self Discipline และ Market Discipline เพิ่มมากขึ้นเพื่อลดการออกกฎระเบียบในการกำกับต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th
ที่มา: http://www.oic.or.th