เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ความคุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้น เป็นการชดเชยเยียวยาและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกายและอนามัยของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ซึ่งรวมไปถึงกรณีถูกชนแล้วหนี หรือประสบภัยจากรถที่ไม่ได้ทำประกันภัย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดให้เจ้าของรถทุกคันต้องทำประกันภัยเพื่อมุ่งคุ้มครองชีวิต ร่างกายของผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถซึ่งเป็นการประกันภัยขั้นพื้นฐานเพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและเป็นการสร้างหลักประกัน สวัสดิภาพขั้นต่ำให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองกรณีบาดเจ็บสูงสุด 50,000 บาท ต่อคน กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ 200,000 บาท ต่อคน
ปัจจุบันระบบการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. เป็นแบบ Online เชื่อมต่อระบบจากจุดจำหน่ายไปยังบริษัทประกันภัย เพื่อให้ความคุ้มครองทันที การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นแบบ E-Claim เชื่อมต่อจากระบบโรงพยาบาลไปยังบริษัทประกันภัย ขณะนี้มีโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน มากกว่า 1,917 แห่งทั่วประเทศ และบริษัทประกันวินาศภัยรวม 45 บริษัท รวมถึงกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ทุกจังหวัด ได้ร่วมใช้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผ่านระบบE-Claim ทั้งนี้ การเพิ่มความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2557 นั้นสำนักงาน คปภ.ในฐานะผู้ดูแลกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย รวมถึงบริษัทประกันภัยเองได้เตรียมความพร้อมรองรับไว้แล้ว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่าปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนรถที่เข้าสู่ระบบประกันภัยภาคบังคับ จำนวน 26 ล้านคันจึงฝากเตือนให้เจ้าของรถที่ไม่จัดทำประกันภัยได้ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมาย และขอเชิญชวนให้มีการตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ และจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ต่อไปด้วย สำหรับการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องในเทศกาลปีใหม่ สำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยได้ร่วมกันจัดจุดให้บริการตลอดบนเส้นทางการเดินทางที่คับคั่ง และการให้บริการสายด่วนประกันภัย 1186 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา: http://www.oic.or.th